ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

เมื่อโซเดียมกำลังวิ่งไล่คุณ

 วันนี้ไปเดินที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง

เห็นว่ามีมันฝรั่งนำเข้าจากอเมริกา
ด้วยความสงสัย
มันฝรั่งเหมือนกัน ทำไมไม่เหมือนกัน
คือ ทำไมถึงต้องนำเข้ามา
ทั้งที่ประเทศของเราก็มีมันฝรั่งยี่ห้อนี้ที่ผลิตในประเทศตัวเองอยู่แล้ว
เลยซื้อมาทดลองบริโภคดู
ข้อมูลเบื้องต้น
มันฝรั่งนำเข้านี้นำเข้ามาจากอเมริกา
โดยบริษัทแห่งหนึ่ง นำเข้ามาหลายรสทีเดียว
สนนราคาอยู่ที่ 115 บาท 184.2 g
ส่วนของไทยนั้น ผลิตโดยบริษัทแห่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับบริษัทที่นำเข้า
สนนราคาอยู่ที่ 50 บาท 158 g
แม้ว่าจะราคาและปริมาณต่างกัน แต่ขนาดของซองนั้นใกล้เคียงกัน
นั่นหมายความว่าปริมาณอากาศในซองก็ย่อมแตกต่างเช่นเดียวกัน 555
อะไรอีกที่ต่างกัน
ของอเมริกา
หนึ่งหน่วยบริโภค คือ 1/7 ซอง (28 g)
คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 150 กิโลแคลอรี
ไขมันทั้งหมด 9 กรัม
โปรตีน 2 กรัม
คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 15 กรัม
โซเดียม 200 มิลลิกรัม
ของไทย
หนึ่งหน่วยบริโภค คือ 1/5 ซอง (30 g)
คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 160 กิโลแคลอรี
ไขมันทั้งหมด 10 กรัม
โปรตีน 2 กรัม
คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 16 กรัม
โซเดียม 75 มิลลิกรัม
หลังจากแกะซองลองชิมดูแล้วพบว่า
ของอเมริกานั้น แผ่นบางกว่า กรอบกว่า เคี้ยวง่ายกว่า (คือพอมันบางกว่าก็กรอบกว่า และเคี้ยวง่ายกว่านั่นเอง)
หอมกว่า (ความรู้สึกส่วนตัว) และที่สำคัญก็คือ เค็มกว่า
ของไทยไม่น่าจะต้องบรรยายเพราะคิดว่าเราก็เคยลิ้มรสกันมาอยู่แล้วนะครับ
คำถาม
ปริมาณโซเดียมที่เยอะกว่า และเค็มกว่า ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนอย่างไร
มีผลสำรวจเมื่อปี 2551-2552 ว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเกินความจำเป็นของร่างกาย
คือ ประมาณ 3,000-3,400 มิลลิกรัม
ในขณะที่ร่างกายของมนุษย์เราต้องการโซเดียมอย่างมากก็ 2,000 มิลลิกรัม ไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม
หรือประมาณหนึ่งช้อนชา
ในวันหนึ่ง ๆ เราได้โซเดียมจากอาหารแทบทุกชนิด
ข้อมูลล่าสุดที่หาได้จากเพจของ
สสส.
(23 เมษายน 2019) บอกว่า คนไทยกินโซเดียมเฉลี่ยถึง 4,352 มิลลิกรัม/วัน
แม่เจ้า!
กินมากกว่าที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า
ประเทศอื่นกินโซเดียมมากเหมือนเราหรือเปล่า
อเมริกา ประเทศซึ่งเราไปนำเข้ามันฝรั่งมา
พบว่า เด็กมากกว่า 90% บริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน
ซึ่งก็น่าจะแน่นอนอยู่แล้ว เพราะแค่มันฝรั่งนิดเดียว มีโซเดียมอยู่ถึง 200 กรัม
(และถ้าเข้าใจไม่ผิด โซเดียมที่อยู่ในตารางคิดจากหนึ่งหน่วยบริโภค
ซึ่งหนึ่งหน่วยบริโภคของมันฝรั่งอเมริกา คือ 1/7 ซอง
แปลว่ามันฝรั่งหนึ่งถุงมีหน่วยบริโภค 7 หน่วย
ดังนั้น ถ้ากินมันฝรั่งหมดถุง จะได้โซเดียมทั้งหมดถึง 1,400 มิลลิกรัม
และสำหรับเทียบข้อมูล: ขนมปัง 1 แผ่น มีโซเดียม 120-150 กรัม
ไข่ไก่หนึ่งฟอง มีโซเดียม 110-120 กรัม นะครับ)
การกินโซเดียมมากเกินไปส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของเรา
โรคที่จะตามมาหาเราถ้าเรากินโซเดียมมาก ๆ
หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ
ถ้าเรากินเค็มมาก ๆ เราจะเป็นโรคต่อไปนี้ได้ เช่น
โรคไต ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
ซึ่งโรคเหล่านี้ไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วตายทันที และไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วรักษาหายขาด
ต้องกินยา ต้องรักษากันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตายจากกันไหม
นอกจากเสียเวลาแล้ว ยังเปลืองทรัพยากรอย่างมากอีกด้วย
ทั้งในแง่ของทรัพยากรส่วนบุคคลและทรัพยากรของชาติ
นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราควรต้องซีเรียสกับเรื่องของอาหารการกิน
และควรมีการควบคุมปริมาณของสารต่าง ๆ ในอาหารให้เหมาะสม
เพราะหากเราปล่อยให้ใครก็ได้ผลิตอะไรก็ได้ออกมา
เราก็จะได้กินอะไรก็ตามที่ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า
อาหารที่เรากินในชีวิตประจำวันนั้น
หากมีรสชาติอย่างไร นานวันเข้าเราจะชินกับรสแบบนั้น
แล้วเราจะมีความต้องการรสนั้นมากขึ้นไปอีก
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าเราเคยกินมันฝรั่งที่ผลิตในประเทศ แรก ๆ มันก็อาจจะเค็ม
ต่อมากินไปจนชิน มันก็ไม่เค็มแล้ว เพราะชิน
เราก็จะรู้สึกไม่อร่อย (รสเค็มทำให้รู้สึกอร่อย)
พอเราได้กินของนำเข้า ซึ่งมีปริมาณโซเดียมมากกว่า (แพงกว่าเกินสองเท่าด้วย)
เราก็จะรู้สึกว่ามันอร่อยขึ้นได้
เพราะมันเค็มกว่าเดิม
ซึ่งแน่นอนแหละว่า
เรายังอยากบริโภคสิ่งเหล่านี้อยู่
และอยากมีสุขภาพที่ดีด้วย
เราต้องทำอย่างไร
สิ่งที่เราควรปฏิบัติ
ก็คือโปรดทำตามคำแนะนำด้านหลังซองอย่างเคร่งครัด
“บริโภคแต่น้อย และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”
นะครับ
Aditya K
07.02.2021

