ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

ศาสนาวิทยาศาสตร์ และ "ปาด" ในทัศนะของหลวงปู่ตื้อ




ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านหนังสือของ

. วชิรเมธี ในหลายกาลด้วยกัน

ที่ได้อ่านเพราะแต่ละแห่งที่ข้าพเจ้าทำงานนั้น

จะมีหนังสือเทือกนี้อยู่

หากโดยส่วนตัวแล้ว

ข้าพเจ้ามิได้ศรัทธา หรือสนใจจะซื้อหามาอ่านแต่อย่างใด

เพราะมันหมดยุคสมัยที่ข้าพเจ้าจะเสพธรรมปลอมเสียแล้ว

หลวงตามหาบัวเคยเทศนาเรื่อง "ธรรมจริง ธรรมปลอม" เอาไว้

ข้าพเจ้าจำได้เพียงลางเลาว่า

ธรรมปลอมนั้น หมายความว่า ธรรมะที่ออกจากปุถุชน

หรือแม้แต่อริยบุคคลใดก็ตาม

ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในภูมิธรรมนั้นแต่กล่าวธรรมของภูมินั้น

ธรรมที่ออกมาจากบุคคลดังกล่าว

ถือเป็นธรรมปลอมทั้งสิ้น

ว่าง่าย ๆ ก็คือ

อะไรที่ไม่รู้ตามภูมิจิตภูมิธรรมของตนแล้วพ่นสาธยายออกมา

อันนั้นล้วนเป็น "ธรรมปลอม"

เช่น ปุถุชนสาธยายธรรมของพระโสดาบันก็ตาม

หรือพระโสดาบันสาธยายธรรมของพระสกทาคามีก็ตาม

หรือแม้กระทั่งพระอนาคามีสาธยายธรรมของพระอรหันต์ก็ตาม

ล้วนเป็นธรรมปลอม

เพราะมิได้รู้เห็นด้วยตนเอง

แม้ว่าธรรมะที่พูดออกมานั้นจะเป็นของจริงก็ตาม

คือเป็นตัวเนื้อหาธรรมะก็อปปี้มาไม่ผิดเพี้ยนก็ตาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น

โดยวิสัยของธรรมะย่อมเป็นของเฉพาะบุคคล

แต่หากพระโสดาบันสาธยายธรรมตามภูมิตน

หรือพระสกทาคามีสาธยายตามภูมิตน

อย่างนี้จึงจะเป็นธรรมะของจริง

หรือหากปุถุชนสาธยายตาม "ภูมิ" ของตน

ก็ยังดีว่า พูดตามจริง พูดตามเห็นมาจริง



ธรรมเนียมพระป่านั้น

การจะเทศน์ได้ครูบาอาจารย์ต้องอนุญาตเสียก่อน

คือ มีการรับรองกันแล้ว

จึงปล่อยให้เทศนาว่าการได้

( เหตุผลข้อหนึ่งที่ต้องทำอย่างนี้คือ

จะได้ไม่เป็นการทำศาสนาให้เสื่อมเสีย

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ )

แต่ธรรมเนียมของพระสายอื่น

ข้าพเจ้าไม่ทราบ



หลวงปู่ตื้อ (อจลธมฺโม) เคยกล่าวไว้ในทำนองว่า

พวกนักปราชญ์ทั้งหลายที่กล่าวเรื่อง

พระพุทธเจ้าทรงดำเนินด้วยพระบาท ๗ ก้าว

ในกาลประสูติ มีนัยยะถึง

ธรรมะของพระองค์จะยิ่งใหญ่ขจรขยายไปทั้งเจ็ดแคว้นก็ดี

หรือพูดในทำนองว่า อิทธิปาฏิหาริย์ ต่าง ๆ ที่ปรากฏในพุทธประวัติ

เป็นบุคคาธิษฐาน

ที่เป็นสำบัดสำนวนสมัยโบราณเอาไว้ให้ชนรุ่นหลังตีความก็ดี

ท่านว่า ปราชญ์ เหล่านี้ ไม่ใช่ ปราชญ์ ตัวจริง

แต่เป็น "ปาด"

ภาษาอีสานเรียก "เขียดตะปาด"

ก็คือเขียดชนิดหนึ่ง

กระโดดโหยงเหยงไปมาหาสาระมิได้

อยากรู้ว่าท่านว่าใคร

ก็ไปสืบค้นดูได้

ใครที่เป็นต้นเรื่องพูดว่า การก้าวพระบาท ๗ ก้าว ของพระพุทธเจ้า

เป็นบุคคลาธิษฐาน สื่อในถึงการประกาศศาสนาไปทั้งเจ็ดแคว้น

มิใช่เป็นปาฏิหาริย์ของพระ(ปัญญาธิกะ)โพธิสัตว์

ผู้บำเพ็ญบารมีมาถึง ๒๐ อสงไขย แสนมหากัปป์

เพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ก็ท่านผู้นั้นแหละ

(หึหึ)



