ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

พระไตรปิฎกใน-พระไตรปิฎกนอก


สมัยหนึ่ง

เมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเป็นเด็กชายอยู่นั้น

ข้าพเจ้าได้เริ่มต้นปฏิบัติธรรม (นั่งสมาธิภาวนา)

และเมื่อปฏิบัติแล้ว

ก็อยากรู้อยากทราบ

เกี่ยวกับหลักธรรม

เกี่ยวกับท่านผู้ค้นพบธรรม

เป็นธรรมดาของคนปฏิบัติธรรม

ถ้าถึงจุดมันจริง ๆ  แล้ว

มันจะอยากรู้จักพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์

การอันใดก็จะเป็นไปในแนวทางนั้น

หนังสือธรรมะต่าง ๆ  ในห้องสมุดข้าพเจ้าอ่านจนหมดสิ้นสิ่งที่สนใจ

ไม่ว่าจะเป็นพุทธประวัติฉบับต่าง ๆ  

ประวัติพระสาวก  

หรือแม้กระทั่งธรรมะต่าง ๆ  

ข้าพเจ้าอ่านแม้กระทั่งหนังสือของฝ่ายธรรมกาย

ที่ว่า  นิพพานเป็น  อัตตา

แท้แล้ว

คำว่า  นิพพานเป็นอัตตานี้

ถ้าเราดูแต่คำพูดอาจจะผิด

แต่ถ้าไปดูเนื้อในแล้วไซร้

จะเห็นว่า  หลวงพ่อสดนั้น  ท่านกล่าวไว้ไม่ผิด

คือไม่ผิดไปจากสภาวะอันเป็นธรรมชาติอย่างนั้น

หลวงตาเคยเทศน์เกี่ยวกับเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาไว้หลายแห่ง