หนังสือเล่มแรกที่ทำและส่งประกวดซีไรต์


เรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่เคยเล่าไว้ที่ไหนมาก่อน
เพราะกระดากและอับอายเป็นที่ยิ่ง
วันนี้ถือว่าเป็น  #การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง  ของข้าพเจ้า  เกี่ยวแก่การทำหนังสือให้ฟังก็แล้วกัน


ปี 2550 หรือเมื่อประมาณสิบสามปีล่วงมาแล้ว
ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งพิมพ์ในระบบออฟเซ็ตเป็นเล่มแรก
ด้วยความหวังว่า  จะส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์และเข้ารอบกับเขาบ้างอะไรบ้าง
การทำหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบาก
เพราะตอนนั้นข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ปีคณะทันตแพทย์  จุฬาฯ 
และแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือเลย
โชคดีหน่อยที่เทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้าไปพอสมควรแล้ว
จึงสามารถทำหนังสือเป็นเล่มได้ด้วยตัวคนเดียว

แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้สอนอะไรข้าพเจ้าหลายอย่างมาก
จากความผิดพลาดมากมายที่เกิดขึ้น
เช่น  การออกแบบ  การจัดหน้า  การทำปกทำเนื้อใน  การทำงานส่งโรงพิมพ์ (สมัยนั้นยังต้องใส่แผ่นซีดีส่งให้กันอยู่)
และที่สำคัญที่อยากขยายความก็คือ  คำผิด
เพราะสำหรับข้าพเจ้าการทำหนังสือแล้วมีคำผิดอยู่ในหนังสือนี่มันเหมือนเป็นตราบาปชั่วชีวิตของคนทำหนังสือเลยทีเดียว
ทั้งที่ตรวจแล้วตรวจอีก  แม้กระทั่งให้น้องอ่านให้ฟังเพื่อที่จะได้ไม่หลงหูหลงตากับตัวอักษร
(โชคดีที่มันเป็นหนังสือกวีนิพนธ์  มันจึงไม่ต้องใช้เวลาในการอ่านมากนัก)
แต่กระนั้นเมื่อหนังสือพิมพ์เสร็จออกมาเป็นเล่ม
ก็ยังพบ  คำผิดบ้าง  วรรคผิดบ้าง  อยู่ถึง 5 จุด
ซึ่งแน่นอนว่าข้าพเจ้าทนไม่ได้ที่จะเห็นคำผิดในเล่ม
คิดว่าจะทำอย่างไรดี  ปล่อยให้มันไปไว้อย่างนี้ เพราะมันก็เป็นธรรมดา  หนังสือมันก็มีผิดมีพลาดบ้าง(ข้าพเจ้าเคยเห็นหนังสือกวีนิพนธ์  โดยเฉพาะจำพวกโคลง  ก็มีเว้นวรรคผิดอยู่ให้เห็นหรือจะแก้ไข
คิด แล้วก็  แก้ไขเสียดีกว่า  ไม่อย่างนั้นเราก็จะมานั่งเสียใจภายหลัง
จึงแก้ปัญหาด้วยการแปะสติกเกอร์ทับ
ซึ่งจากการสอบถามโรงพิมพ์  เขาบอกว่าสามารถทำให้ได้  แต่คนแปะก็คือ  แม่บ้าน
ซึ่งข้าพเจ้าชั่งใจแล้ว  มันต้องแปะบรรทัดให้ตรง  ตัดสติกเกอร์ให้สวยงาม 
ซึ่งข้าพเจ้าเคยเห็นที่เขาแปะ กัน งานประเภทนี้ถ้าให้แม่บ้านทำ
ก็คงได้ร้องไห้กันอีกรอบ  และถ้าแก้อีกก็คงไม่ทันกาล  เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะหมดเขตส่งประกวดแล้ว
