"ว่าด้วยเทศกาลและการตัดผม"
ต้องขึ้นหัวข้อเอาไว้ก่อน
เพราะจะได้ไม่ลืม
เพราะปกติ
เวลาเล่าอะไรไป ๆ
ก็จะเข้ารกเข้าพงไปเรื่อย
จนลืมไปว่า
เรื่องที่ตั้งใจจะเล่าแต่แรกนั่นมันเป็นเรื่องอะไร
บางทีก็จำได้
แต่พอไปเรื่องอื่นเสียมาก
ก็ขี้เกยจจะเล่าเรื่องแรก ๆ แล้ว
เริ่มเลยดีกว่า
ไม่เช่นนั้นจะลืมอีก
ว่าด้วยเรื่องเทศกาลก่อน
ด้วยเพราะวันก่อนอ่านข่าวเขาจะเลื่อนการเปิดเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจากเดือนมิถุนายน เป็นเดือน กันยายน
เพื่อให้ตรงกับเพื่อนบ้าน
ก็มีหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งในแง่ที่ว่า ทำไมเขาต้องปิดต้องเปิดเดือนนั้นเดือนนี้
เหตุผลที่ยกกันมามากที่สุดคือ หน้าร้อนมันร้อน
ก็ควรจะปิดเทอม เพราะไปเรียนไม่ไหว ร้อนเกินไป เรียนไม่รู้เรื่อง สู้เอาเวลาไปเที่ยวเตร่ทำกิจกรรมกับที่บ้านดีกว่า
ประกอบกับหน้าร้อนวันหยุดยาวเยอะเสียด้วย
เกรงว่าจะไม่มีสมาธิในการเรียน
ส่วนคนที่สนับสนุนการเปลี่ยนก็บอกว่า ต้องปรับตามภูมิภาคเขา เขาจะเปิดเสรีอาเซียน ประเทศอาเซียนเขาเปิดปิดอย่างนี้กัน พวกฝรั่งก็เปิดปิดอย่างนี้กัน และถ้าเปิดกันยายนก็ดีเพราะมันเลย ๆ หน้าฝนมาแล้ว เดือนมิถุนายนฝนตกนักเรียนไปเรียนลำบาก แถมหน้าฝนถ้าปิดเทอมเด็กก็จะได้ช่วยพ่อแม่ทำนา ว่าไปโน่น
ถามว่าข้าพเจ้าเห็นด้วยกับฝ่ายใด ข้าพเจ้าก็คงเห็นด้วยกับการเปิดเทอมตอนมิถุนายนอยู่ดี ประเทศอาเซียนเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งดังนั้นข้าพเจ้าคิดเอาเองว่าเขาก็คงเปิดปิดตามเดือนของฝรั่ง แต่เดือนของฝรั่งมันปิดเทอมกันตอนฤดูร้อน แต่อากาศเอเชียช่วงที่เขาร้อนเราไม่ร้อนเรากำลังจะหนาว
ถ้าอาเซียนจะปรับการเปิดเทอมให้ตรงกัน ทำไมไม่ปรับให้มาเปิดเดือนมิถุนายนเหมือนเรา อันนี้ก็น่าคิด
เรื่องจะปิดเทอมแล้วให้เด็กไปช่วยทำนานั้นอย่าหวัง ไม่ใช่เรื่อง แล้วอีกอย่างผู้เริ่มต้นการเปิดปิดนี้คือมหาวิทยาลัย ถามว่า เด็กจุฬาฯ จะไปทำนาที่ไหน หรือเด็กมหาวิทยาลัยอื่นก็เถอะ ลูกชาวนามาเรียนมหาวิทยาลัยกี่คน หรือมีกี่มหาวิทยาลัยในไทยกันที่สอนการทำนาแล้วเด็กต้องไปทำนาจริงๆ ปิดเทอมฝนตกก็นอนมันอยู่บ้านให้สบายเสียก็เท่านั้น
พูดเรื่องนอนอยู่บ้าน ไม่มีอะไรทำก็เล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเบื่อแล้วทำอะไร ออกไปไหนก็ลำบาก เด็กอาจจะอยากอ่านหนังสือ ก็ไม่แน่ เด็กไทยอาจจะอ่านหนังสือมากขึ้นก็ได้ ถ้ามีการปิดเทอมฤดูฝนกันจริง ๆ
