เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๙
ข้าพเจ้าได้อ่านเมื่อนานมาแล้ว วันนี้อยากจะนำมาลงไว้ เผื่อมีผู้ใดสงสัยในเรื่อง อวิชชา
อวิชชารวมตัว ปกปิดจิตแท้-ธรรมแท้
พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ แสดงในเชิงตอบปัญหาธรรมแก่พระเถระสำคัญมากองค์หนึ่งในสมัยปัจจุบัน มีเนื้อหาและข้อความดังนี้
นี่คือเวลาเริ่มพิจารณาเข้าสู่จุดรวมของกิเลสวัฏฏ์ ซึ่งได้แก่อวิชชา ขณะที่พิจารณาก็ยังไม่ทราบว่าตัวเองพิจารณาอวิชชา เป็นแต่เพียงคิดว่า นี้มันอะไรนา เป็นข้อข้องใจสงสัยอยู่ตรงนี้ แล้วก็หยั่งจิตลงไปที่นั่น ทำความสนใจในจุดนั้น พิจารณาว่ามันเป็นยังไงไปยังไงมายังไง แต่ก็ไปถูกจุด ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ชื่อมันว่าอะไรเป็นอวิชชา อวิชชาที่แท้จริงกับชื่อมันผิดกันมาก เห็นแต่กระแสของมันกระจายไปทั่วโลก นั้นมันเป็นเพียงกิ่งก้าน เหมือนเราไปหาจับโจรผู้ร้าย ไปจับก็จะได้แต่สมุนของมันเท่านั้น จับคนไหนก็เป็นสมุนของมันๆ ไม่ทราบว่านายมันอยู่ที่ไหน มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเห็นหัวหน้ามัน
จับมากต่อมาก จับเข้าไปๆ ตีตะล่อมเข้าไปๆ ที่เรียกว่า ล้อมโจร คือ เจ้าหน้าที่มีจำนวนมากและก็มีกำลังมาก ต่างคนต่างอาศัยกันรวมกันเข้าก็มีกำลังมาก ล้อมรอบจุดที่โจรอาศัยอยู่ จับคนนี้ มัดคนนั้นเข้าไปๆ เมื่อถูกถาม ตามธรรมดาโจรมันจะไม่บอกว่าใครเป็นนายของมัน ถ้าใครเป็นโจรก็มัดมันเข้าไปหมดจนไม่ให้มีเหลือสักคนในวงล้อมนั้น คนสุดท้ายนั้นน่ะเป็นนายโจร คนสุดท้ายมันจะอยู่ในที่สำคัญ คือสมุนของโจรจะต้องล้อมรอบขอบชิดรักษาไว้อย่างดีทีเดียว ไม่ให้พบหัวหน้าของมันอย่างง่ายดาย
ถูกจับเข้าไปเป็นลำดับๆ จนถึงอุโมงค์ที่หัวหน้าโจรหลบซ่อนก็ฆ่าหมดไม่มีเหลือในที่นั้นแล้ว มันก็ทราบชัดกันละที่นี่ ว่าหัวหน้าโจรตัวฉลาดได้ถูกฆ่าให้สูญพันธุ์ไปเสียแล้ว อันนี้เป็นแต่เพียงรูปเปรียบ คือจิตที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งใด มันก็เป็นแขนงของความหลง ไม่ว่าจะหลงทางดีทางชั่ว มันเป็นเรื่องของอวิชชาและกิ่งก้านของอวิชชาทั้งนั้น แต่ตัวอวิชชาจริงๆ มันไม่มี เพราะฉะนั้นอุบายวิธีพิจารณาต่างๆ ถ้าจะเทียบอุปมาก็เหมือนอย่างเราวิดน้ำเพื่อจะเอาปลา ถ้าน้ำมีมาก ปลาจะมีอยู่จำนวนมากน้อยเพียงไรก็ไม่ทราบ วิดน้ำออกจนน้ำแห้งลงไปเป็นลำดับๆ ปลาก็รวมตัวเข้าไปๆ ตัวไหนอยู่ที่ไหนก็วิ่งลงในน้ำ ๆ น้ำก็ถูกวิดออกเรื่อย ๆ ปลาก็รวมตัวเข้าไป ตัวไหนวิ่งไปไหนก็มองเห็นเพราะน้ำแห้งลงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเมื่อน้ำแห้งแล้ว ปลาก็ไม่มีที่หลบซ่อนก็จับตัวปลาได้