ข้าพเจ้าแก้ปัญหาด้วยการปริ๊นท์สติกเกอร์เอง  ซึ่งก็ต้องตามหาพอสมควรเพราะกระดาษเป็นกระดาษถนอมสายตา
การหาสติกเกอร์สีเหลืองนวล ให้เข้ากับกระดาษนั้นนับว่ายากยิ่ง
ต้องปริ๊นท์ให้ตัวอักษรเท่ากัน  ต้องตัดกระดาษให้ได้บรรทัดที่พอดี
และที่สำคัญ  หนังสือมีทั้งหมด 1,000 เล่ม
แปลว่า  ต้องติดทั้งหมด  5,000 ครั้ง  ตัดกระดาษอีกกี่ครั้งนับไม่ถ้วน
ส่วนสถานที่ทำงาน  ไม่ใช่ที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยที่เหมาะแก่การทำงานแต่อย่างใด  
เพราะข้าพเจ้าอาศัยอยู่หอพักนิสิต  หรือที่เรียกกันว่าหอใน  หนังสือทั้งหมดก็ให้เขาเอามาส่งที่ใต้หอจำปา  หรือหอเฟื่องฟ้า ในสมัยนั้น
(หอนี้ชื่อจะเปลี่ยนไปตามเพศของนิสิตที่เข้าไปอยู่  สมัยใดเป็นหอหญิงจะเรียกหอเฟื่องฟ้า  สมัยใดเป็นหอชายจะเรียกหอจำปา  และที่สมัยนั้นมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็เพราะว่าเขากำลังมีการสร้างหอใหม่กัน  นิสิตจึงต้องอพยพย้ายถิ่นกันบ่อย แม้แต่หอจำปี  ซึ่งเป็นหอชายล้วนมาตลอดก็เคยกั้นพื้นที่บางชั้นเพื่อทำเป็นหอหญิงด้วยเหมือนกัน)
หนังสือทั้งหลายนั้น  เขาห่อมาอย่างเรียบร้อยตึงเป๊ะ  ข้าพเจ้าต้องค่อย บรรจงแกะห่อ  เพราะต้องห่อคืน  เพื่อนำไปส่งสายส่งเอง
(ตามปกติโรงพิมพ์เมื่อพิมพ์งานเสร็จเขาจะส่งไปที่สายส่งให้เราโดยอัตโนมัติ  ซึ่งข้าพเจ้าก็คิดเอาสะดวกว่า  อย่างนี้เราก็ทำได้สบายโดยไม่ต้องมีพื้นที่เก็บสินค้าเป็นของตัวเอง
เพราะงานเสร็จเขาก็เอาไปเลย  ไม่ต้องมีโกดังให้ยุ่งยาก  อีกทั้งเป็นเล่มแรกกว่าเขาจะตีหนังสือคืนมาก็คงอีกนาน  จากนั้นค่อยว่ากัน  คิดง่าย แบบนี้)

การแปะสติกเกอร์หนังสือแต่ละเล่มนั้นไม่ง่ายนัก  
ประการแรก  ข้าพเจ้าไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง
การทำหนังสือของข้าพเจ้านั้น  ต้องยืมคอมพ์เพื่อนบ้าง  ใช้ห้องคอมพ์หอพักบ้าง  แม้กระทั่งอาศัยร้านปริ๊นท์เอกสารบ้าง  
พอได้มาแล้วก็ต้องตัดก่อน  ด้วยคัตเตอร์  ไม้บรรทัด  และด้วยมือนี่เอง  แล้วก็ทยอยแปะเป็นหน้า ไป  ต้องวางแผนให้ดี  จะแปะอะไรก่อนหลัง
อันไหนไม่แปะอันไหนไปแล้ว  
มีน้องมาช่วยบ้าง  มีชาวหอบางคนเห็นเขาสนใจก็มาชะโงกดูบ้าง  บางคนก็มาเปิดอ่านในใจบ้าง  อ่านออกเสียงเป็นทำนองเสนาะบ้าง (เล่มนี้เป็นงานฉันทลักษณ์ทั้งหมด)
มีวิพากษ์วิจารณ์ติชมบ้าง
ข้าพเจ้านั่งทำอยู่สามวันสามคืนติดต่อกัน  ไม่ได้หลับได้นอน  มีแอบงีบเล็ก น้อย เท่านั้น
เวลาขึ้นไปอาบน้ำก็ฝากยามช่วยดูแล (ซึ่งคิดว่าก็คงไม่มีใครอยากมาขโมยหรอก  แค่กลัวหมาจะมากัดกันใส่แล้วมันเละเทะ 555)
ฝากคนซื้อข้าวมาให้กินบ้าง  เดินไปซื้อเองบ้าง  นั่งทำอยู่อย่างนั้น  จนกระทั่งเสร็จ

เสร็จแล้วสิ่งที่ต้องทำเบื้องต้นก็คือ  เอาหนังสือไปส่งที่โรงแรมโอเรียนเต็ล  
มันเป็นวันสุดท้ายที่เขาให้ส่งประกวดได้
พี่ธรรม ทัพบูรพา  ซึ่งเป็นพี่ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือ  และให้ข้าพเจ้ายืมชื่อสำนักพิมพ์  
ก็แนะนำว่า  เอาไปส่งเองเลย  เพราะส่งไปรษณีย์ไม่รู้จะถึงหรือเปล่า  เผื่อสูญหายรายทาง  อะไรก็เกิดขึ้นได้
ข้าพเจ้าก็เชื่อฟัง เพราะพี่เขาส่งงานเข้าประกวดปีนั้นด้วย  ซึ่งก็ว่า  พี่ก็เอาไปส่งเอง  
นับหนังสือตามจำนวนที่เขาต้องการ  เผื่อเหลือเผื่อขาดนิดหน่อย  หอบขึ้นแท็กซี่ไปที่โรงแรม  ซึ่งก็เป็นเวลาบ่ายมากแล้ว
นับเป็นครั้งแรกที่เอาหนังสือไปส่งประกวดรางวัลซีไรต์  ซึ่งมันก็ยิ่งใหญ่เหลือเกินในสายตาของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
ไปถึงก็งก เงิ่น บอกเขาว่า  เอาหนังสือมาส่งประกวดรางวัล  เขาก็พาไปสถานที่ลึกลับแห่งหนึ่ง  เป็นชั้นใต้ดิน  
ที่นั้นเป็นสถานที่เก็บหนังสือที่ส่งเข้ามาประกวดในปีนั้น
เขาก็ให้เขียนใบสมัคร  แล้วก็นั่งรอ
ข้าพเจ้าก็สอดส่ายสายตาดูว่า  มีเล่มไหนบ้างส่งเข้ามาประกวด  หนังสือที่ส่งเข้าประกวดมีเยอะมาก  หลายเล่มก็คุ้นชื่อคุ้นตา  หลายเล่มไม่เคยรู้จักเลย
ก็คงเป็นจำพวกพิมพ์เองเหมือนข้าพเจ้านี่แหละ  บางเล่มเราแค่ดูหน้าปกก็รู้ว่าพิมพ์เฉพาะกิจ  และเป็นการพิมพ์แบบออนดีมานด์
สมัยก่อนระบบพิมพ์ดิจิทัล  เป็นอะไรที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมาก  แทบไม่ต่างจากซีรอกซ์  หน้าปกก็กระเดิดเถิดเทิงออกมา  ไม่สวยงามเลย (สมัยนี้ก็ยังเป็นอยู่บ้าง  แต่ดีขึ้นกว่าเดิมหน่อยซึ่งอันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากพิมพ์แบบนั้น  เพราะมันดูไม่เป็นหนังสือจริง   ไม่ดูเป็นมืออาชีพ  ไม่เหมือนหนังสือที่ขายกันตามร้านหนังสือ (ซึ่งเอาเข้าจริงหนังสือพิมพ์ออฟเซ็ตและแปะสติกเกอร์คำผิดของข้าพเจ้านี่แหละที่สุดแล้วกลายเป็นว่าดูกระจอกงอกง่อยอย่างที่สุด)
ส่งใบสมัครเสร็จอะไรเสร็จ  ก็หมดธุระเกี่ยวกับการประกวด
แต่ยังมีธุระสำคัญยิ่งรออยู่นั่นก็คือ  การเอาหนังสือไปส่งที่สายส่ง

ข้าพเจ้าก็คิดว่าจะเอาไปอย่างไรดี  หนังสือตั้งพันเล่ม  ลองคำนวณคร่าว แล้วคิดว่า
เอาวะ  ใส่แท็กซี่ไปก็น่าจะหมด
ก็เรียกแท็กซี่มา
เพื่อขนไปสายส่ง  แทกซี่ก็ใจดีเหมือนกัน  เพราะของตั้งเยอะขนาดนั้น  ยังยอมให้เราเอาใส่รถเขาได้  ไม่กลัวยางระเบิด 555
ขน อยู่หลายเที่ยว  เพราะมันต้องเดินไกล  จากใต้หอขนไปแท็กซี่  หนักก็หนัก
พอดีมีน้องรหัสเดินมาเห็นถามว่า  พี่ทำอะไร  บอกว่า  ขนหนังสือไปสายส่ง
น้องก็ใจดีมาก  ช่วยขน  ขนขึ้นรถแล้วก็ยังนั่งรถเป็นเพื่อนไปด้วยที่สายส่ง
ที่สำนักพิมพ์แม่โพสพ
อาจารย์ทองแถม  ซึ่งทำบริษัทกระจายหนังสือด้วยในขณะนั้น  ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเห็นตัวจริง  ไม่เคยรู้จักมักคุ้น
แต่พี่ธรรมได้ฝากฝังเอาไว้ให้  ก็ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดีเหมือนคนเคยเห็นกันมาแต่ชาติก่อนหนหลัง
ก็รับหนังสือไว้และกระจายไปตามร้านหนังสือต่าง ในที่สุด

เรื่องก็ดูเหมือนจะจบลงแค่นี้อย่างสงบงดงาม
แต่...
มันไม่จบเท่านี้  เพราะ...
ข้าพเจ้าสมัยนั้นยังเป็นนิสิตจน ไร้เงินไร้ทอง
งานการที่ทำก็ไม่มี  มีเพียงแต่เขียนหนังสือขายบ้าง  เขียนประกวดบ้าง
ได้เงินมานิด หน่อย ก็ไม่มีเก็บมีกันอะไรเอาไว้
คิดเอาตามที่เขาว่า  โรงพิมพ์จะให้เครดิตเราเท่านั้นเดือนเท่านี้เดือน  ขายหนังสือได้ก็คงมีเงินส่งเขาบ้าง
แต่เอาเข้าจริงก็คือ  โรงพิมพ์เขาไม่ได้ให้เครดิตอะไรเราหรอก
เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจ  เป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้  แค่พิมพ์หนังสือเฉพาะกิจกระจอก เล่มเดียวคนหนึ่ง  
หนังสือเสร็จเขาก็มาเก็บเงินถึงที่
โรงพิมพ์นี้จริง เขาพิมพ์ไม่แพง  พี่นิคมซึ่งเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์นกฮูกในสมัยนั้น  เป็นคนแนะนำให้
ข้าพเจ้าไปสืบดูก็รู้ว่า  หนังสือดัง สำนักพิมพ์ดี หลายแห่งก็ใช้ที่นี่กัน
ราคาไม่แพง  แถมยังใจดีไว้ใจพิมพ์ให้เราก่อนโดยไม่เรียกเงินมัดจำอะไรเลย
แม้กระนั้นก็ดี  เมื่อถึงตอนจะจ่ายเงิน  พอไม่มีเงิน  ที่ว่าไม่แพง   มันก็แพงขึ้นมาอย่างมากหลายเหลือขนาด
เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร  อับจนเงินทอง  อับจนหนทาง  ข้าพเจ้าก็ใช้หนทางสุดท้าย
โทรหาที่บ้าน
ครอบครัวของข้าพเจ้านั้นก็ยากจนข้นแค้นหนักหนา  ลำพังจะหาเงินมาซื้ออาหารการกินก็ลำบากเหลือแสน
แต่ก็เป็นความหวังสุดท้ายของชีวิต  
คุยครั้งแรกไม่ได้เงิน
เพราะไม่มีใครเห็นด้วยที่ข้าพเจ้าลงทุนทำหนังสือ
ตระกูลของเราก็ทำไร่ไถนาค้าผักขายปลาเล็ก น้อย เรื่องหนังสือหนังหาไม่มีอยู่ในสายเลือด
แต่ที่สุดของที่สุด
เมื่อเข้าตาจน  ยายของข้าพเจ้าก็บอกว่า  เอาเถอะ  ไหน ก็ทำมาแล้ว  เขาก็มาไล่เอาเงินแล้ว
ไม่มีให้เขาก็ไม่ได้  จึงถอดแหวนทองคำวงเก่า ที่สวมนิ้วอยู่  ต่างหูเล็ก ที่มีอยู่  เอาไปขายร้านทอง
บวกกับเงินอีกนิดหน่อยที่เก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
รวบรวมทั้งหมดส่งมาให้ข้าพเจ้า
น้ำตามันไม่มีจะไหลแล้วตอนนั้น  เพราะมันไหลมามากมายตั้งแต่พบว่า  หนังสือมันมีคำผิดห้าแห่งตอนที่หนังสือพิมพ์เสร็จแล้ว
จริง ถ้าเทียบแล้วมันก็คงไม่มากมายนักหรอกเงินที่ว่า  ประมาณสามหมื่นบาท (อันนี้รวมแก้เพลทด้วย  เพราะอย่างที่เล่า
ก่อนคำผิดห้าแห่งนั้น  ก็แก้คำผิดกันมามากมาย  แก้แล้วแก้อีก  นึกว่าไม่มีผิดแล้วก็สั่งทำเพลท
ทีนี้พอต้องแก้เพลทมันต้องเสียเงินเพลทละ 600 บาท  ไม่แก้ก็ไม่ได้  แก้ช้าก็ไม่ได้เพราะไฟลนแล้ว  จะส่งหนังสือประกวดไม่ทัน
มันจะหมดเขตส่ง)  
ซึ่งแม้เงินจำนวนสามหมื่นบาทในทางกายภาพก็จริง  หากในความรู้สึกของข้าพเจ้าคนที่ไม่มีเงินมันก็ราวกับเงินแสนเงินล้านเลยทีเดียว ตอนนั้น

ผลสุดท้ายเป็นอย่างไร
หนังสือก็ไม่ได้เข้ารอบอะไรกับเขาเลย 5555 (ตอนนั้นมีแค่ประกาศรอบสุดท้ายแล้วก็ประกาศผลเลย  ไม่มีรอบ Longlist)
นอกจากนั้นหนังสือก็ขายไม่ได้  (หนังสือกวีนิพนธ์มันก็ขายไม่ได้อยู่แล้ว  ซึ่งข้าพเจ้า ขณะนั้นนอกจากรู้ว่าต้องพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม  
เอาไปให้สายส่งส่งเพื่อวางขายตามร้านหนังสือแล้ว
ก็ไม่รู้กลไก  ไม่รู้อะไรใด เกี่ยวกับการตลาด  หรือเกี่ยวกับอะไรอื่นอีกเลย  หนังสือธุรกิจหนังสืออะไรเทือกนี้ไม่เคยอ่านเลย  อ่านแต่วรรณกรรมกับหนังสือเรียน  
เรียกง่าย ว่า  มืดแปดด้าน)
กว่าข้าพเจ้าจะหาเงินหาทองไปคืนยายได้ก็ปาไปตอนเข้ารับราชการทำงานแล้วโน่น
ส่วนหนังสือที่เหลือจากการขายมายาวนานหลายปีดีดักข้าพเจ้าเพิ่งไปรับคืนมาเมื่อปีก่อน ซึ่งก็เอามาขายบ้าง  แจกบ้าง  ตอนนี้เหลืออยู่ไม่ถึงสิบเล่ม
ส่วนเรื่องเงินจากหนังสือเล่มนี้นั้นไม่ต้องพูด  555

นึกถึงเรื่องนี้ทีไรก็ให้คิดคำนึงว่า  เออ  เรานี่ก็บ้าเหลือเกิน  ทำอะไรลงไปก็ไม่ทราบ  
ถ้าจะให้ทำแบบนั้นอีกก็คงไม่ทำแล้ว  ใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยงและไร้ประสิทธิภาพเหลือเกิน
แต่นั่นแหละ  มันก็ไม่ได้สูญเปล่า
หากมันคือประสบการณ์และรากฐานอันใหญ่หลวงที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เดินทางมาจนถึงวันนี้
หยิบหนังสือขึ้นมาสูดดมกลิ่นทีไร  ภาพตัวเองนั่งหน้าเมือกแปะสติกเกอร์ที่ใต้หอ  ก็ลอยมาทุกที
ภาพกระบวนการต่าง ที่ได้ทำ  ผู้คน  บรรยากาศ  ก็ฉายชัดขึ้นมาเป็นภาพ   เหมือนว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

จริง รายละเอียดเรื่องนี้และการทำหนังสือมีเยอะกว่านี้มาก  อันนี้เป็นแต่ย่อ  
จะรออ่านเมื่อเขียนเป็นเล่มอีกทีก็ได้ครับ

สำหรับคืนนี้  ราตรีสวัสดิ์

ธัชชัย  ธัญญาวัลย
พฤษภาคม 2563

อุเบกขาธรรม


ความจริงเรื่องอุเบกขาธรรมนี้เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนและมีหลายชั้นอยู่มากพอสมควร

แต่ในโลกปัจจุบันนี้เรากล่าวกันแต่พอประมาณเพื่อดับทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็คงไม่เป็นการผิดพลาดอะไรนัก

อุเบกขาธรรมนี้สำคัญมาก

ใน  พรหมวิหาร ๔  พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา

ข้อสุดท้ายของธรรมบทต่าง ๆ มักจะเป็นข้อที่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญให้ดี

เพราะเป็นข้อที่เหมือนคอยดึงทุกอย่างไว้ให้อยู่ในสมดุล

หากเรามีเมตตาก็ดี  มีกรุณาก็ดี  มีมุทิตาก็ดี

เราต้องอย่าลืมอุเบกขา

กล่าวคือ  เราอย่ามุทะลุจนเกินไป  ทำอะไรอย่าให้มันเกินไป

เมตตาจนเกินไป  กรุณาจนเกินไป  มุทิตาจนเกินไป

มันเดือดร้อนได้ในภายหลัง

ต้องมีอุเบกขาธรรม  คือมีความปล่อยวางลงในกาลอันควร

ทำสิ่งใดเมื่อถึงที่สุดแล้ว  ปล่อยวางลงเสีย

สิ่งใดเกินความสามารถก็ปล่อยวางเสีย

เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุ  ก็ย่อมจบลงด้วยเหตุ

สัตว์ทั้งหลายเป็นไปตามกรรม  มีกรรมเป็นของของตน

มีกรรมเป็นผู้ให้ผล  มีกรรมเป็นแดนเกิด  มีกรรมเป็นผู้ติดตาม

มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย


เมื่อเราช่วยสุดความสามารถแล้วก็ดี  เราทำสุดความสามารถแล้วก็ดี

ได้ไม่ได้  ดีไม่ดี  ก็ต้องปล่อยวาง

และที่สำคัญที่สุดคือ  ปล่อยวางความทุกข์ในใจ

ไม่ต้องเอาใจไปทุกข์ท้อกังวลในผลของการกระทำ

จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

ไม่ต้องเอาใจไปพะวักพะวงว่า  ทำไมเราช่วยเขาไม่ได้  ทำไมเราทำอะไรไม่ได้เลย

ถ้ามันทำไม่ได้  สุดความสามารถแล้ว

ก็ต้องปล่อยวาง

เป็นอุเบกขาธรรมไป

ไม่ใช่นั้น

ความทุกข์ย่อมจะตกเป็นสมบัติของเรา

ความหม่นหมองจากการทำคุณงามความดีย่อมเป็นสิ่งตอบแทนเรา

ทำให้เราเสียหาย

ทั้งที่เราควรจะได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นแท้ ๆ

เราควรมีความสุขจากการทำความดีนั้นแท้ ๆ

จะกลับเป็นโทษไป

ก็เป็นสิ่งไม่สมควร

เอวัง


ธัชชัย  ธัญญาวัลย
12.05.63




ตู้ปันสุข คุณต้องการสิ่งใด?



