อันนี้วิเคราะห์กันเล่น ๆ
(และไม่ใช้ราชาศัพท์ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดฯ)
ไม่ได้อ้างอิงกฎมณเฑียรบาลใด ๆ ทั้งสิ้น
ความจริงพวกกฎต่าง ๆ ในรั้วในวัง
ก็เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์นั่นเอง
คือ พอมันมีเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น
ก็จะตรากฎขึ้นไว้
อย่างเช่น ในเขตพระราชฐานชั้นใน
ที่ห้ามผู้ชายเข้าไป ยกเว้นเจ้านายองค์เล็ก ๆ
ที่ยังไม่ได้โกนจุก
อย่างนี้มันก็มีเหตุของมัน
หรือเรื่องอาการการกิน
ความจริงอาหารการกินของกษัตริย์นี่
เป็นเรื่องน่าพูดถึงเหมือนกัน
เพราะมีกฎต่าง ๆ เยอะมาก
เช่น อาหารต้องไม่มีกระดูก
อะไรอย่างนี้เป็นต้น
มันมีที่มาที่ไป
แต่ข้อนี้ยกไว้ก่อน
วันนี้จะพูดถึงเรื่อง
ทำไมกษัตริย์ต้องแต่งงานกันเองในหมู่ญาติ
ยิ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดเท่าไหร่ย่ิงดี
ก่อนที่จะตราเป็นกฎที่ยึดถือกันยาวนาน
เหตุที่ต้องแต่งกันเองในหมู่ญาติ
ก็อาจมีสาเหตุหลายประการ
ลองนึกเล่น ๆ
ตามธรรมชาติ
ก็น่าจะเป็นว่า
ข้อ ๑
มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงดู
สามัญชน กับ เจ้า นั้น มีการเลี้ยงดูแตกต่างกัน
กิริยามารยาท
ความละเอียดอ่อน ขนบธรรมเนียมอะไรต่าง ๆ
ถ้ากษัตริย์ไปคว้าเอาหญิงสามัญชนมาเป็นเมีย
ตั้งเป็นมเหสี ก็เห็นจะวิบัติ
เพราะธรรมดาหญิงสามัญชนย่อมมีกิริยามารยาทไม่เรียบร้อย
เพียงพอต่อการเป็นเมียกษัตริย์ อย่างหนึ่งหละ
ลองนึกดูเล่น ๆ ก็ได้ว่า
ถ้าเป็นคนธรรมดาอย่างเรา ๆ
หน้าที่การงานต่างกัน ฐานะต่างกัน
ได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดูต่างกัน
ให้มาอยู่ด้วยกันมันก็ไม่ได้
ถึงอยู่ได้ก็ไม่เข้าใจ
ดีหน่อยที่สมัยนี้มีระบบการเรียนหนังสือ
ถ้าเรียนคณะเดียวกัน หรือมหาวิยาลัยเดียวกัน
หรือประกอบอาชีพคล้ายคลึงกัน
ก็อาจเข้าใจกันได้ดีกว่า
คุยกันรู้เรื่องกว่า เพราะมีประสบการณ์ร่วมกัน
หรือมีรากเหง้า หรือเคยรับรู้ขนบธรรมเนียมอันเดียวกัน
ทำให้พูดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้กันได้
หรือเคยอ่านหนังสือเรื่องเดียวกัน อะไรอย่างนี้เป็นต้น
มันก็คุยกันได้บ้าง
ดังนั้นอีกประการหนึ่ง นอกจากเรื่องกิริยามารยาท
ก็เป็นเรื่องของการพูดคุยกันรู้เรื่อง
แล้วสมัยก่อนมันไม่มีหนังสือหนังหาอย่างสมัยนี้
เรื่องทั้งหลายมันต้องถ่ายทอดกันปากต่อปาก
จากรุ่นสู่รุ่น
พูดถึงญาติคนนั้นคนนี้ในรั้วในวังก็รู้เรื่อง
อีกอย่าง ถ้าเป็นลูกเจ้า ก็ต้องสอนกันในเรื่องของเจ้า
มีจริตจิตใจแบบเจ้า มีความคิดแบบเจ้า
เราต้องไม่ลืมว่า สมัยโบราณนั้น วัง ก็คือ วิทยาลัย ดี ๆ นี่เอง
ลูกกษัตริย์ ก็สอนก็เลี้ยงกันแบบหนึ่ง
หลานกษัตริย์ ก็สอนก็เลี้ยงกันอีกแบบหนึ่ง