ขึ้นชื่อว่ารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสกับอาการของจิตที่คละเคล้ากัน มันก็เหมือนกับน้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของปลา การพิจารณาสิ่งเหล่านี้ก็ไม่หมายจะเอาสิ่งเหล่านี้ แต่จะฆ่ากิเลสต่างหาก เหมือนกับคนวิดน้ำไม่หมายจะเอาน้ำ แต่หมายจะเอาปลาต่างหาก การพิจารณาก็ไม่หมายจะเอาสิ่งเหล่านี้ แต่ให้รู้สิ่งเหล่านี้เป็นลำดับๆ พอรู้ไปถึงไหนจิตก็หายกังวล รู้ทั้งสิ่งที่ไปเกี่ยวข้อง รู้ทั้งตัวเองผู้ไปเกี่ยวข้องว่าเป็นผู้ผิดเป็นความเห็นผิดของตัว จึงไปหลงรักหลงชังในสิ่งเหล่านั้น ทีนี้วงแห่งการพิจารณาก็แคบเข้ามาๆ เหมือนกับน้ำแห้งลงไปๆ จะพิจารณาในธาตุในขันธ์อะไร มันก็เหมือนกับสิ่งทั่วไปภายนอก มันไม่มีอะไรแปลกกันถ้าเป็นด้านวัตถุ พูดถึงเรื่องธาตุก็เป็นธาตุอันเดียวกัน มันมีแปลกอยู่ที่อาการของจิตแสดงตัวออก แต่เราไม่รู้ก็ไปหมาย อันนี้มันก็ยังเป็นกิ่งก้านของอวิชชาอยู่ แต่มันจะซึมซาบเข้าไปหาส่วนใหญ่ พิจารณาเห็นสิ่งที่มาเกี่ยวข้องชัดเท่าไร ก็ยิ่งเห็นตัวออกไปเกี่ยวข้องชัดขึ้นทุกที เหมือนกับน้ำแห้งลงไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นตัวปลาชัดขึ้นทุกทีๆ
การพิจารณาเห็นสภาพทั้งหลายทั้งภายนอกกายทั้งภายในกาย ทั้งในเจตสิกธรรมของตัวชัดขึ้นเท่าไร มันก็เห็นจุดที่อยู่ที่อาศัยของตัวการสำคัญชัดขึ้นๆ เมื่อพิจารณาตะล่อมเข้าไป ความรู้ของจิตมันก็แคบเข้าไป ความกังวลของใจก็น้อยเข้าไป กระแสของใจที่ส่งออกไปก็แคบ พอกระเพื่อมตัวออกไปเกี่ยวกับสิ่งใดก็พิจารณาเกี่ยวกับสิ่งนั้นด้วย พิจารณาความกระเพื่อมของจิตที่ออกไปแสดงตัวด้วย ก็เห็นทั้งสองเงื่อน รู้เหตุรู้ผลกันทั้งสองด้าน คือด้านที่ไปเกี่ยวข้องสิ่งที่ถูกเกี่ยวข้องหนึ่ง ผู้ไปเกี่ยวข้องหนึ่งปัญญาก็ขยับตัวเข้าไปเป็นลำดับๆ
เมื่อเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริงๆ โดยมากนักปฏิบัติถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยแนะไว้ก่อนแล้ว จะต้องไปถือเอาตัวนั้นแลว่าเป็นตัวจริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้พิจารณาเห็นชัดภายในใจแล้วว่า ได้รู้เท่าและปล่อยวางไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ แต่ผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนั้นคืออะไรนั่น ทีนี้ก็ไปสงวนอันนั้นไว้ นี่แลที่ว่าอวิชชารวมตัวแล้ว แต่กลับมาเป็นตัวขึ้นโดยไม่รู้สึก จิตก็มาหลงอยู่นั้น ที่ว่าอวิชชาก็คือหลงตัวเองนี่แหละ ส่วนที่หลงสิ่งภายนอกนั้นยังเป็นกิ่งก้าน ไม่ใช่เป็นเรื่องของอวิชชาอันแท้จริง
การมาหลงอันนี้แล มาหลงผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนี้แล ผู้นี้เป็นอะไรเลยลืมวิพากษ์พิจารณาเสีย เพราะจิตเมื่อมีวงแคบเข้ามาแล้วจะต้องรวมจุดตัวเอง จุดของจิตที่ปรากฏตัวอยู่เวลานั้นจะเป็นจิตที่ผ่องใส มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความองอาจกล้าหาญ ความสุขก็รู้สึกว่าจะรวมตัวอยู่ที่นั่นหมด สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นผลของอะไร ถ้าจะพูดว่าเป็นผลก็ยอมรับเป็นผล จะพูดว่าเป็นผลของปฏิปทาเครื่องดำเนินก็ถูกถ้าหากเราไม่หลงอันนี้นะ ถ้ายังหลงอยู่มันก็ยังเป็นสมุทัย นี่ละจุดใหญ่ของสมุทัย