เพราะจะว่าไปการอ่านหนังสือมันก็เป็นเครื่องบันเทิงเริงใจแก่คนที่มีบ้านอึบทึบเช่นพวกยุโรปที่มีฤดูหนาวอันยาวนาน ออกไปไหนไม่ได้ก็นอนอยู่บ้านอ่านหนังสือ มันก็เป็นวัฒนธรรมของเขา
ส่วนของไทยเรามีฤดูหนาวแค่ไม่กี่เดือน นอกนั้นอากาศข้างนอกมันรื่นรมย์กว่านัก ก็ไปเที่ยวเตร็ดเตร่มันเสียเลย
อีกประการหนึ่งวัฒนธรรมไทยไม่ได้เป็นวัฒนธรรมแห่งการอ่าน
เมื่อคืนข้าพเจ้าก็เปรยเรื่องนี้ในวงพบปะกันของนักเขียน ชาวค่ายอ่านเขียนเรียนคิด ที่ร้านอีเมียร์
เราเป็นวัฒนธรรมของการฟัง วรรณกรรมของเราก็เป็นมุขปาฐะ ขุนช้าง-ขุนแผน ก็มาจากมุขปาฐะ
หรือแม้แต่คัมภีร์ทางพระพุทธศานาก็เป็นมุขปาฐะ และสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ มันเป็นอย่างนี้มานานมาก
หนังสือวรรณคดีของเรามีไม่กี่เล่มที่ตกทอดมา ตำราต่าง ๆ เราถ่ายทอดกันมาโดยปากเสียทั้งสิ้น
จดจารึกไว้ก็ไม่มาก จนกระทั่งวัฒนธรรมหนังสือมันเริ่มต้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางนี่เอง
อนึ่งสมุด หรือกระดาษนั้นมันหายาก หนังสือจึงเป็นของยากที่จะมี
การรณรงค์ให้เกิดการอ่านในประเทศไทยจึงเป็นเหมือนการพยายามจะเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาพอสมควร ในชีวิตนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นก็เป็นได้ เว้นเสียแต่เราบังคับเอา
ข้าพเจ้าอ่านข่าวเห็นว่าประเทศสิงคโปร์เด็กของเขาอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละสี่สิบถึงห้าสิบเล่ม อัตรานี้น่าจะถือว่ามากแล้วสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ค่อยชอบอ่าน
ข้าพเจ้าก็อยากรู้ว่าสถิติแบบนี้เขาได้มาได้ยังไง
ก็พบคร่าว ๆ ว่า เขาให้เด็กนักเรียนถือหนังสือไปอ่านที่โรงเรียน เช่น ก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ หรืออะไรเทือกนี้ แล้วก็บันทึกไว้ จุดนี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่ามันถูกต้องหรือไม่ท่านใดมีความรู้ว่าเขาทำยังไงจริง ๆ ก็โปรดบอกข้าพเจ้าด้วย
เห็นเขาว่าอย่างนี้แล้วข้าพเจ้าก็มานึกถึงตัวเองมั่งว่า ตัวเองอ่านหนังสือไปกี่เล่มต่อหนึ่งปี