เชื้อพระวงศ์ปลายแถวก็เป็นไปอีกแบบ
มีสำนักต่าง ๆ ตามแต่ความถนัดของเจ้าสำนัก
เช่น สำนักพระวิมาดาเธอฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ก็เชี่ยวชาญเรื่องอาหารการกิน เป็นต้น
ความจริงเรื่องการเลี้ยงดูนี้สำคัญมาก
เพราะมันเป็นเรื่องของจิตวิทยาด้วย
การได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น
ก็ย่อมทำให้เติบโตมามีอุปนิสัยที่ดี
มันดีกว่ามาก ๆ ที่จะเอาคนที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี
ในรั้วในวังเช่นเดียวกัน
มาเป็นเมีย มากกว่าเอาใครที่ไหนไม่รู้ที่ไม่รู้ว่า
เขาถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร
อีกอย่าง คนในวังด้วยกัน ก็รู้กันอยู่เองว่า
ใครมีนิสัยเป็นอย่างไร
ลูกใครควรเอามาเป็นเมีย ลูกใครไม่ควรเอา
มันตรวจสอบกันได้
ต่างกับหญิงสามัญชนคนนอก ซึ่งไม่รู้หัวนอนปลายตีน
ถึงรู้หัวนอนปลายตีนก็เถอะ ใครจะรู้ว่า
ที่รู้ ๆ มานั้นเป็นจริงหรือเปล่า
เผลอ ๆ ใส่ตะกร้าล้างน้ำเหมือนในเรื่อง จัน ดารา
ก็จบเห่
ข้อ ๒ นอกจากความเข้าใจกันแล้ว หรือพูดคุยกันรู้เรื่องแล้ว
ก็เป็นการรักษาความลับของแผ่นดินด้วยอีกส่วนหนึ่ง
สมมติว่า ถ้าเอาหญิงที่ไหนไม่รู้มาตั้งเป็นมเหสี
หรือลูกข้าราชบริพาร ถ้าให้ความใกล้ชิด
ก็จะกระอักกระอ่วน บริหารราชการแผ่นดินลำบาก
และมิหนำ อาจจะเอาความลับไปบอกพ่อตัวเอง
ก่อให้เกิดการกบฏได้ง่าย
ดังนั้นปลอดภัยที่สุด ก็ต้องเอาลูกพ่อเดียวกันแต่ต่างแม่เป็นเมีย
เพราะถึงยังไงก็เป็นโคตรเหง้าเดียวกัน คงไม่คิดล้างกันเป็นแน่
เว้นแต่มันกาลกิณีจริง ๆ
สองข้อเป็นเหตุผลคร่าว ๆ ที่ว่า ทำไมกษัตริย์ต้องเอาญาติเป็นเมีย
ยิ่งใกล้ชิดเท่าไหร่ยิ่งดี
เป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณกาล
ตั้งแต่ยุคพุทธกาลก็ทำแบบนี้
อย่างเจ้าชายสิทธัตถะนั้น เป็นสายเลือดกษัตริย์บริสุทธิ์
คือเกิดจากแม่ที่เป็นเจ้า และพ่อที่เป็นเจ้า
ซึ่งทั้งพ่อและแม่ก็เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นเจ้าอีก
และความจริง พระนางพิมพา
ก็เป็นญาติกันกับเจ้าชายสิทธัตถะนั่นแหละ
ไม่ใช่ใครอื่น หรือเป็นเจ้าต่างเหล่าที่ไหน
แตกออกมาจากกอเดียวกัน
และเป็นเจ้าที่เป็นเจ้ามาแต่ต้นด้วย
ถ้าเจ้าเกิดใหม่ หรือที่เรียกกันเป็นภาษาร่วมสมัยว่า
พวก start up หรือ self-made นั้น หมดสิทธิ์
อย่างพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นตัวอย่าง
แม้จะยิ่งใหญ่ แต่เนื่องจากเป็นพวก start up เป็น self-made king
คือไม่ใช่เจ้าบริสุทธิ์แต่เดิม มีอำนาจราชศักดิ์ขึ้นมาเพราะรบเก่ง
อันนี้พวกเจ้าจริง ๆ เขาก็รังเกียจ
ถึงขนาดมาสู่ขอลูกสาวจากพวกศากยะ ( เพราะอยากเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า)
เขาก็เอาลูกสาวที่เกิดจากนางทาสให้
จนเป็นเหตุแห่งการทำสงครามล้างโคตรกันในที่สุด
ตามกฎแต่เดิมนั้น เมียกษัตริย์ที่จะยกให้เป็นมเหสีเทวี
ต้องเป็นเจ้าชั้น ลูกหลวง เท่านั้น
คือเป็นลูกของกษัตริย์องค์ก่อน
ถ้าเป็นชั้น หลานหลวง อย่างนี้ก็จะยกเป็นมเหสีเทวีไม่ได้
(คือตั้งเป็น พระราชินี ไม่ได้)
อย่างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีอยู่ ๕ พระองค์ด้วยกันที่สามารถยกขึ้นมาได้
นอกนั้นแม้จะเป็นคนโปรดแค่ไหน ก็เป็นไม่ได้
แต่มีอนุโลมลูกของเจ้าต่างเมือง อย่างเจ้าดารารัศมี อันนี้ทรงตั้งตำแหน่งพิเศษให้
(แต่ก็ไม่ได้เท่าเทียมกับมเหสีเทวี)
ซึ่งถือว่าให้เกียรติและเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง
ท่ามกลางภาวะการเมืองในช่วงนั้น
เพราะปกติ ถ้าลูกเจ้าต่างเมืองอย่างดีก็เป็นแค่สนมเท่านั้น
ส่วนมากกษัตริย์ ก่อนจะได้เป็นกษัตริย์ ก็มักจะมีเมียมาก่อน
ซึ่งบางครั้งเมียก่อน ๆ นั้นก็ไม่ได้เป็นเจ้า
(เจ้าในที่นี้เราต้องเข้าใจว่า ตั้งแต่หม่อมเจ้า ขึ้นไป)
หรือเป็นเจ้าแต่ไม่ใช่ลูกหลวง ก็ยกขึ้นมาไม่ได้
อย่างเจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ ๕ อย่างนี้เป็นต้น
ถึงเป็นเมียคนแรกแต่ชาติกำเนิดเป็นสามัญชน
ก็ได้เป็นแค่เจ้าจอม
( แต่อำนาจ หรืออิทธิพลนอกระบบนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 555 )
โชคดีที่รัชกาลที่ ๔ มีเมียและมีลูกเยอะ
ทำให้รัชกาลที่ ๕ มีตัวเลือกเยอะไปด้วย
นอกจากตัวเลือกเยอะแล้ว ยังทรงมีเยอะอีก
การมีเมียเยอะของกษัตริย์นั้นถือว่าเป็นความมั่งคั่งและมั่นคง
เราจะสังเกตจากประวัติศาสตร์ได้ว่า
ถ้ากษัตริย์มีเมียน้อย (หมายถึงเมียไม่มาก) เมื่อไหร่
เป็นอันราชสมบัติจะมีอันสั่นคลอน
หรืออาจถึงขั้นวิบัติได้
ลักษณะเช่นนี้สืบทอดมาถึงสามัญชน
และสืบทอดมาถึงปัจจุบันด้วยว่า
คนรวยนั้นมักจะมีญาติเยอะ
ในวิชาการศึกษาชุมชนสมัยใหม่
มักสอนกันว่า ถ้าคนไหนในชุมชนมีญาติเยอะ
แปลว่าคนนั้นค่อนข้างจะรวย และมีอิทธิพล
นอกจากสามัญชนธรรดาแล้ว
ก็ลามมาถึงนักการเมือง
ถ้ามีญาติเยอะก็ได้เปรียบ
มันเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณที่มีประชาธิปไตย
ตั้งแต่สมัยกรีกนั่นเลยทีเดียว
คือเป็นญาติกันก็ต้องเลือกญาติตัวเอง
จึงสรุปได้ว่า การมีญาติเยอะนั้น
ไม่ว่าการปกครองระบอบไหน ก็ล้วนทำให้เกิดความมั่นคง
และดีทั้งนั้น
เว้นแต่จะฆ่าล้างโคตรหรือแตกคอกันเอง
ทีนี้มาถึงเรื่องที่สามัญชนอยากเป็นเมียกษัตริย์
ต้องทำอย่างไร
หรือเคยมีเคยเป็นอย่างไรบ้าง
มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
มันมีหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง
จึงขอยกไปคราวหน้า
เอวังก็มีแต่เพียงเท่านี้ก่อนเทอญฯ
ธัชชัย ธัญญาวัลย
14 ตุลาคม 2557