แต่ถ้านักปฏิบัติผู้มีความสนใจพิจารณาในสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอแล้ว ไม่มองข้ามไป ยังไงก็ทนไม่ได้ ต้องสนใจเข้าพิจารณาจุดนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณาและเคยรู้เรื่องมาแล้วใจก็ไม่สัมผัส จะแยกจิตออกไปพิจารณาอะไรมันก็ไม่สัมผัส เพราะพอตัวในสิ่งนั้นๆ แล้ว อาการที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากนั้น จิตที่ปรุงขึ้นมามันก็ปรุงขึ้นจากนั้น สุขที่ปรากฏขึ้นก็ปรากฏอยู่ที่นั่น ความสุขที่ปรากฏขึ้นมามันก็มีอาการเปลี่ยนแปลงให้เห็นซึ่งเป็นเหตุให้พิจารณาอีก เพราะในขั้นนี้เป็นขั้นที่ใช้ความสังเกตมาก เมื่อสังเกตความสุขมันก็ไม่แน่นอน เพราะความสุขที่ผลิตจากอวิชชามันเป็นสมมุติ บางทีก็มีอาการเฉาๆ บ้างเล็กๆ น้อยๆ พอให้ทราบว่ามันแสดงอาการไม่สม่ำเสมอ มันค่อยเปลี่ยนตัวเองอยู่อย่างนั้นตามขั้นแห่งธรรมที่ละเอียด นี่เป็นจุดที่จะนอนใจตายใจและยอมเชื่อสำหรับผู้ที่ปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง แต่จะมานอนใจในจุดนี้ ติดในจุดนี้ หากไม่มีผู้อธิบายให้ทราบไว้ล่วงหน้าก่อน
ถึงจะนอนใจก็ทนที่จะทราบไม่ได้เหมือนกันถ้าใช้ความสนใจ เพราะมีเท่านั้นเป็นสิ่งที่ดูดดื่มของใจ เป็นเหตุให้ดูดดื่ม เป็นเหตุให้พอใจในสิ่งที่ปรากฏนั้น เท่าที่เคยพิจารณามาเป็นอย่างนั้น จนไม่ทราบว่าอะไรเป็นอวิชชา ก็เลยเข้าใจว่าอันนี้แหละที่จะเป็นนิพพาน อันสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลานี้แล คำว่าตลอดเวลาในที่นี่หมายถึงตลอดเวลาของผู้มีความเพียร มีการชำระซักฟอกกันอยู่เสมอ ไม่นอนใจติดอยู่กับสิ่งนั้นถ่ายเดียว ความสงวนก็มาก อะไรจะมาแตะต้องไม่ได้ ระมัดระวังอย่างเต็มที่ พออะไรมาสัมผัสก็รีบแก้กันทันที
แต่สิ่งที่รักสงวนนั้นตนหาได้ทราบไม่ว่าคืออะไร ทั้งที่ความรักความสงวนนั้นมันก็เป็นภาระของจิตอยู่โดยดี แต่ในเวลานั้นมันไม่ทราบ จนกว่าสมควรแก่กาลที่ควรรู้แล้วจึงเกิดความสนใจที่จะพิจารณาในจุดนี้ นี่มันคืออะไรนา ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณามา แต่สิ่งนี้มันคืออะไรนา ที่นี่จิตก็จ่อเข้าไปตรงนั้น ปัญญาก็สอดส่องเข้าไป นี้มันคืออะไรแน่นะ อันนี้มันเป็นความจริงแล้วหรือยังไม่จริง อันนี้เป็นวิชชาหรือเป็นอวิชชา มันยังเป็นข้อกังขาสงสัยอยู่นั้นแหละ
แต่อาศัยการพิจารณาทบทวนด้วยปัญญาอยู่ไม่หยุด เพราะเป็นสิ่งไม่เคยรู้ไม่เคยประสบมาก่อน ว่าทำไมมันจึงรัก ทำไมมันจึงสงวน ถ้าหากว่าเป็นของจริงแล้วทำไมจะต้องรักสงวนกัน ทำไมจะต้องรักษากัน ความรักษานี่มันก็เป็นภาระ ถ้าอย่างนั้นอันนี้มันก็ต้องเป็นภัยอันหนึ่งสำหรับผู้สงวนรักษา หรือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าไว้ใจ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ทราบนะว่านั่นคืออะไร จะเป็นอวิชชาจริงหรือไม่ เพราะเราไม่เคยเห็นนี่ว่าวิชชาที่แท้จริงกับอวิชชามันต่างกันอย่างไร วิมุตติกับสมมุติมันต่างกันอย่างไร ปัญญาก็เริ่มสนใจพิจารณาละที่นี่