ความคิดแบบนี้ส่งผลมาถึง ปาด สมัยหลัง

คือในยุคปัจจุบันนี้เอง

ที่เอาธรรมะของพระพุทธเจ้า

ไปขายกิน

เอาไปบิดไปพลิ้วเป็นธรรมะฮาวทู

เพื่อสนองตัณหา

สนองความคิดความเชื่อส่วนตัว

เอาไปรับใช้อุดมการณ์อันตนเองคิดขึ้นมาเอง

เพื่อให้สอดคล้องกับลัทธิ "สุขนิยม"



ธรรมะทั้งหลายในสมัยนี้เป็นไปเพื่อ

"ความสุข"

ทำทุกอย่างเพื่อความสุข

ซึ่งความสุขประเภทที่ธรรมะฮาวทู

นำเสนอให้แก่มหาชนชาวพุทธทุกวันนี้นั้น

หากพิจารณาให้ดี

ก็จะเห็นว่า

เป็นประเภท "ความสุขจอมปลอม" ทั้งสิ้น



หลวงปู่เทสก์ท่านว่า

"ที่ว่าสุข ๆ สุขนั้นก็คือ

ความมัวเมาในทุกข์นั้นเอง"



มิพักถึงเรื่องนักวิชาการวิชาเกินทั้งหลาย

ที่พยายามศึกษาพุทธศาสนาแบบ "ตำรา"

หรือศึกษาตามแบบตะวันตก

ไม่ได้ศึกษาด้วยวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

นั่นคือการ "ปฏิบัติ"

เรียนปริยัติแล้วก็พล่ามไปเรื่อย

ศึกษาถึงปริญญาโท ปริญญาเอก ก็เท่านั้น

เพราะเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องการศึกษาแบบตะวันตก

สมัยนี้อาจดีหน่อย

ที่มีบังคับให้พระหรือโยมก็ตาม

ที่ศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา

( "พุทธศาสตร์" เขาให้ชื่อใหม่ว่าอย่างนี้ )

มีคอร์สอบรมวิปัสสนาก่อนจะจบหลักสูตร

แม้จะเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ

แต่ก็ดีกว่าการด้นเดาตามตำราอยู่หน่อยหนึ่ง

สมัยก่อนนั้นพระบางรูปรจนาตำราเรื่องสมาธิเป็นคุ้งเป็นแคว

ทั้งที่ไม่ได้ทำสมาธิแม้นสักเท่าปลายเล็บ

ขณิกสมาธิก็ยังไม่รู้จัก

แต่พูดได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

เลยไปถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ไปนู่น

ปฐมฌาน รู้จักหรือเปล่าก็ไม่รู้

แต่ท่องได้แน่ว่ามีอาการห้า

อ่านแล้วอยากหัวเราะ

ห้าห้าห้า


อ่านทัศนะผู้เขียนเรื่อง

"ธรรมะดับร้อน"

ว่าด้วยเรื่อง "พรหม" ก็ดี

หรือว่าด้วยเรื่อง "นาค" ก็ดี

หรือดูท่าทีการพูดถึงเรื่องฤทธิ์ก็ดี

ในขณะที่ท่านผู้เขียนรจนาอยู่นั้น

(ในขณะนี้ไม่ทราบว่าท่านเปลี่ยนทัศนะคติแล้วหรือยัง)

ก็พอจะทราบได้ว่า

ผู้เขียนมีความเห็นไปในแนวทางใด

“...ด้วยเหตุนี้ การที่พระพุทธองค์ทรงคัดค้านพกพรหม
หากมองผ่านความหมายระหว่างบรรทัด
ก็เท่ากับว่าทรงคัดค้านหลักการของศาสนาพราหมณ์ นั่นเอง..."
(.วชิรเมธี "ธรรมะดับร้อน")

ซึ่งมันก็ไม่ผิดหากจะตีความอย่างนี้

แต่แท้แล้วเรื่องดังกล่าว

มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องตีความให้วุ่นวาย

เรารู้ได้เองอยู่แล้ว

และมันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว

ว่าพระพุทธเจ้านั้น

ท่านตั้งศาสนาใหม่

อันเก่าที่ไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ทิฐิกันไป

ไม่เห็นจะต้องมองผ่านความหมายระหว่างบรรทัด

หรือมองผ่านการย่อหน้า การเว้นวรรค

ผ่านช่องไฟ อะไรทั้งสิ้น


จะว่าไปในยุคที่เหล็กลอยฟ้าได้

เราเชื่อลัทธิวิทยาศาสตร์

มากกว่าจะเชื่อศาสนา

บางครั้งการทำงานด้านศาสนา

ก็เอาลัทธิวิทยาศาสตร์มาเคลือบทา

( ดังจะเห็นได้จากหนังสือของท่านผู้เขียนท่านนี้ในหลาย ๆ เล่ม )

