ซื้อ E-BOOK
|
คำให้การชาวกรุงเก่า ๒
ความจริงก็อ่านจบแล้ว
เรื่องคำให้การชาวกรุงเก่า
มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเอามาเล่าบ้าง
หรือไม่เอามาเล่าบ้าง
ก็แล้วแต่สถานการณ์กันไป
เรื่องเหนือจริงหรือเรื่องอันไม่น่าเชื่อ
ก็มีอยู่เป็นระยะ ๆ ตามรายทาง
รวมทั้งบางเรื่องก็ไม่ใช่จะตรงกับที่เรารับรู้กัน
อย่างเช่นเรื่องชนช้างสมัยก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ เป็นต้น
วันนี้ว่าถึงเรื่อง "พระนารายน์" ก่อน
พระนารายน์ ตามบันทึกคำให้การชาวกรุงเก่านั้นว่า
เป็นพระโอรสองค์ที่ ๗ ของพระเจ้าปราสาททอง
และพระเจ้าปราสาททองได้เสี่ยงบารมีหลายครั้ง
ทุกครั้งก็เป็นเหตุให้เห็นว่า ราชบัลลังก์ จะตกอยู่กับพระโอรสองค์เล็ก
ทั้งที่ในใจนั้นท่านอยากให้ตกกับองค์ใหญ่สุด
แต่เมื่อมีเหตุหลายครั้ง
ก็ย่อมต้องเชื่อว่า
พระโอรสองค์ที่ ๗ เป็นผู้มีบุญญาธิการมาก
องค์ที่เจ็ดนั้นเดิมท่านชื่อ พระสุรินทรกุมาร
"อยู่มาวัน ๑ พระเจ้าปราสาททองมีพระราชประสงค์จะ
ใคร่ทดลองว่าพระราชโอรสองค์ไหนจะมีบุญ จึงให้หาพระโอรสทั้ง ๗
องค์เข้ามาแล้ว จึงเอาพระแสง ๗ องค์วางเรียงไว้ แล้วทรงอธิษฐานว่า
ถ้าพระโอรสองค์ใดมีบุญสมควรจะครองบ้านเมืองแล้ว ขอให้หยิบถูก
พระแสงสำหรับบ้านเมือง ครั้นทรงอธิษฐานแล้วจึงรับสั่งให้โอรสทั้ง ๗
องค์ หยิบพระแสงองค์ละองค์โดยลำดับ พระแสงสำหรับบ้านเมืองนั้น
ได้แก่พระสุรินทรกุมารซึ่งเปนพระราชโอรสองค์เล็ก ต่อมาพระเจ้า
ปราสาททองก็ได้ทรงทดลองด้วยช้างอิก"
ช้างต้นมงคลหัตถีก็ได้แก่พระสุรินทรกุมารอีก ทดลองด้วยม้าต้น
ก็ได้กับพระสุรินทรกุมารอีก
"วัน ๑ ฟ้าผ่าลงที่พระที่นั่งมังคลาภิเศก เกีดเพลีงไหม้ขึ้น ขุนนาง
ข้าราชการทั้งปวงขึ้นไปช่วยกันดับ เพลีงนั้นก็หาดับไม่ พอพระสุรินทร
กุมารขึ้นไปช่วยดับ เพลีงนั้นจึงดับ เวลาเมื่อพระสุรินทรกุมารเสด็จขึ้นไปนั้น
ขุนนางข้าราชการแลประชาชนทั้งปวงเห็นเปน ๔ กร จึง
โจทย์กันอื้ออึงไป แลพากันนิยมนับถือพระสุรินทรกุมารว่าเปนผู้มีบุญ
แต่นั้นมา"
ครั้นพอพระเจ้าปราสาททองเสด็จสวรรคต
พระสุรินทรกุมารขึ้นครองราชย์ จึงได้ชื่อว่า
"พระนารายน์"
ด้วยเหตุที่เห็นเป็นสี่กร นี้เอง
เรื่องพระนารายน์นี้ก็มีแปลกอัศจรรย์อีกเป็นอันมาก
ใครใคร่รู้ก็ไปหาอ่านกันเอาเอง
หึหึ
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ศรีปราชญ์ ซึ่งตามคำให้การชาวกรุงเก่านั้นว่า
มีชีวิตอยู่ในสมัยพระสุริเยนทราบดี
ซึ่งพระสุริเยนทราบดี นี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า
คือ พระเจ้าเสือ
มิใช่สมัยพระนารายณ์มหาราช ดังเช่นที่เราคุ้นเคยกัน
เรื่องที่กล่าวมาจะเป็นความจริงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน
ถ้าเป็นนักตีความผู้ปฏิเสธปาฏิหาริย์
ก็อาจตีความเรื่องเห็นเป็นสี่กรว่า
เป็นการสร้างกระแส อย่างหนึ่งก็ได้
เพราะประชาชนในสมัยนั้นย่อมเชื่อเรื่องบุญญาธิการ
การสร้างกระแสดังกล่าว
ก็ทำให้ง่ายต่อการที่จะให้พระโอรสองค์ที่ ๗ ขึ้นครองราชย์โดยชอบธรรม
ไม่ให้เกิดการคัดง้างกันขึ้น
แต่ก็อย่างที่กล่าวในตอนต้น เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องตาบอดคลำช้าง
ใครใคร่เห็นว่าช้างมีลักษณะอย่างไร
ก็ว่ากันไป
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๙ มิถุนายน ๒๕๕๖
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น