อันนี้รู้สึกว่าพิสดารมาก ถ้าจะพูดตามที่พิจารณามาหรือย่นย่อเข้ามาเฉพาะให้ได้ความตามโอกาสอันควร สรุปกันทีเดียวว่า อันใดที่ปรากฏตัวขึ้นมาให้พิจารณา อันนั้นสิ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น นี่หมายถึงธรรมละเอียดปรากฏอยู่ที่ใจ แม้ที่สุดจุดที่มีความสว่างไสวอยู่นั้นแลคือจุดอวิชชาแท้ กำหนดลงไปที่นั่นด้วยปัญญาสภาวธรรมทั่วๆ ไปนั่นเป็นสภาพธรรมอันหนึ่งๆ ฉันใด ธรรมชาตินี้ก็เป็นสภาพธรรมอันหนึ่งฉันนั้น เราจะถือว่าเราเป็นของเราไม่ได้ แต่ความสงวนอยู่นี้แสดงว่าเราถือว่าเป็นเราเป็นของเราซึ่งเป็นความผิด
ปัญญาสอดเข้าไปว่านี่มันเป็นอะไรแน่ๆ นะ เหมือนกับว่าเราย้อนมาดูตัวของเราเรามองออกไปข้างนอก ดินฟ้าอากาศเราก็เห็น มีอะไรมาผ่านทางสายตาเราก็เห็น แต่เมื่อเราไม่มองมาดูตัวของเรา เราก็ไม่เห็นตัวของเรา ปัญญาขั้นนี้รวดเร็วมาก ย้อนกลับไปกลับมาดูจุดสุดท้ายหรือวาระสุดท้าย การพิจารณาก็เหมือนกับพิจารณาสิ่งอื่น ไม่พิจารณาเพื่อถือเอา พิจารณาเพื่อให้รู้สิ่งนั้นตามความจริงของมันโดยถ่ายเดียว
เวลาอันนี้จะดับ มันไม่เหมือนสิ่งทั้งหลายดับ สิ่งทั้งหลายดับเป็นความรู้สึกของเราว่าเข้าใจแล้วในสิ่งนี้ แต่อันนี้ดับมันไม่เป็นอย่างนั้น มันดับแบบสลายลงไปทันทีเหมือนฟ้าแลบ คือมันเป็นขณะอันหนึ่งที่ทำงานของตัวเอง หรือว่ามันพลิกก็ได้ มันพลิกคว่ำแล้วหายไปเลย พออันนี้หายไปแล้วถึงจะทราบว่า นี้คืออวิชชาแท้ละที่นี่ เพราะเหตุว่าอันนี้หายไปแล้วมันไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมาให้เป็นข้อสงสัย
สิ่งที่เหลืออยู่ก็ไม่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์และไม่เคยเห็นก็ตาม แต่เวลาปรากฏในขณะนั้นมันก็ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสงสัย นั่นละภาระมันถึงหมดไป คำว่าเราก็หมายถึงอันนี้เอง หมายถึงอันนี้ยังตั้งอยู่ พิจารณาอะไรก็พิจารณาเพื่ออันนี้ คำว่ารู้ก็คือเราตัวนี้รู้ คำว่าสว่างก็เราสว่าง คำว่าเบาก็ว่าเราเบา คำว่าสุขก็ว่าเราสุข คำว่าเราๆ ก็หมายถึงตัวนี้เอง นี่ละคือตัวอวิชชาแท้ ทำอะไรต้องเพื่อมันทั้งนั้น พออันนี้สลายไปแล้วไม่มีเพื่ออะไรอีก…..หมด
ถ้าจะเทียบอุปมาก็เหมือนก้นหม้อที่ถูกทำลายเสียแล้ว แม้จะเทน้ำลงไปมากเท่าไรก็ไม่มีอะไรจะขังอยู่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรุงขึ้นมาตามธรรมชาติของขันธ์ ก็ปรุงขึ้นได้แต่ไม่ติด เพราะภาชนะคืออวิชชาตัวสำคัญมันดับสลายไปแล้ว พอสังขารปรุงพับและดับไป ผ่านไปตามธรรมดา หายไปๆ เพราะไม่มีที่เก็บ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ธรรมชาติที่รู้สึกตัวเองว่าไม่มีอะไรเป็นเจ้าของนั้น ก็เป็นความพอตัวของธรรมชาตินั้นอยู่แล้ว นั่นจึงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์แท้ และหมดภาระที่จะระมัดระวังรักษาพิษภัยอีกต่อไป
อวิชชานี้เองที่ปกปิดจิตแท้ธรรมแท้เรื่อยมา จึงไม่เห็นความอัศจรรย์ในหลักธรรมชาติของจิตอันแท้จริง ผู้ปฏิบัติดำเนินมาถึงขั้นหลุมพรางตาจึงหลงยึดว่าเป็นของอัศจรรย์ไปเสีย จึงมารักสงวนหึงหวงไว้ มาเข้าใจว่าเป็นเราเป็นของเรา จิตเราสว่างไสว จิตเราจึงมีความองอาจกล้าหาญ จิตเราเป็นสุข จิตเรานี้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ธรรมชาติอันนี้ไม่รู้ตัวเอง ท่านเรียกว่าอวิชชาแท้ พอกลับมารู้อันนี้ๆ ก็สลายไป พออันนี้สลายไปแล้วก็เหมือนกับเปิดฝาหม้อขึ้นมานั่นเอง มีอะไรอยู่ในนั้นก็เห็นหมด อวิชชานี้เท่านั้นปิดไว้
ความจริงที่เป็นความจริงพิเศษจากสัจจะ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็คือ ความบริสุทธิ์ นี้เป็นความจริงที่นอกจากสัจจะทั้งสี่ สัจจะทั้งสี่นี้ สองสัจจะหนึ่งเป็นฝ่ายผูกมัด สองสัจจะหนึ่งเป็นฝ่ายแก้ฝ่ายดับ ดับอะไรผูกอะไร ก็คือผูกจิตไว้คือมาปกคลุมไว้ แก้ก็คือเปิดออก เปิดสิ่งที่ปกคลุมนั้นให้ได้เห็นความบริสุทธิ์ตามความจริงของตน ความจริงนั้นมีอยู่อย่างนั้นแล้ว แต่สัจจะทั้งสองคือทุกข์ สมุทัยนี้ มันปิดเหมือนกับฝาหม้อปิดหม้อไว้ มีอะไรอยู่ในนั้นก็ไม่เห็น มรรคคือข้อปฏิบัติ….เปิด มรรค นิโรธเปิดขึ้นมาก็เห็นสิ่งที่อยู่ในหม้อนั้นชัดว่าเป็นอะไร ความบริสุทธิ์เป็นของมีอยู่ก็ตาม แต่ถูกสัจจะทั้งสองนี้ปิด และถูกสัจจะที่เป็นฝ่ายแก้ทั้งสองนั้นเปิดขึ้นมา นี่ละเปิดก็เปิดให้อันนี้ ผูกก็ผูกอันนี้ปิดอันนี้ไว้ พอเปิดขึ้นมาแล้วก็หมดปัญหา
สัจจะทั้งสองนี้เป็นกิริยาอันหนึ่งๆ เป็นสมมุติด้วยกัน มรรคก็เป็นสมมุติ นิโรธก็เป็นสมมุติ พอทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ผ่านไป ทุกข์กับสมุทัยก็เป็นสมมุติ สมมุติทั้งสองแก้สมมุติทั้งสองนี้ได้แล้ว ธรรมชาตินั้นก็เป็นธรรมชาติตายตัว สิ่งที่เห็นนั้นเรียกวิมุตติ คือเปิดให้เห็นวิมุตติคือความบริสุทธิ์โดยหลักธรรมชาติ นี่ละภาระหมดก็หมดตรงนี้ เมื่อบริสุทธิ์แล้วไม่เสกสรรปั้นยอตัวเอง ส่วนภายนอกคือโลกธรรมนอก เกี่ยวกับสิ่งภายนอกมันห่างไกล โลกธรรมในที่เคยว่าดี ว่าชั่ว ว่าสุข ว่าทุกข์ภายในตัวเองก็หมดปัญหาไปกับจุดนี้สลายไป
ถ้าพิจารณามาถึงขั้นนี้แล้วไม่กว้าง ได้อุบายจากครูอาจารย์ผู้ที่ท่านเคยรู้เคยเห็นและผ่านไปอธิบายให้ฟังก็ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่สำคัญอย่าไปคาดคะเน ความคาดคะเนไม่ใช่ทาง อะไรปรากฏก็พิจารณาจุดนั้นสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นลำดับๆ และเข้าใจกันไปเรื่อยๆ นี้เป็นทางที่ถูก และอวิชชาก็หมายถึงธรรมชาติที่อธิบายผ่านมานั่นแลเป็นอวิชชาแท้ นอกนั้นก็เป็นกิ่งก้านสาขา เหมือนเถาวัลย์เกิดขึ้นที่นี่แต่เลื้อยไปที่ไหนบ้างก็ไม่ทราบ ยาวเท่าไรก็เลื้อยไปๆ เวลาจับถูกแล้วตามเข้ามาๆ จนถึงลำต้นของมัน ลำต้นมันอยู่ที่นี่ รากมันอยู่ที่นี่ พอถอนรากขึ้นแล้วก็ตายไปด้วยกันหมด กิ่งก้านสาขาอวิชชามันจึงกว้างขวางมากมาย พอถึงอวิชชาจริงๆ จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอวิชชา แต่ก็พิจารณา เรื่องของปัญญาก็พิจารณาเข้าไป ถึงจะไม่รู้ว่านี้คืออวิชชาก็ตาม แต่การพิจารณานั้นมันถูกทางแล้วมันก็เปิดขึ้นเอง เช่นเดียวกับเรารับประทาน ความอิ่มก็แสดงขึ้นมาให้เห็นชัดเป็นลำดับๆ
สรุปเรื่องอวิชชาเป็นอุปปัตติภพหรือกรรมภพ ก่อภพทำกรรมอยู่ไม่หยุดไม่ถอย มันก็เป็นเรื่องของวัฏจักรอันเดียวนี้ มันหากก่อภพก่อชาติภายในตัวเองอยู่อย่างนั้นเรื่องของจิตจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มีแต่เรื่องก่อภพก่อชาติอยู่เป็นประจำ ทำงานสั่งสมเพื่อตัวเอง แต่โดยมากจะสั่งสมทางกดถ่วงใจให้ดิ่งลงทางต่ำอยู่เสมอ ที่ว่าทำลายกงกรรมก็ทำลายตัวนี้แล พอทำลายตัวนี้แล้วมันก็หมดเครื่องสืบต่อก่อภพก่อชาติลงทันที ถึงสิ่งภายนอกที่เคยมาเกี่ยวข้องกับเรามันก็เกี่ยวข้องไปตามธรรมดา ผ่านไปผ่านมาไม่ได้ซึมซาบ ไม่ได้เข้าตั้งบ้านตั้งเรือน ไม่ได้เข้ามาอยู่มาอาศัยในจุดนี้เหมือนแต่ก่อน เพียงแต่ผ่านไปผ่านมาธรรมดา แล้วก็ทราบชัดว่าธรรมชาตินี้ไม่ได้สืบต่อกับอะไร
ความสืบต่อของธรรมชาตินี้เราทราบมาเป็นลำดับแล้ว เมื่อมาถึงขั้นไม่สืบต่อกับอะไรก็ทราบ การรู้เรื่องของภพของชาติว่าต่อไปจะเกิดอีกหรือไม่นั้นก็ไม่ต้องไปคาดคะเน เพราะปัจจุบันนี้บอกอยู่แล้วอย่างชัดเจนว่า เมื่อไม่สืบไม่ต่อไม่ก่อภพก่อชาติภายในตัวเองให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว ก็ไม่มีภพมีชาติอะไรจะสืบต่อไปข้างหน้าอีก เพราะโรงงานนี้ได้ถูกทำลายไปแล้ว ไม่มีทางก่อตัวขึ้นมาหรือไม่มีทางก่อเหตุขึ้นมาเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา โรงงานผลิตทุกข์ได้ถูกทำลายโดยสิ้นเชิงแล้ว
ที่ว่าขันธ์ล้วนๆ ก็หมายถึงตอนนี้ ขันธ์ก็เป็นขันธ์ล้วนๆ ไม่เป็นกิเลส ถ้าจิตดวงนั้นไม่เป็นกิเลส ขันธ์ก็ไม่เป็นกิเลส เป็นแต่เพียงเครื่องมือ ถ้าส่วนใหญ่คือจิตเป็นกิเลส ขันธ์ทุกขันธ์ก็เป็นกิเลสไปตามๆ กัน รูปก็เป็นเครื่องเสริมกิเลสให้พอกพูนภายในใจ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นเครื่องเสริมกิเลสภายในใจทุกอย่าง ถ้าจิตบริสุทธิ์ขันธ์ก็บริสุทธิ์ตามส่วนของขันธ์ไม่มีอะไรเป็นกิเลส ถ้าจิตเป็นกิเลส ขันธ์ก็เป็นกิเลสวันยังค่ำ ความจริงเป็นอย่างนั้น
การก่อภพก่อชาติเป็นเรื่องของจิตผลิตตัวเองอยู่อย่างนั้น มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ลักษณะของจิตที่มีกงจักรเป็นเจ้าของงานหรือเป็นหัวหน้างาน มันจะต้องหมุนตัวอยู่เสมอ หมุนอะไรก็เพื่อเรื่องของภพของชาติทั้งนั้น พอกงจักรนั้นสลายตัวลงไปก็ไม่มีอะไรจะก่อภพก่อชาติอีกต่อไป จิตที่ท่านรู้แล้ว ท่านก็ออกอุทานในใจ หรือประกาศธรรมสอนโลกได้เต็มปากเต็มใจ ว่าต่อไปไม่มีภพให้เกิดอีกแล้ว