มีทั้งที่ว่า  นิพพานไม่ใช่อัตตาและอนัตตา

มันทั้งที่ว่านิพพานเป็นอัตตา

แต่อัตตาในความหมายนี้

ไม่ใช่ความหมายว่าเป็นตัวตน

หรือในนิยามของคำว่า  อัตตา  ในแบบที่เป็นทางเดินเพื่อพระนิพพาน

หลวงพ่อสดท่านว่า

ถ้ามีสิ่งที่เป็น  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา

ก็ต้องมีสิ่งที่เป็น  นิจจัง  สุขัง  อัตตา

ซึ่งโดยนัยแห่งความหมาย

ซึ่งไม่ได้ถือเอาตามบัญญัติความหมายแห่งถ้อยคำแล้ว

นิพพานก็เป็น  นิจจัง  สุขัง  อัตตา

อย่างที่ท่านว่าอย่างนั้น

ไม่ใช่ว่าเข้านิพพานแล้วจะว่างเปล่าหายไปอย่างนี้ไม่ใช่

นิพพานเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง

ที่ไม่มีเกิดไม่มีตาย

ทีนี้พูดอย่างนี้ก็จะกลายเป็นคล้าย ๆ  มิจฉาทิฐิบางประเภท

แต่ไม่ใช่

เรื่องนิพพานนั้น

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกอยู่แล้วว่า

ไม่ใช่อะไรทั้งหมด

ไม่ใช่โลก  ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์

ไม่ใช่อากาศว่างเปล่า  ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น

นิพพานก็เป็นนิพพาน



เมื่ออ่านหนังสือธรรมะในห้องสมุดจนไม่มีอะไรจะอ่านแล้ว

ข้าพเจ้าก็ไปวัดเพื่อจะอ่านพระไตรปิฎก

ช่วงนั้นข้าพเจ้าสนิทกับพระหลวงตาท่านหนึ่ง

เพราะตื่นเช้ามาก็ตักบาตรที่หน้าบ้าน

สายมาก็ไปวัด

คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ท่านก็เมตตาดีมาก

ที่บ้านข้าพเจ้ายาย  น้อง  ท่านก็ให้ความเตตามาก

โดยเฉพาะน้องข้าพเจ้า



วันหยุดก็ไปช่วยพระขัดพระพุทธรูปบ้าง  กวาดลานวัดบ้าง

รดน้ำต้นไม้บ้าง

แล้วแต่จะอยากทำ

อันนี้ก็ไปทำเอง

ก็ถามพระหลวงตาเกี่ยวกับพระไตรปิฎก

ธรรมเนียมบ้านนอกนั้น

ย่อมมีความเห็นว่า

พระไตรปิฎกเป็นของศักดิ์สิทธิ์

จะเอาออกมาอ่านง่ายๆ  ไม่ได้

ถวายวัดแล้ว

ก็ใส่ไว้ในตู้ล็อกกุญแจเรียบร้อย

แล้วลูกกุญแจก็ไม่รู้อยู่ไหน

ฝุ่นเกาะกันไป

ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

ถ้าใครไปถามหาอยากจะอ่าน

ก็ว่า

อย่าไปอ่านเลย

มันเป็นหนังสือของสูง

อ่านไม่รู้เรื่องหรอก

เดี๋ยวจะเป็นบ้าเปล่า ๆ  

อะไรเทือกนี้

ซึ่งข้าพเจ้าก็หาได้เชื่อถือแต่ประการใดไม่

(ด้วยเหตุนี้กระมัง  ก็เลยเป็นบ้ามาจนทุกวันนี้  555)

กระนั้นก็ดี

หลังจากสนทนากันแล้ว

ท่านก็ว่า

ลูกกุญแจมันหายไปไหนไม่รู้

ไม่รู้ใครเก็บ

แต่มีหนังสือส่วนตัวของท่าน

เป็นพระไตรปิฎกเล่มแรก

คือ  พระวินัยปิฎก  (เล่ม ๑)

ท่านให้ยืมมา  ข้าพเจ้าก็อ่าน

เริ่มเรื่องตั้งแต่พระเสพเมถุน

แล้วพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธบัญญัติ

จากนั้นก็มีพระเสพเมถุนอีกหลายรูป

แต่ละรูปก็แตกต่างกันไป

เป็นต้นว่า

รูปแรกนี้  เป็นเศรษฐี

ออกบวช  พ่อแม่อยากให้มีหลานไว้ดำรงเผ่าพันธุ์

ก็เลยไปหาท่านที่บวชอยู่

แล้วก็บอกว่า  ขอให้ไปทำให้หน่อย

จัดหญิงสาวมาให้  (กำหนดเวลาตกไข่อะไรเรียบร้อยมาแล้วด้วย)

จัดแจงสถานที่อะไรกันเสร็จ  ท่านก็ซัดไปสามยก

เพื่อให้แน่ใจว่าติดลูกแน่  จะได้ไม่ต้องมารบกวนท่านอีก

(คือความจริงอนุมานตามเนื้อหาท่านไม่ได้อยากทำ

แต่พ่อแม่ก็มาเทียวไล้เทียวขื่ออยู่ตลอดไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม  

ก็เลยทำ ๆ  ไปเสียจะได้เลิกกวน  ว่างั้นเหอะ

แล้วสมัยนั้นก็ยังไม่มีกฎข้อห้ามอะไร  ท่านก็คงคิดเอาเองว่า

อย่างนี้น่าจะทำได้  )

ความรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า

ท่านก็บัญญัติขึ้นมาเป็นสิกขาบทข้อแรกว่า

ห้ามเสพเมถุน

ผู้ใดเสพเป็นปราชิก  คือขาดจากความเป็นสงฆ์  และจะมาบวชใหม่อีกไม่ได้

(แต่คนแรกที่เป็นต้นบัญญัตินั้นไม่เอาผิด  ยังให้เป็นพระต่อไปได้)



แม้จะมีพุทธบัญญัติว่า  ห้ามเสพเมถุนนี้แล้ว

ก็ยังมีทำผิดอีก

เป็นต้นว่า

บางรูปเห็นว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติแต่กรณีสตรีเท่านั้น

ผ่านทางช่องสังวาสเท่านั้น

ก็ไปเสพเอาทางทวาร

ความก็รู้ไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก

ก็บัญญัติอีกว่า

ห้ามเสพเมถุน  ไม่ว่าจะทางช่องสังวาสก็ตาม  หรือทางทวารก็ตาม

จากนั้นก็มีเสพทางปาก  คือออรัลเซ็กส์อีก

ก็ต้องทรงบัญญัติอีก

ว่า  ทางปากก็ไม่ได้

ทีนี้ไม่เสพกับคนไปเสพกับสัตว์  มีลิง  เป็นต้น

ก็ทรงบัญญัติอีกว่า

กับสัตว์ก็ไม่ได้

กับสัตว์ไม่ได้

ก็มีคนไปเสพกับศพ

ก็ทรงบัญญติอีกว่า

กับศพตายใหม่ ๆ  ก็ไม่ได้

มีบางรูปไม่ได้ไปขวนขวายหาเสพ

แต่เรื่องก็มีอยู่ว่า

กุฏิเปิดอยู่

ลมพัดมา  พระนั้นจำวัดอยู่  อวัยวะก็ตั้งชี้โด่ขึ้นมา

บังเอิญตอนนั้นมีโยมผู้หญิงเดินผ่านไปพอดี

โยมเห็นดังนั้นเกิดอดกลั้นไว้ไม่ได้

ไปขย่มเอา  พระก็รู้ตัวแล้ว  แต่ไม่ได้ห้าม

ก็เอากันจนเสร็จ

อย่างนี้ก็ผิดอีก

ต้องทรงมีพระบัญญัติกันอีกว่า  ไม่ได้ไปเอาเขา  เขามาเอา

ขณะเอามีจิตยินดี  เป็นปราชิก

มีแม้กระทั่งว่าลูกสัตว์หิวนม  มาดูดอวัยวะของพระ

พระเกิดความยินดีระหว่างที่ลูกสัตว์ดูดนั้น

อันนี้ก็ปราชิก

ถือว่า  เสพทางปาก  กับสัตว์

เรื่องปราชิกนี้มีอยู่มาก

ลองไปหาดูก็จะรู้ว่า

ไอ้ที่จัญไร ๆ  นั้นมันไม่ได้มีอยู่ในสมัยนี้เท่านั้น

มันมีมาแต่สมัยพุทธกาล

และโชคดีที่มันมีมาอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงบัญญัติไว้

เป็นการทำให้ศาสนานี้มีเกราะคุ้มภัยที่แข็งแกร่ง


ที่เล่ามานี้อาจจะไม่ตรงคำบ้าง  แต่ความนั้นน่าจะตรง

เพราะอ่านมานานแล้ว

ตั้งแต่สิบสี่สิบห้าปี  นี่ก็ยี่สิบแปดปีแล้ว

ผ่านมาเป็นทศวรรษ  จำได้พอลางเลือน


จบปราชิกก็เป็นเรื่อง  เอาของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้

ก็มีกรณีต่าง ๆ  อีก

จบเรื่องลักของ

ก็มีเรื่องฆ่ามนุษย์

จบเรื่องฆ่ามนุษย์ก็มีเรื่องอวดอุตริฯที่ไม่มีในตน

ซึ่งแต่ละรายการรายละเอียดมีมาก

นอกจากนี้ยังมีอาบัติรองลงมา  รองรองลงมา  ลงมา  ลงมา  อีก


คือเกิดเรื่องขึ้นทีไรก็มีคนมาฟ้องพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติ

บางอันก็เป็นการเพิ่มเติมบัญญัติ   บางอันก็กำหนดข้อยกเว้นในบัญญัตินั้นอะไรกันไป

คือการเป็นพระพุทธเจ้านี่อย่าว่าง่าย ๆ  

เพราะนอกจากต้องสั่งสอนธรรมะแล้ว

ยังต้องบัญญัติพระวินัยด้วย

ยิ่งสมัยไหนคนนิสัยหยาบมาก

ก็ยิ่งต้องบัญญัติมาก

มีคนมาฟ้องทุกวี่ทุกวัน

มีมูลบ้าง  ไม่มีมูลบ้าง  เข้าใจผิดบ้าง  เยอะแยะไปหมด

แต่บางสมัยพระพุทธเจ้าบางพระองค์คนทั้งหลายนิสัยดี

จิตใจละเอียด

ก็ไม่ต้องบัญญัติมาก

บางพระพุทธเจ้ามีแค่ปราชิก  ๔  ข้อเท่านั้น

อันนี้ก็แล้วแต่ยุคของมนุษย์กันไป



เรื่องการบัญญัติพระวินัยนี้

ก็มีเรื่องที่ต้องพิจารณาอยู่บ้างว่า

หากสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ใด

มีพระวินัยน้อยไป  ก็อาจจะทำให้เกิดการหละหลวม

ทำให้ศาสนาตั้งอยู่มิได้นาน

หากสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระวินัยมากไป

เข้มงวดเกินไป  ก็ทำให้พระศาสนาตั้งอยู่ไม่นานเช่นกัน

เพราะจะทำอะไรติดขัดไปหมด  อย่างนี้เป็นต้น

ศาสนาสมัยพระพุทธเจ้าสมณโคดมนี้

มีพระวินัยไม่มากเกินไป

ไม่น้อยเกินไป

ทำให้ศาสนาตั้งอยู่ได้นานถึง ๕,๐๐๐  ปี

ทั้งยังมีรับสั่งเมื่อครั้งจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

บัญญัติเล็กน้อย  หากสงฆ์เห็นว่าสมควร

ก็ให้ยกเลิกเสียก็ได้

อันนี้ความว่า  บัญญติเล็กน้อยนะครับ

ถ้าตีความเทียบเคียง

ก็เห็นจะเป็น

ทุกกฏ  หรือไม่ก็  ทุพภาสิต

ทุกกฏ  (แปลว่าทำไม่ดี)จะเป็นเกี่ยวกับมารยาทต่าง ๆ  เช่น  การเคี้ยวข้าว  เป็นต้น

ทุพภาสิต  (แปลว่า  พูดไม่ดี)  เกี่ยวกับการพูด  การพลั้งพลาดเผลอพลาดพูดจาไม่เหมาะสม  

ซึ่งทั้งสองดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม  ธรรมเนียมของแต่ละชนชาติด้วย

บางอย่างบางชนว่าเหมาะ  บางคนเห็นไม่เหมาะ  อย่างนี้เป็นต้น

พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงอนุญาตให้ยกเลิกบ้างก็ได้  จะได้ไม่หยุมหยิมเกินไป

นี้ท่านให้ความเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์

และเพื่อให้ศาสนาดำรงอยู่ได้นาน



การบัญญัติพระธรรมวินัยนี้ต่างจากกฎหมายของคนทั่วไปอย่างหนึ่งคือ

เกิดเรื่องแล้วจึงบัญญัติ  คนแรกที่ทำผิดไม่ถูกลงโทษ

คือถือว่า  คนต้นบัญญัตินั้นก่อให้เกิดประโยชน์แก่หมู่สงฆ์ด้วย



ใครชอบอ่านหนังสือก็อ่านพระไตรปิฎกจะเกิดประโยชน์มาก

เป็นสิ่งที่คนทั้งหลายควรศึกษา

แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์  ไม่ทราบว่า

เดี๋ยวนี้มีใครจำได้ทั้งหมดหรือไม่

สมัยก่อนจะมีพระผู้ทรงพระไตรปิฎก

คือจำพระไตรปิฎกได้หมด  ว่าง่าย ๆ  

แต่บางครั้งก็แบ่งกันจำไปก็มี

เวลาเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาก็ไปกันเป็นคณะ

เดี๋ยวนี้เอาไปฝากไว้กับกระดาษกับหน่วยความจำอิเล็กทรอนิกส์กันหมด

เอาเข้าตู้  เข้าโลกไซเบอร์  แต่ไม่เอาเข้าใจ  ไม่นำพา

ศาสนาก็จะถอยลง

เพราะบางทีคนก็ชอบบอกว่า  พระไตรปิฎกล้าสมัย

สู้ไปอ่านธรรมะฮาวทู  ผิด ๆ  ถูก ๆ  ไม่ได้

เข้าใจง่าย  ถูกใจกว่ามาก  กดไลค์ก็ได้  สบายใจ

อันนี้ก็แล้วแต่จริตนิสัยแต่ละคนไปเถอะ

เพราะผู้แสวงหาของจริง

ก็จะได้ของจริง

แสวงหาของปลอมของหยาบ

ก็ได้หยาบ ๆ  ปนเศษกรวดเศษหินกันไป



เอวังก็มีเท่านี้ก่อน

พ. พุทธังกุโร
๑๔  มิถุนายน  ๒๕๕๖