ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

จดหมายจากสันคะยอม : กับบางทิศทางที่ยังไม่มีคำตอบ


ไม่ได้ชอบ   คำ  ผกา

แต่ว่า  หลงรัก

555

จริงแล้วจะเรียกว่า  คำ  ผกา

ก็ไม่ถูกต้องนัก

เพราะเล่มนี้

ใช้ชื่อว่า

ฮิมิโตะ  ณ  เกียวโต

แต่อ่านอย่างไร ๆ  

ก็เป็น  คำ  ผกา  อยู่ดีนั่นเอง

แต่เป็น  คำ  ผกา

แบบเบา ๆ  (หน่อย)


คำ  ผกา  เป็นผู้หญิง  ที่มีความเป็นผู้ญิ้งผู้หญิง

เวลาชอบหรือรักใคร่อะไร

ก็จะหาเหตุผลมาสนับสนุนมากมายก่ายกอง

ยกทฤษฎีทั้งหลายทั้งปวงที่ร่ำเรียนมา

ชักแม่น้ำทั้งห้าทั้งสิบ

พูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว

เพื่อปอปั้นสิ่งนั้น

แต่ถ้าได้เกลียดอะไร

ต่อให้มันดีงามขนาดไหน

ก็หาเรื่องด่าจนได้นั่นแหละ

จุดนี้คือจุดที่ข้าพเจ้าชอบอ่านงานของเธอ

มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า

โลกนี้เต็มไปด้วยอคติ

ถ้าไม่ใช่  ฉันทาคติ

ก็  โทสาคติ

คือ  ไม่รัก  ก็ชัง

เป็นการย้ำเตือนเราอยู่เสมอ ๆ  ว่า

เป็นทางทั้งสองฝั่งที่เราไม่ควรเดิน

แต่ก็นั่นแหละ

ข้าพเจ้ามิใช่ผู้บรรลุธรรม

ข้าพเจ้าก็เป็นคนอย่าง  คำ  ผกา

มีรัก  และมีเกลียด

รักก็หาเหตุผลมาเข้าข้าง

เกลียดก็หาเหตุผลมาด่าว่า

ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้


กระนั้นก็ตาม

แม้ว่าจะ  หลงรัก  ตัวหนังสือของเธอ

แต่ก็ใช่ว่าต้องการผู้หญิงอย่างนี้มาเป็นคู่ชีวิต

อย่างไรเสีย

ข้าพเจ้าก็ยังต้องการผู้หญิงทอม ๆ  

ง่าย ๆ  สบาย ๆ  

ที่มีความเป็นผู้ญิ้งงงงงผู้หญิงไม่มากนัก

ดุจความปรารถนาดั้งเดิมอยู่ดี

5555

(เรื่องนี้...-เดี๋ยวจะยาว-เอาไว้พูดทีหลังจะดีกว่า 555)



มีหนังสือของนักเขียนอย่างน้อยสามคน

ที่ข้าพเจ้าอ่านแล้วรู้สึกว่า

ปลงกับชีวิต

แม้จุดประสงค์ของผู้เขียนจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ตาม

แต่ในฐานะผู้อ่าน

ข้าพเจ้าก็มีสิทธิ์ที่จะรู้สึก

(หรือมิใช่)

คือ  งานของ  คำ  ผกา  ๑

วันชัย  ตันฯ  ๑

และ

บรรยง  พงษ์พาณิช  ๑

ทั้งสามคนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า

โลกนี้มันช่างเต็มไปด้วยความชั่วร้าย

อย่ากระนั้นเลย

เราออกบวชเสียดีกว่า

จะได้หลุดพ้นไปจากโลกอันทารุณนี้

โดยเร็ววัน

5555

(อันนี้เป็นความคิดแบบเล่น ๆ  แซวกันขำ ๆ  เท่านั้นนะครับ)


"จดหมายจากสันคะยอม"

ทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึงเรื่อง  "สวนสัตว์"  

ของ  "สุวรรณี  สุคนธา"

มันดูเหมือนเศร้าเคล้าโรแมนซ์อย่างนั้น

แต่มันก็ไม่ได้เศร้าเคล้าโรแมนซ์อย่างนั้น

หากเป็นความจริงอันน่าหดหู่

เป็นความจริงอันกระด้างแต่จริงใจ

แม้ผู้เขียนจะบอกว่า

อดีตสวยงามเสมอ  ก็ตาม

"...ฉันจำไม่ได้แล้วว่า  มีใครเคยพูดว่า  

เรามักจะนึกสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีต

ในทางที่สวยงามเสมอ

ฉันคิดว่าตอนที่ยายยังมีชีวิตอยู่

ฉันเกลียดยายมาก  แต่พอยายตายลงไปแล้วหลายปีเข้า

ทุกครั้งที่ฉันพูดถึงยาย  ฉันมักจะนึกออกแต่เรื่องดี ๆ 

และจำเรื่องร้าย ๆ  ของยายไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว

เรื่องโรงสีก็เหมือนกัน  ฉันเกลียดโรงสีมาก

เกลียดที่มันเสียงดัง  เกลียดฝุ่น  เกลียดที่ต้องคอยแบกหาม

กระบุงข้าวเปลือกข้าวสาร  

เบื่องานนั่งเฝ้าดูการเดินทางของข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสาร

ทางเดินของมันเชื่องช้า  ซ้ำซาก  น่าเบื่อหน่าย

แต่เมื่อผ่านไปนาน ๆ  เข้า  เมื่อนึกถึงโรงสี

ฉันกลับจำได้แต่เรื่องดี ๆ  ของมัน..."