อย่างพระพุทธเจ้าท่านอุทานออกมาใน อเนกชาติ สํสารํ เป็นตัวอย่าง เพราะท่านรู้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีอะไรจะมาก่อตัว ดีก็เป็นส่วนดีไม่มาซึมซาบกัน ไม่มาคละเคล้ากัน ชั่วก็เป็นส่วนชั่วไม่ซึมซาบหรือคละเคล้ากัน มันไม่วิ่งเข้าถึงกัน คำว่าไม่วิ่งถึงกันก็ไม่ได้บังคับ มันเป็นธรรมชาติของมันเอง เวลามันวิ่งเข้าถึงกันเราก็ไม่ได้บังคับ มันหากมีสื่อของมันวิ่งต่อถึงกันเอง เมื่อมันหมดสื่อแล้วก็ขาดวรรคขาดตอนของมันเอง
ตามความรู้สึกของกระผมที่พิจารณามานี้ ตอนที่อันนี้จะดับลงไปมันมีขณะบอกอย่างชัดแจ้งทีเดียว มันเป็นขณะ คือขณะนั้นเราไม่ได้คาดได้ฝัน มันเป็นขณะอันหนึ่งที่ทำให้สะดุดใจ ขณะที่อวิชชาดับมันเป็นขณะอันหนึ่งที่แสดงขึ้น คล้ายกับว่ามันพลิกตัวเองเป็นโลกใหม่ถ้าว่าโลกนะ มันเป็นโลกใหม่ มันพลิกพับเดียวอวิชชาก็ดับไปขณะนั้น แต่ไม่ได้อยู่ในการคาดคะเน ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจว่าจะพลิก มันเป็นขึ้นมาเอง อันนี้เป็นส่วนละเอียดมากสุดวิสัยที่จะกราบเรียนให้ถูกต้องกับความจริงของขณะนั้นได้
การปฏิบัติในศาสนานี้ถ้าปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ มันก็มีเคล็ดลับอยู่สองคือ ระหว่างอุปาทานของกายกับจิต กายกับจิตเป็นอุปาทานต่อกัน จะแยกจากกันนี้เป็นเคล็ดลับอันหนึ่ง กับมาเคล็ดลับที่สองอันเป็นจุดสุดท้ายแห่งความสามารถของกระผมที่เป็นขึ้นมา นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย
กระผมเคยไปบำเพ็ญอยู่ที่วัดดอยฯ ปัญหาเรื่องอวิชชานี้มันทำให้งงอยู่นานเหมือนกัน คือขณะนั้นจิตมันสว่างจนตัวเองเกิดความอัศจรรย์ในความสว่างไสว ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นเหตุให้อัศจรรย์นั้น รู้สึกมารวมตัวอยู่ในจิตนั้นหมด จนเกิดความอัศจรรย์ในตัวเองว่า แหม จิตของเราทำไมถึงได้อัศจรรย์ถึงขนาดนี้นะ มองดูกายทั้งกายไม่เห็น มันเป็นอากาศธาตุเสียหมด ว่างไปหมด จิตมีความสว่างไสวอย่างเต็มที่
แต่เดชะนะ พอเวลาเกิดความอัศจรรย์ตัวเองขึ้นมา ถึงกับอุทานในใจในเวลานั้นด้วยความหลงไม่รู้สึกตัว ถ้าพูดถึงธรรมะส่วนละเอียดมันเป็นความหลงอันหนึ่ง มันอัศจรรย์ตัวเอง ทำไมจิตของเราถึงได้เป็นขนาดนี้ พอว่าอย่างนั้นก็มีธรรมะบันดาลขึ้นมา อันนี้ก็ไม่คาดไม่ฝันเหมือนกัน ผุดขึ้นมาเหมือนกับมีคนพูดอยู่ภายในจิตนี้ แต่ไม่ใช่คนพูด ผุดขึ้นมาเป็นบทๆ ว่า “ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ” ว่าอย่างนั้น
ธรรมชาตินั้นมันเป็นจุดจริงๆ จุดของความรู้ จุดของความสว่างนั้นมันมีจุดจริงๆ ดังอุบายผุดขึ้นมาบอก ทีนี้เราก็ไม่ได้คำนึงว่าอะไรมันเป็นจุด เลยงงไปเสียอีก แทนที่จะได้อุบายจากคำเตือนที่ผุดขึ้นนั้น เลยเอาปัญหานั้นมาขบคิด จนกว่าได้มาพิจารณาถึงตอนนี้ ตอนที่ว่าจุดนี้ ปัญหาอันนี้จึงยุติลงไป ถึงได้ย้อนกลับคืนไปรู้เรื่องที่ว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ ได้อย่างชัดเจน ถึงได้ความ อ๋อ คำว่าจุดว่าต่อมหมายถึงอันนี้เอง แต่ก่อนไม่เข้าใจ มันเป็นจุดจริงๆ จะอัศจรรย์แค่ไหนมันก็เป็นจุดของความอัศจรรย์ มันเป็นจุดให้รู้อยู่ พออันนั้นสลายลงไปแล้วมันไม่มีจุด เพราะจุดมันเป็นสมมุติทั้งนั้น จะละเอียดแค่ไหนมันก็เป็นสมมุติ