ทั้งที่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว

วิทยาศาสตร์นั้นคือ มิจฉาทิฐิ อย่างหนึ่ง

ถ้าจะพูดให้ถูกต้องตามหลักสมัยโบราณ

เราก็ต้องบอกว่า

พวกนักวิทยาศาสตร์นั้น

เป็นพวกเดียรถีย์

อย่างนี้ก็ไม่ผิด

เพราะมันคือแนวความคิดความเชื่ออย่างหนึ่งเท่านั้น

และที่เราสามารถบอกว่ามันเป็น "ลัทธิ"

ก็เพราะว่า

วิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์หนึ่ง

ที่มุ่งแสวงหา "ความจริง"

หากความจริงที่พวกเขาแสวงหานั้น

เป็นแค่ "สมมติสัจจะ" เท่านั้น

จึงได้แต่พายเรือในอ่างอยู่ร่ำไป

เป้าหมายสูงสุดของวิทยาศาสตร์

ก็เพื่อ "ความสุข" เหมือนลัทธิอื่น ๆ

(และดูเหมือนว่าจะตอบสนอง "ความสุข"

ของมนุษยชาติได้มากกว่าลัทธิอื่น ๆ เสียด้วย

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า

ทำไมผู้คนจึงมัวเมาในลัทธินี้กันนัก)

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า

ลัทธิทั้งหลายที่เกิดมาบนโลก

ก็ล้วนต้องการแสวงหา "ความจริง"

เพื่อ "ความสุข" ทั้งสิ้น

แม้เบื้องต้นของพระโพธิสัตว์ก็เช่นกัน

หากเมื่อแสวงหาเข้าไปแล้ว

มันกลับกลายเป็นว่า

ทั้งความทุกข์ และ ความสุข นั้น

กลับเกิดมาจากแหล่งเดียวกัน

ควรทิ้งทั้งสองอย่างเสีย

(ท่านจึงตรัสเรียกทางที่ดำเนินไปเพื่อการนี้ว่า ทางสายกลาง)

จึงจะประสบ "สุข" ที่แท้จริง

( ซึ่ง คำว่า "สุข" ในที่นี้

มิใช่ "สุข" ตามความหมายข้างต้น

หากเป็นภาวะเหนือสิ่งทั้งปวง

ที่เรียกว่า

นิพพาน

นั่นเอง )

แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเป็นบุคคลที่ฉลาดในอุบาย

ฉลาดในอรรถะ พยัญชนะ ฯลฯ

จึงทรงตรัสเสียว่า

"นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"

เอาไว้เป็นกุศโลบายให้มนุษย์กิเลสหนา

"สุขนิยม"

ได้หันมาสนใจเรื่องของตัวเอง

เพื่อความถึง "ที่สุดแห่งทุกข์"

คือ "พ้นทุกข์" ไปได้

ซึ่งแน่นอนว่า การพ้นทุกข์นี้ หมายถึง การพ้นสุข ด้วย

เพราะเราต้องไม่ลืมว่า

"ที่ว่าสุข ๆ สุขนั้นก็คือ

ความมัวเมาในทุกข์นั้นเอง"

จุดนี้คือจุดที่พุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่น

และลัทธิอื่นทั้งหมด

ฝรั่งตาน้ำข้าวผู้ไม่เข้าใจในศาสนา

และชอบจำแนกแยกแยะประเภท

ก็เอาคำว่า "-ism"

มาต่อท้ายศานาพุทธเสีย

ทำให้พุทธศาสนาในสายตาต่างชาตินั้น

ดูต่ำเตี้ยเรี่ยแนวความคิดอื่น กลายเป็นลัทธิหนึ่งไปสิ้น

นอกจากนี้ยังพยายามยกเอาวิทยาศาสตร์แยกประเภทออกไป

ไม่ให้รวมกับลัทธิต่าง ๆ

ด้วยข้ออ้างโง่ ๆ ว่า

"พิสูจน์" ได้

แล้วเราคนไทย (รวมถึงคนทั้งโลก)

ก็สวามิภักดิ์ต่อ "ศาสนาวิทยาศาสตร์"

หลงใหลใน "สุขนิยม"

จนกระทั่งโลกวุ่นวายด้วยกิเลสตัณหา

และ "สงคราม" อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เอวัง

ทิวฟ้า  ทัดตะวัน
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น: