วันนี้มาเร็วกว่าเมื่อวาน ( มาก ๆ 5555 )
ต้องออกตัวอีกตามเคยว่าที่จะเล่าต่อไปนี้สปอร์ตนะครัช ( สปอยล์!!! T_T เลิกเล่นเหอะมุกนี้ )
ขี่ม้าเลียบค่ายมาหลายวัน
วันนี้น่าจะเข้าประเด็นได้แล้ว
สาเหตุที่ต้องพูดถึงบุคลิกของ ทสึคุรุ หรือแม้กระทั่งบุคลิกของตัวละครต่าง ๆ
ในวรรณกรรมญี่ปุ่น ก็เพื่อจะโม้ เอ้ย! ปูพื้นฐานว่า
ทำไมการเป็น "ชายไร้สี" มันจึงสลักสำคัญนัก
หรือทำไมมันถึงได้เป็นประเด็นขนาดต้องเอามาเขียนนิยายได้เป็นเล่ม ๆ
คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า "การมีสี" นั้น มันไม่ได้หมายถึงแค่ "การมีสี"
แต่มันหมายถึงการมีอัตลักษณ์ หรือ มีตัวตน หรือ มีที่เหยียบยืน ในสังคม
แม้ในสังคมเล็ก ๆ หรือ สังคมใหญ่ ๆ ก็ตาม
มันเหมือนกับเด็ก ๆ ที่เวลาดูการ์ตูน แล้วก็จะแทนตัวเองเป็นตัวนั้นตัวนี้
สมมติเราดูขบวนการห้าสีเนี่ย เราต้องนึกแล้วว่า เราอยากเป็นสีไหน
และเพื่อนของเราอยากเป็นสีไหน
สีไหนมีอัตลักษณ์หรือมีเอกลักษณ์อย่างไร
ในทำนองเดียวกัน
ทสึคุรุ ทะซากิ ซึ่งเป็นบุคคลไร้สี คือไม่มีสีจริง ๆ ( ในความคิดของเขา )
เพราะเพื่อนอีกสี่คนนั้น มีสีกันหมด
คำว่า มีสี หมายถึง นามสกุล ของเพื่อนทั้งสี่นั้น จะปรากฏชื่อสีอยู่
แล้วสีเหล่านั้นก็เข้ากับบุคลิกของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
"ผู้ชายสองคนนามสกุล อะกามัตสึ กับโอะอุมิ
นามสกุลของผู้หญิงสองคนคือ ชิราเนะ และ คุโรโนะ"
อะกา = แดง
โอะอุ = น้ำเงิน
ชิรา (ชิโระ) = ขาว
คุโร = ดำ
เวลาอยู่ด้วยกันพวกเขาก็จะเรียกชื่อกันด้วยสี คือ เรียกกัน แดง น้ำเงิน ขาว ดำ
มีเพียง ทสึคุรุ เท่านั้น ที่ถูกเรียกว่า ทสึคุรุ
"ทสึคุรุเฝ้าคิดอยู่เรื่อยว่า หากนามสกุลของตนมีสีอยู่ด้วยจะดีสักเพียงใด
ถ้าเป็นอย่างนั้นละก็ ทุกอย่างคงสมบูรณ์แบบ" - - หน้า 11
การรวมกลุ่มกันนี้ เป็นกลุ่มเพื่อนมัธยม คือ มัธยมปลาย ทั้งหมดเป็นลูกชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง
ที่เมืืองนาโงยะ
กลุ่มของพวกเขาจะไปทำกิจกรรมอาสาสมัคร และได้ลงข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบ้างตามสมควร
นอกจากกิจกรรมอาสาสมัครแล้ว พวกเขาก็ไปเที่ยวด้วยกัน ไปว่ายน้ำ ไปรวมตัวที่บ้านของใครสักคน
พูดคุยกันอย่างเปิดอก แชร์ความรู้สึกต่าง ๆ ร่วมกัน
เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นกลุ่มที่สนิทสนมกันมาก
ทุกคนมีบุคลิกเป็นของตัวเองชัดเจน