ข้าพเจ้ามีหนังสือที่ซื้อเองประมาณหนึ่งพันหกร้อยเล่ม ข้าพเจ้าจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ เพราะถ้าจะเอาจริงต้องไปเปิดสมุด เวลาซื้อหนังสือมาข้าพเจ้าจะบันทึกไว้ว่าได้มาวันที่เท่าไหร่ และลงทะเบียนไว้ว่าเล่มที่ได้มาเป็นเล่มที่เท่าไหร่แล้ว คือทำเหมือนห้องสมุด แต่ถ้านับที่อ่านจริง ๆ ก็คงมากกว่าหนึ่งพันหกร้อยกว่าเล่มที่มี เพราะตอนเด็ก ๆ ข้าพเจ้ามักยืมหนังสือจากห้องสมุดมาอ่าน ทั้งตอนโตแล้วก็ยังยืมอยู่ในบางเล่มที่ไม่อยากซื้อหรือไม่มีในร้านหนังสือ รวม ๆ แล้วก็ประมาณเอาว่าสักสองพันเล่ม
อันนี้ไม่รวมพวกนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรืออ่านข่าวตามอินเตอร์เน็ต
ข้าพเจ้าอ่านหนังสือมาตั้งแต่อายุประมาณแปดขวบ ความจริงก่อนหน้านั้นก็อ่าน จำพวกนิทานภาพสำหรับอะไรเทือกนั้น
ก็สรุปเอาว่าตอนนี้ข้าพเจ้าอายุย่างยี่สิบแปด ก็ลบกันเป็นยี่สิบปีพอดีกับการอ่าน หารสองพัน ก็ตกปีละประมาณหนึ่งร้อยเล่ม บวกลบ
ในฐานะคนชอบอ่านหนังสือ หนึ่งร้อยเล่มต่อปีก็ถือว่าธรรมดา
คนอื่นที่รักการอ่านคงอ่านได้มากกว่าข้าพเจ้า เพราะเอาเข้าจริงบางเวลาข้าพเจ้าก็งานเยอะ หรือขี้เกียจที่จะอ่าน
แต่แท้แล้ว ข้าพเจ้าต้องยอมรับตรง ๆ ว่า ข้าพเจ้ามีทุกอย่างได้ในวันนี้เพราะอ่านหนังสือ มันเป็นความโชคดีหรือเพราะผลของกรรมดีอย่างนี้ก็ได้ที่ข้าพเจ้าประพฤติตัวผิดแผกไปจากวัฒนธรรม เพราะที่บ้านข้าพเจ้าก็ไม่มีใครอ่านหนังสือกัน น้องสาวข้าพเจ้าก็ไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ มันไม่ได้เกิดมาจากพันธุกรรม หรือสิ่งแวดล้อม แต่มันเกิดมาจากสิ่ง ๆ หนึ่งในตัวบุคคลนั้น อันนี้ข้าพเจ้าสรุปเอง
ถ้าสมมติว่าข้าพเจ้าดำเนินรอยตามวัฒนธรรม คือ ฟัง และเชื่อ ข้าพเจ้าอาจจะไม่มีวันนี้ก็ได้ เพราะโดยปกติข้าพเจ้าเป็นคนไม่ค่อยเชื่อ และก็ไม่ชอบฟัง เพราะการฟังมันต้องแล้วแต่คนพูด เขาอยากพูดอะไรเขาก็พูดไปเรื่อย เราต้องจับประเด็นเอง และถ้าเราอยากจะข้ามช่วงน่าเบื่อในการพูดของเขาไปฟังแต่ช่วงที่ตื่นเต้นที่เราอยากฟังอย่างนี้ก็ทำไม่ได้ เว้นแต่นั่นมันจะเป็นเทปบันทึกเสียงที่เราฟังมันแล้วรอบหนึ่ง
แต่การอ่านมันทำได้ ช่วงไหนมันบ่าเบื่อก็อ่านเร็ว ๆ เสีย ช่วงไหนไม่อยากอ่านก็ลัดไปเสียก็ได้
การอ่านมันดีอย่างนี้ ยิ่งใครอ่านได้เร็วก็ยิ่งได้เปรียบ
ว่าจะพูดเรื่องตัดผม เหนื่อยเสียก่อน
ตัดผม เอาไปเป็นหัวข้อต่อไปก็แล้วกันครับ
ธัชชัย ธัญญาวัลย
11 08 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น