ช่วงนี้ข้าพเจ้าได้ยินถึงเรื่อง  #ตู้ปันสุข  ที่มีการเอาของไปไว้ในตู้แล้วให้ผู้คนหยิบจับข้าวของในนั้นไปกินไปใช้ได้
และถ้ามีใครอยากร่วมแบ่งปัน  ก็นำของมาไว้ในตู้ได้เช่นกัน  เรียกง่าย ว่าแบ่งปันกันไป

แต่เหตุการณ์ที่(ไม่)คาดหวังก็เกิดขึ้น  ซึ่งได้เกิดอย่างหนักและหนักขึ้นเรื่อย  
เมื่อมีการพบว่า  บางตู้บางแห่งนั้น  ผู้คนไม่ได้มาหยิบของไปชิ้นสองชิ้นแต่พอเพียง  แล้วก็ทิ้งโน้ตขอบคุณไว้
เหมือนดังที่ผู้เอาของไปใส่ตู้ปรารถนาจะให้เป็นเช่นที่คิด  หรือเช่นที่เห็นในบางประเทศ, บางแห่ง
การณ์กลับเป็นว่า  ผู้คนแห่ไปเอาของในตู้อย่างชนิดที่ว่า  หมดภายในชั่วพริบตา  บางคนก็เอารถมาขนเอาบ้าง
บางคนตั้งตู้ไว้หน้าบ้าน  พอของหมดจะเอาไปเติม  เห็นคนแห่มารอเยอะแยะ  ก็เลยไม่เติมของ
ผู้คนที่มารอก็เลยด่าทอสาดเสียเทเสียบ้าง  ว่าขึ้นป้ายจะแจกทำไมไม่เอามาแจก  กดออดด่าเข้าไปในรั้วบ้าน
จนก่อให้เกิดความคำถามและความเสียอกเสียใจอย่างใหญ่หลวงต่อเพื่อนมนุษย์
อย่างนี้ก็ได้ยินได้ฟังมา

ข้าพเจ้าขอแบ่งปันเล็กน้อยในฐานะที่เคยทำลักษณาการคล้ายตู้ปันสุขนี้มาบ้าง  ก็คือ  ทำโรงทาน
โรงทาน  ก็คือ  สถานที่สำหรับแจกของนั่นแหละ  เราก็เอาของมาแล้วก็แจกให้แก่ผู้คน
อาจจะเป็นเทศกาลงานบุญบ้าง  หรือเทศกาลงานอื่นบ้าง  ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับวัดวาศาสนา
หรือไม่ก็งานพิธีสำคัญต่าง ที่มีคนมามากหน้าหลายตา  นัยว่าเพื่อให้คนที่มางานนั้นได้มีของกิน
ของที่แจกก็มีทั้งของกินสำเร็จรูป  น้ำท่า  หรือแม้กระทั่งอาหาร

หะแรกข้าพเจ้าเคยไปแจกน้ำผลไม้  ซื้อไปเป็นลัง พร้อมด้วยขนมขบเคี้ยว  ขนไปประมาณ 2 รถบรรทุก
แจกอยู่ 2 วัน  ตอนแรกคนก็แห่มาเอาเยอะมาก  บางคนก็เอาถุงพลาสติกมาขนใส่ บางคนเอาแล้วมาเอาอีก
เอาแล้วมาเอาอีก  สามรอบสี่รอบก็มี
บางคนก็ขอไปทั้งลังก็มี  ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ว่าอะไร  เพราะเราเอามาแจกอยู่แล้ว
แต่แจกเท่าไหร่ก็ไม่หมด  เพราะของมันเยอะ  คือแจกจนของเหลือเพราะไม่มีผู้ปรารถนาเสียแล้ว  เพราะได้กันไปหมดทุกคนแล้ว
ที่เล่านี้ไม่ได้ต้องการจะอวดอ้างว่า  ตัวเองร่ำรวยแจกได้ไม่จำกัด  ไม่ใช่อย่างนั้น
แต่สิ่งที่ต้องการจะบอกกล่าวก็คือ  เราแจกของเพื่อสิ่งใด

ในทางศาสนานั้น  การแจกของ  หรือการให้ทาน  มีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง
คือเพื่อเป็นทานบารมีอย่างหนึ่ง  แล้วก็เพื่ออานิสงส์ผลบุญอีกอย่างหนึ่ง
ข้าพเจ้าจะบอกว่า  การแจกของแบบโรงทาน  หรือตู้ปันสุขนั้น  ส่วนมาก  เราทำเพื่อเป็นทานบารมี
กล่าวคือ  ทำเพื่อสละละวาง  ทำเพื่อฝึกหัดขัดเกลาจิตใจตัวเอง  ให้ปล่อยวาง  ให้รู้จักเสียสละ
ให้ละซึ่งความเป็นตัวกู  ของกู
ดังนั้น  แม้เขาจะมาเอาแล้วมาเอาอีก  เขาจะเอาไปแล้วเอาไปสะสมก็ดี  กินอึกหนึ่ง  กัดคำหนึ่งแล้วทิ้งขว้างต่อหน้าเราก็ดี
หรือแม้กระทั่งเอาไปขายก็ดี
เราก็ควรทำใจให้ได้ว่า  เราให้ไปแล้ว  ไม่ใช่ของเราแล้ว  เรามาเพื่อเสียสละ  เพื่อฝึกการปล่อยวางว่านั่นไม่ใช่ของกู  ตัวกูแล้วนะ
อันนี้เป็นการบำเพ็ญบารมี
ส่วนถ้าต้องการให้ทานเพื่ออานิสงส์ผลบุญนั้น  ข้าพเจ้าแนะนำ  ให้ทานแก่ผู้ทรงศีล  ให้ทานพระอริยเจ้า  พระอรหันต์
ให้ทานแก่พ่อแม่ (ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านเทียบไว้ว่าเท่ากับอรหันต์ของลูกอันนั้นจะได้อานิสงส์ผลบุญเต็มที่  หวังได้เต็มที่ว่าจะได้รับผลบุญอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ส่วนการให้ทานแบบโรงทานนั้น  จะหวังเอากุศลผลบุญมาก ได้ยาก  แต่สิ่งที่จะได้มากคือบารมี  ที่เรียกว่า  ทานบารมี  อย่างที่กล่าว
(บารมี มี 10 อย่าง  ท่านผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมเองได้)  

ดังนั้น  ถ้าเราจะให้ทานใน  ตู้ปันสุข  แล้วเราจะหวังว่า  เพราะเราต้องการให้คนได้รับมีความสุข
ให้เขาได้กินได้ใช้แล้วมีความสุข  จึงเป็นการคาดหวัง”  ที่เกินผล”  ที่ควรจะเป็นของมันหรือไม่
เพราะเราลองนึกดู  ถ้าสิ่งที่เขาได้ไป  ไม่อร่อย  เขากัดเข้าไปคำเดียว  คายทิ้ง  เขามีความสุขไหม
หรือถ้าเขาเอามันไปขาย  แล้วเอาเงินไปซื้อยาเสพติดมาเสพ  เพราะนั่นคือความสุขของเขา  เราจะไปทำอะไรเขาได้ไหม
มันก็ทำอะไรไม่ได้  เพราะนั่นคือสิทธิ์ของเขา  เราให้ไปแล้ว  เขาก็มีสิทธิ์เอาไปทำอะไรก็ได้
ดังนั้น  สิ่งสำคัญของการให้แบบนี้  จึงอยู่ที่ผู้ให้  ว่าผู้ให้มีจิตใจที่พร้อมเสียสละแค่ไหน  ปล่อยวางได้มากแค่ไหน
ต้องให้มันจบที่ตรงนี้
ถ้าให้ไปแล้วยังห่วงหาอาวรณ์  ยังจะตามไปดูไปสืบ  อันนั้นรู้สึกจะเกินหน้าที่  เกินวัตถุประสงค์ไปหรือไม่
เพราะถ้าต้องการขนาดนั้นก็ควรไปทำอะไรสักอย่างที่มันจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้  เช่น  ไปทำงานการเมือง  ไปตั้งมูลนิธิ
ให้มันจริงจัง  เป็นกิจจะลักษณะไป  แต่ถ้าแค่เอาของไปให้แล้วจะหวังผลใหญ่หลวงขนาดนั้น
สำหรับโลกใบนี้ก็ย่อมเป็นไปได้ยาก
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า  มนุษย์มีหลากหลาย  แตกต่างความคิด  แตกต่างชาติชั้นวรรณะ  การศึกษา  คุณธรรม ฯลฯ
แตกต่างทุกอย่าง
การต้องการปันสุข”  โดยที่ตัวเองต้องประสบทุกข์ในภายหลัง  จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาว่า  จะทำหรือไม่ทำ
เพราะถ้าทำ  ก็ต้องคล้อยตามหลักของธรรมชาติ  คือ  เราแบ่งปันด้วยสาเหตุอะไร  
เราคาดหวังในการแบ่งปันของเรานั้นเกินไปกว่าผลที่ควรจะเป็นโดยธรรมชาติของมันหรือไม่ 
ซึ่งตรงนี้ผู้ที่หวังจะให้ต้องตอบคำถามของตัวเองให้ได้
เพื่อจะได้ไม่ก่อดราม่าด่าทอกัน
แล้วก็เป็นเหตุให้เสียศรัทธาในการทำความดี  เสียศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองในที่สุด


ธัชชัย ธัญญาวัลย
12.05.2563

.. ภาพประกอบคือ  เราเอาหนังสือ #นิทานจัญไร ไปแจกเด็ก   ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง  เมื่อสามปีที่แล้ว  นัยว่าเพื่อส่งเสริมการอ่าน  
เราไม่ได้ต้องการรูปภาพ  แต่คุณครูเขาก็อุตส่าห์ถ่ายภาพมาให้ดู