เหตุการณ์ผิดปกติเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ ทสึคุรุ เลือกที่จะไปเรียนโตเกียว
แทนที่จะเรียนที่นาโงยะ เหมือนเพื่อน ๆ ทั้ง 4
เพราะเขาเป็นคนชอบ "สถานีรถไฟ" คือ ชอบมอง ชอบดู และอยากสร้างสถานีรถไฟ
อีกนัยหนึ่ง เขาก็คิดว่า เขาควรต้องสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งด้วย เพราะ ชื่อของเขา
ทสึคุรุ แปลว่า การสร้าง หรือ ประดิษฐ์
ความจริง นอกจากเพื่อน ๆ แล้ว คนอื่นที่เข้ามาในชีวิตของเขา ก็ล้วนแล้วแต่มีสีทั้งสิ้น
เช่น ไฮดะ ฟุมิอากิ ( ไฮอิโระ = เทา ) หรือ มิโดริคาวะ ( มิโดริ = เขียว )
นอกจากกลุ่มเพื่อนห้าคนแล้ว ทสึคุรุ ก็ไม่ได้มีเพื่อนที่ไหนอีก เรียกง่าย ๆ ว่า
คนทั้งห้านี้ มีโลกส่วนตัวของพวกเขา ทำอะไรด้วยกันเฉพาะพวกเขา ไม่ยุ่งเกี่ยวสุงสิงกับชาวบ้านอื่น
กลุ่มมีข้อกำหนดที่ทุกคนรู้กันในกลุ่มโดยที่ไม่ได้ตั้งอย่างเป็นทางการหลายอย่าง
เช่น ทำอะไรต้องทำด้วยกันทั้งห้าคน หรือความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเพื่อนในกลุ่มเป็นสิ่งต้องห้าม
เป็นต้น
เมื่อทสึคุรุไปเรียนโตเกียว เขาก็ยังคงกลับบ้านเพื่อสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เหมือนเดิม
เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อน ๆ ( แทนที่จะใช้อีเมลเพราะขาวใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยเป็น )
เพื่อน ๆ ก็จะเวียนกันอ่าน แล้ว ทุกคนก็เขียนจดหมายหาเขา
คือเขียนร่วมกัน 4 คน เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างตอนที่เขาไม่อยู่
หรืออะไรทำนองนี้ เรียกง่าย ๆ ว่า แม้จะห่างไกลกัน แต่ความสัมพันธ์ยังเหมือนเดิม
เมื่อ ทสึคุรุ กลับบ้าน ทุกคนก็ให้การต้อนรับประหนึ่งว่า เขาไม่เคยจากไปไหนเลย
แล้วก็ไปไหนต่อไหนด้วยกันเหมือนเดิมที่เคยทำ
เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและอบอุ่นอย่างยิ่ง
กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ตอนที่เขาอยู่มหาวิทยาลัยปีสอง ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน
เขาก็เก็บของกลับบ้านตามปกติ
และเมื่อไปถึงบ้าน เขาก็โทรศัพท์หาเพื่อน แต่ไม่มีใครรับสายเลย
หรือไม่ก็มีญาติ ๆ ของเพื่อนรับสาย เขาก็ฝากข้อความให้โทรกลับ
แต่ก็ไม่มีใครโทรกลับ เขารอโทรศัพท์ไปเรื่อย ๆ แต่ไม่มีใครโทรกลับ
ในที่สุดเขาก็ทนไม่ไหว โทรไปใหม่อีกหลายรอบ แต่คนในครอบครัวเพื่อน ๆ
ก็บอกด้วยน้ำเสียงเฉยชาว่า พวกเขาไม่อยู่บ้าน แค่นั้น
จนในที่สุดน้ำเงิน ก็โทรมาบอกว่า ไม่ต้องโทรหาทุกคนอีกแล้ว
เมื่อทสึคุรุถามหาเหตุผล ก็ได้รับคำตอบเพียงว่า "ถามตัวเองดูสิ"
อะไรทำนองนี้
และ ทสึคุรุ ก็ไม่ได้สืบสาวต่อ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกคนจึงพร้อมใจกัน
อัปเปหิ เขาออกจากกลุ่ม
จนกระทั่งเวลาผ่านไปนานถึง สิบหกปี เมื่อเขาเจอสาละ
เขาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้สาละฟัง ( เขาไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย )
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทสึคุรุ ใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บปวด
อยู่กับปากปล่องของความตาย ที่เขาบอกว่า ถ้าขยับตัวเมื่อไหร่
ก็พร้อมจะตกลงไปในหุบเหวอันมืดดำนั้นได้ทุกเมื่อ
เขาไม่มีเพื่อนสนิทในโตเกียว มีแฟนชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แล้วก็เลิกกันไป
เพื่อนที่เขามีเพียงคนเดียวก็ออกจะประหลาด คือ ไฮดะ
เป็นคนที่เข้ามาแบบผ่าน ๆ เพื่อเล่าเรื่องประหลาดให้เขาฟังเท่านั้น
และเมื่อทสึคุรุเริ่มรู้สึกผูกพันกับไฮดะ ก็มีอันว่า ไฮดะ ตีตัวออกจากเขาไป
จุดนี้เองที่น่าจะทำให้เขากลายเป็นคน "ไม่เชื่อใจในความสัมพันธ์"
( ความจริงก็คงเป็นมาตั้งแต่โดนเพื่อนทิ้ง และถูกตรงนี้ตอกย้ำอีกที )
เก็บตัวเงียบในโลกส่วนตัว ไม่คบหาใคร
จมจ่อมอยู่กับความความตาย ความว่างเปล่า และเงาของอดีตที่กรีดเชือดอยู่เสมอ
ใช้ชีวิตผ่านไปวัน ๆ อย่างไม่อินังขังขอบ ไร้จุดหมายปลายทาง
สาละเป็นคนที่เข้ามาเติมเต็มชีวิต อายุมากกว่าทสึคุรุประมาณ 2 ปี
คือ ถ้า ทสึคุรุ อายุ 36 สาละ ก็น่าจะอายุประมาณ 38
โดยนิสัยแล้ว ทสึคุรุ ชอบสาละ มาก เพราะเขาชอบผู้หญิงที่อายุมากกว่า
เขามีพี่สาว จึงมีปมเรื่องชอบคนอายุมากกว่า
และเมื่อเกิดเหตุการณ์ "อ่อน" จนไม่สามารถทำอะไรร่วมกับ สาละได้
เขาจึงกระวนกระวายอย่างที่สุด
จนเป็นเหตุให้ต้อง ออกตามล่าหาเพื่อนทั้ง 4 โดยความช่วยเหลือของสาละ
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า ทสึคุรุ คงถึงจุดอับจนที่สุดแล้ว
อ้างว้างที่สุดแล้ว และหากต้องเสียใครสักคนที่เขาไว้ใจ
หรือพร้อมจะเข้าใจเขาไป
เขาคงต้องตายเป็นแน่
ซึ่งจุดนี้ก็น่าแปลกใจเหมือนกันว่า
ที่ผ่านมา เขามีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ท่ามกลางความโดดเดี่ยวและเจ็บปวด
จากอดีตที่กรีดเชือดเขาอยู่เสมอทุกเชื่อวัน
อดีตที่เป็นปัจจุบันของเขาเสมอ เขาไม่เคยลบมันออกไปจากใจได้เลย
ภาวะที่ถูกเพื่อนทิ้งโดยไม่รู้สาเหตุ ทำร้ายทสึคุรุทุกลมหายใจเข้าออก
มันเลวร้ายถึงขนาดนั้น
ความจริง ข้าพเจ้าอาจจะอินกับ ทสึคุรุ มากไปหน่อย คงเป็นเพราะว่า
ข้าพเจ้ามีบุคลิกบางอย่างคล้ายทสึคุรุก็ได้
คือเป็นคนไม่ค่อยอินังขังขอบ ไม่ชอบแก้ตัว ไม่สืบค้น
หากมีอะไรเกิดขึ้นก็ปล่อยให้มันผ่านไปเรื่อย ๆ
หากใครจะนินทาว่าร้ายหรือไม่พอใจที่จะคบหา
ก็ปล่อยไปเรื่อย ๆ
ใครอยากว่าอะไรก็ว่า อยากด่าอะไรก็ปล่อยให้เขาด่า
ไม่ได้ใส่ใจในคำด่า
ไม่ใส่ใจในความเข้าใจผิดของผู้อื่น
ปล่อยให้คนอื่นเข้าใจผิด หรือ เข้าใจตามที่เขาอยากเข้าใจ
ชอบอยู่คนเดียว ครุ่นคิดเกี่ยวกับความตายและเรื่องประหลาด ๆ
มีเพื่อนสนิทน้อยแต่เข้าใจกันลึกซึ้ง ไม่สุงสิงกับชาวบ้าน
ดูเหมือนไม่แคร์ในความสัมพันธ์ หรือใส่ใจในปฏิกิริยาของสังคม
ทั้งที่ความเป็นจริง ก็ใส่ใจอยู่บ้าง และหลาย ๆ ครั้งก็เจ็บปวด
แต่เก็บความเจ็บปวดนั้นเอาไว้เพียงลำพัง
ไม่บอกเล่า หรือเอื้อนเอ่ย เพราะไม่ไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่น
จนกระทั่งวันหนึ่ง นึกอยากจะรู้ความจริงขึ้นมา
หรืออยากเปิดเผยอะไรขึ้นมา
ก็ค่อย ๆ เลาะเลียบไปตามริมแม่น้ำของอดีต ซึ่งต่างจากทสึคุรุ คือ
เขาจู่โจมเข้าไปหามัน ทั้งที่รู้ว่าเต็มอกจะต้องเจ็บปวดกับความจริงขนาดไหน
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องมีใครให้ทำเพื่อ
จึงไม่ต้องโจนทะยานถึงขนาดนั้น
หรือบางที เรื่องราวในอดีตอาจจะถูกกำจัดออกไปเรื่อย ๆ ไม่ได้เก็บเอาไว้อย่างเต็มที่
เหมือนอย่างทสึคุรุ
หรืออีกประการหนึ่ง คือ ข้าพเจ้าอาจมีสิ่งยึดเหนี่ยวที่สามารถช่วยขจัดอดีตอันเลวร้ายออกไปได้
ตลอดระยะเวลา หรือตลอดระยะทางของเวลาที่ผ่านมา ก็เป็นได้
ทุกคนต่างมีอดีตที่เจ็บปวด
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า
จะสามารถขจัดมันไปออกไปได้หรือไม่
หรือด้วยวิธีใด
วิธีการของทสึคุรุ คือ กระโจนเข้าไปหามัน เพื่อค้นหา "ความจริง"
ซึ่งเมื่อค้นพบแล้ว หรือทำความเข้าใจกับมันได้แล้ว
สิ่งที่ค้างคา หรือความเจ็บปวดที่มีอยู่ ก็ย่อมมลายหายไปโดยธรรมชาติ
มีฉากโรแมนติกมาก ๆ ของเรื่องนี้ ที่ข้าพเจ้าอยากบอกเล่า
รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับ "ปีแสวงบุญ"
แต่ก็อย่างว่า
วันนี้ข้าพเจ้าก็... ขี้เกียจเสียแล้ว
และข้าพเจ้า ก็คงไม่สัญญา ( เหมือนดังคราวก่อน ๆ --ที่มักจะสัญญา ) ว่า
เราจะได้พบกันอีก
Arty K
22 12 2014