(จากเรื่อง  โรงสี)


เหตุหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบหนังสือเล่มนี้

ก็เพราะว่า

มันมีความคล้ายคลึงกัน

ระหว่างบ้านและชุมชนที่ข้าพเจ้าเคยอยู่และเติบโตในวัยเด็ก

กับบ้านและชุมชนของผู้เขียน

แม้เรื่องราวในชุมชนของข้าพเจ้าจะแสนสงบนิ่ง

ไม่สวิงสวายเท่า  "สันคะยอม"  ก็ตาม

โดยพื้นฐานความคิด  ความเชื่อ  และคตินิยม

รวมทั้งการเดินทางของวัตถุนิยมสมัยใหม่

มันไม่ได้ห่างไกลกันมากนัก

และแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงของบ้านที่ข้าพเจ้าเคยอยู่

ก็ไม่หวือหวาขนาดมีถนนขนาดใหญ่ตัดผ่าหมู่บ้านออกเป็นสองฝั่ง

หรือมีการทำหมู่บ้านจัดสรรกันมโหฬารเหมือนที่  "สันคะยอม"


ผู้เขียนดูเหมือนจะรับมือได้ดีกับความเปลี่ยนแปลงที่ว่า

แต่ไม่วายโหยหาอดีต

อย่างที่มนุษย์โพสต์โมเดิร์นทั้งหลายเป็นกัน

หากไป ๆ  มา ๆ  

ก็ไม่เว้นจะบังเกิดความสับสน

ว่าควรเลือกข้างไหนดีอีกนั่นแหละ

เช่น

"เอ...เขียนไปเขียนมา  ฉันชักจะรู้สึกว่า  หรือจะให้เด็กในหมู่บ้าน

สันคะยอมเป็นคนครึ่ง ๆ  กลาง ๆ  เสียยังดีกว่ากลายเป็น

"ช้างเผือก"  ในมหาวิทยาลัย"

(จากเรื่อง  เรียนหนังสือ)

ความจริงแล้วปัญหาแบบนี้บางทีมันก็ตอบได้ยาก

คล้าย ๆ  กับปัญหาเรื่องคนหนุ่มสาว

ที่เคยมีที่นา  แล้วละทิ้งอาชีพของบรรพบุรุษ

กลายไปเป็นมนุษย์เงินเดือน

ต้องผ่อนบ้าน  ผ่อนรถ  ณ  สถานที่ใหม่ที่เข้าไปตั้งรกราก

ขายที่นาให้นายทุน/คนอื่น

แล้วก็ไม่กลับบ้านอีกเลย

อย่างนี้เป็นต้น

มันเป็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านของชนบททั่วประเทศ

ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่า

ในเจเนอเรชั่นต่อไป

จะเกิดอะไรขึ้น

กับลูกหลานของชาวชนบท

เขาจะกลับจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน

สู่ท้องไร่ท้องนาหรือไม่

(กรณีที่ยังไม่ได้ขายที่)

หรือจะกลายเป็นชนชั้นใหม่

ในสังคมใหม่

ทิ้งบ้านเกิดเอาไว้ตลอดกาล

เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากเหลือเกิน


การปะทะกันทางวัฒนธรรม

เป็นประเด็นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้

เช่น  วัฒนธรรมการกอด

ซึ่งต้องยอมรับว่า

ในชนบทแบบที่ผู้เขียนเติบโต

มันไม่มี

ซึ่งไม่เพียงแต่  สันคะยอม  ของภาคเหนือหรอก

ที่มันไม่มี

ชนบทแถบอีสาน

ก็ไม่มี

แต่เมื่อวัฒนธรรมการกอดนี้เผยแพร่ออกมา

ในรูปแบบของละครทีวี

ก็เกิดการปะทะกันขึ้น

ยังไม่นับรวมเรื่องราวอื่น ๆ  ที่คล้ายกันนี้

ซึ่งบางครั้ง

เรื่องอย่างนี้ก็เป็นปัญหา

ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจในระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เพราะเราไม่เข้าใจรากฐานทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น

( ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอาหารการกิน  และมายาคติอื่น ๆ  อีกพะเรอเกวียน)


มีหลาย ๆ  เรื่อง

และหลาย ๆ  เรื่องมาก ๆ  

ที่เป็นตัวแทนของชนบทภาคเหนือและภาคอีสาน

ของประเทศ

เป็นหนังสือ "อัตชาติพันธุ์นิพนธ์"

ที่ไม่ใช่แค่  "อัตตะ"

ไม่ใช่แค่หนังสือที่เอาไว้อ่าน

เพื่อรำลึกความหลังเท่านั้น

มันสะท้อนอะไรมากมาย

และสมควรเหลือเกิน

ที่ผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชน

ควรชำเลืองหางตาหาอ่านกันบ้าง

เผื่อ "การพัฒนา"  ชนบท

ในบริบทที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบันนี้นั้น

จะได้รับการ  "ทบทวน"

ว่า  ดีแล้ว  ยังไม่ดี  เลวลง  เท่าเดิม

หรืออย่างไร



ธัชชัย ​ธัญญาวัลย
๑๕  กันยายน  ๒๕๕๗