จำความได้
ข้าพเจ้าเริ่มสนใจการเมืองเมื่อายุ ๑๒ ปี
จากโฉลกตลกหมอลำที่ได้ยินบ่อย ๆ
"เมืองไทยเรานี้ แสนดีหนักหนา
ในน้ำไม่มีปลา ในนามีแต่หนี้
นส.๓ ไม่มี เอาไปจำนำสหกรณ์"
หากใครเป็นคนอีสานรุ่น ๆ ข้าพเจ้า
หรือแก่กว่าข้าพเจ้าหรือเด็กกว่าข้าพเจ้า
อาจจะได้เคยฟังเทปนี้บ้าง
(ความจริงใครก็เคยได้ฟังทั้งนั้น ถ้าเคยได้ฟัง
555)
ข้าพเจ้าจำได้เพราะข้างบ้านเปิดบ่อยเหลือเกิน
แท้แล้วอันนี้เป็นเทปตลกที่เน้นความตลกเฮฮา
ไม่ใช่เทปซีเรียสอะไร
แต่มันวิจารณ์สังคมขณะนั้นได้ถึงแก่น
นส.๓ ก็คือ ใบถือสิทธิ์ครองที่ดินประเภทหนึ่ง
ซึ่งทุกวันนี้คงไม่มี เพราะน่าจะเปลี่ยนเป็น โฉลดที่ดิน หมดแล้ว
ส่วนสหกรณ์ น่าจะเป็นสหกรณ์การเกษตรหรืออะไรเทือก ๆ นั้น
ซึ่งทุกวันนี้ยังมีอยู่แต่บทบาทไม่ค่อยมี
ที่มีบทบาทน่าจะเป็น ธกส. มากกว่า
ประโยค "ในน้ำไม่มีปลา ในนามีแต่หนี้"
ข้าพเจ้าเคยจำเอาไปใช้
สมัยรายงานหรือโต้วาที(ไม่แน่ใจ)ชั่วโมงสังคมศึกษา
เมื่อตอนเรียน ม.๔ อยู่ครั้งหนึ่ง
จำได้ว่า เพื่อน ๆ หัวเราะกันครืน
(ที่ฮา เพราะข้าพเจ้าเสือกจำผิด
เป็น "ในนามีแต่ขี้" 555)
มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
แม้ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น
ชนชั้นใต้ปกครองถ้าเราพิจารณาตามประวัติศาสตร์
มันก็ไม่มีระบอบไหนที่ให้เราได้ลืมตาอ้าปากจริง ๆ สักครั้ง
ถ้าเราขี้เกียจ
แต่ถ้าเราขยัน ต่อให้ระบอบการปกครองใด
ก็เจริญรุ่งเรืองได้
ประวัติศาสตร์จำพวก ๑๔ ตุลา หรือ ๖ ตุลา
ข้าพเจ้าศึกษาตั้งแต่ครั้ง ม.ต้น
เพราะทะลึ่งไปอ่านวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกนี้เข้า
จึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้
ไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้อรรถรสวรรณกรรมอย่างเต็มที่
นั่นไม่รวมถึงจำพวกงานเขียนซีเรียสลัทธิการเมืองต่าง ๆ
ที่กว่าจะมากระจ่างบ้างก็อีตอนเข้ามหาวิทยาลัย
เพราะได้ข้อมูลที่มากขึ้น รอบด้านขึ้น
ข้าพเจ้าเริ่มดูข่าวตอนอายุ ๑๒ เช่นเดียวกัน
(ปกติข้าพเจ้าเกลียดข่าวมาก อยากเร่งให้มันจบเร็ว ๆ
เพราะจะได้ดูการ์ตูนเสียที)
และที่ติดตาติดใจคือ
รัฐบาลชวน ปล่อยหมากัดม็อบ
และจากการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ ของข้าพเจ้า
ทำให้ข้าพเจ้ารังเกียจพรรคประชาธิปัตย์
นั่นหมายความว่า
ข้าพเจ้าไม่ได้เพิ่งรังเกียจพวกเขาเฉพาะตอนนี้
หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้
แต่มันฝังใจมานาน
นานเกือบยี่สิบปี (เอาให้แน่ก็ ๑๗ ปี)
ยิ่งเห็นความดัดจริตไม่ติดดินของพวกแกนนำแล้ว
ก็ยิ่งให้คลื่นเหียน
เอาเข้าจริง
ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง
มันก็วนเวียนไปเรื่อย ๆ
อย่างที่นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า
ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอย
History repeats itself
ซึ่งเป็นประโยคที่ข้าพเจ้าจำอย่างขึ้นใจมาแต่ไหนแต่ไร
เพราะหากพิจารณาให้ถ้วนถี่
มันคือสัจนิรันดร์อย่างหนึ่งนั่นเทียว
ประโยคเดียวอธิบายได้ทุกอย่าง
จอร์จ ออร์เวลล์ ทำให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
เราพยายามหนีจากเผด็จการ เพื่อเจอเผด็จการอีกคนหนึ่ง
มีคำกล่าวคล้าย ๆ ว่า "ถ้าเราฆ่าเผด็จการคนหนึ่ง
จะมีเผด็จการอีกคนรออยู่ข้างหน้า"
(คำกล่าวนี้ไม่ใช่ของออร์เวลล์ ส่วนเป็นคำของใครนั้น
ข้าพเจ้าจำไม่ได้)
นั่นหมายความว่า ต่อให้มันเป็นระบอบการปกครองอะไรยังไง
ชนชั้นใต้ปกครองก็ต้องทำงานหนัก
ถูกหลอก ถูกผลักให้ไปตาย ถูกกระทำย่ำยีอยู่เรื่อยไป
เหมือนในเรื่อง Animal Farm นั่นเอง
คิดดูให้ดี
เราต้องเสียภาษีเท่าไหร่
เราอาจกล่าวอ้างว่า
เราเสียภาษีเพื่อให้รัฐนำมาพัฒนา
ถามว่า
รัฐเผด็จการ กับ รัฐประชาธิปไตย
ต่างกันหรือเปล่าตรงนี้
ไม่เลย
รัฐประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
เสียด้วยซ้ำ ที่โกงเงินภาษีเรามากมายมหาศาล
เอาที่เห็นชัด ๆ ก็ปาไปเท่าไหร่
(อย่าให้ยกตัวอย่างเลย)
แล้วที่เห็นไม่ชัดอีกเท่าไหร่
แล้วมันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่
การใช้ระบบรัฐสภาหรือระบบข้างถนน
ไม่เคยทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป
ไม่เชื่อถามคนยุคสิบสี่ตุลา
ทุกวันนี้ยังเห็นคนยุคนั้นต้องออกมาเย้ว ๆ อยู่ร่ำเรื่อย
เหมือนการงานอะไรสักอย่างที่ทำไม่เคยจบสิ้น
ซึ่งความจริงจริง ๆ ก็คือ มันไม่มีทางจบสิ้นได้เลย
เพราะเราเดินไม่ถูกต้อง
เรายังเข้าใจอะไร ๆ ในโลกนี้ผิดพลาด
และไม่ยอมรับฟังสิ่งที่ถูกต้อง
เราเรียกร้องหาอิสรภาพ เรียกหาเสรีภาพ
เรียกหาสันติภาพ
เรียกหาความยุติธรรม เรียกร้องคุณธรรมจริยธรรม
หรืออะไรต่าง ๆ นานา
โดยที่เราไม่รู้จักความหมายที่แท้จริง
และความเป็นจริงแท้ ๆ ของสภาวะอย่างนั้นเลย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