ถึงได้เทศน์สอนหมู่เพื่อนเสมอว่า เมื่อเข้าไปถึงจุดนั้นแล้วอย่าไปสงวนอะไรทั้งนั้น ให้พิจารณาลงไป แม้ที่สุดจิตจะฉิบหายลงไปด้วยการพิจารณาจริงๆ ก็ขอให้ฉิบหายไป อะไรจะรับรู้ว่าบริสุทธิ์ก็ให้รับรู้ไป หรือจะฉิบหายไปหมดไม่มีอะไรจะรับรู้ว่าบริสุทธิ์ก็ขอให้รู้กัน อย่าได้สงวนอะไรไว้เลย ก็เพื่อกันไว้ว่ากลัวจะมาสงวนอันนี้เอง ถ้าหากไม่เตือนถึงขนาดนั้นแล้วอย่างไรก็ต้องติด ขอให้รู้เท่านั้น อะไรๆ จะดับไปก็ดับไปเถิด แม้ที่สุดจิตดวงนี้จะดับไปด้วยอำนาจของการพิจารณาก็ขอให้ดับไป ไม่ต้องสงวนเอาไว้ เวลาพิจารณาต้องลงถึงขนาดนั้น
แต่จะหนีความจริงไปไม่พ้น สิ่งใดที่เกิดสิ่งนั้นก็ต้องดับ สิ่งใดที่จริงเป็นหลักธรรมชาติของตัวเองแล้วก็จะไม่ดับ คือจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะไม่ดับ ทุกสิ่งทุกอย่างดับไป ผู้ที่รู้ว่าดับนั้นไม่ดับ อันนั้นดับไป อันนี้ดับไป ผู้ที่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นดับไปนั้นไม่ดับ จะว่าเอาไว้ก็ได้ไม่เอาไว้ก็ได้ มันก็รู้อยู่อย่างนั้น ถ้าเราสงวนนี่ก็เท่ากับเราสงวนอวิชชาไว้นั่นเอง เพราะอวิชชามันละเอียด มันอยู่กับจิต ถ้าสงวนจิตก็เท่ากับสงวนอวิชชา เอ้า ถ้าจิตจะฉิบหายไปด้วยกันก็ขอให้ฉิบหายไป อุปมาเหมือนกับฟันก็ฟันลงไปเลยไม่ให้มีอะไรเหลือ ให้มันม้วนเสื่อลงไปด้วยกันหมด ขนาดนั้นพอดี
ถ้าหากจะมีการแบ่งสู้แบ่งรับกันอยู่ อย่างไรก็ต้องติดในขั้นนี้แน่ จึงไม่ยอมแบ่งสู้แบ่งรับเลย เอากิเลสออกให้หมด อะไรจะดับก็ดับให้หมด พอดี ส่วนที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะดับยังไงก็ไม่ดับ พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับว่าโจรมันเข้าไปอยู่ในบ้านนี้ ถ้าเราจะสงวนบ้านโจรมันก็อยู่ที่นั่น เดี๋ยวโจรมันก็ยิงป้างออกมาตาย เอ้า ควรจะเผาบ้านทั้งหลังก็เผาเสีย หากว่าจะปล่อยโจรนี้ไว้ มันก็จะทำลายสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าบ้านต่อไปอีก ยอมเสียสละเสียบ้านหลังนี้ เอาไฟเผาเข้าไปเลย นี่แหละที่ว่าเผาอวิชชา เอ้า จิตจะดับจริงๆ ก็ให้ดับซิ แท้จริงจิตไม่ดับ เมื่อเผานั้นหมดถึงจะรู้ อ๋อ สิ่งที่มีคุณค่ามันอยู่ใต้อำนาจอวิชชา มันครอบไว้หมด พออวิชชาดับไปพับ อันนี้ก็เปิด แทนที่จะดับไปด้วยแต่ไม่ดับ ถ้าสงวนไว้แล้วเป็นอันติด ไปไม่รอด
ตอนที่พิจารณาจุดนี้เป็นตอนที่พ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านเสียไปแล้ว กระผมรู้สึกจนตรอกจนมุมมาก อยู่กับหมู่เพื่อนไม่ติด อยู่กับใครไม่ได้ มันไม่สะดวก มันไม่สนุกพิจารณาทางความเพียรภายใน เพราะระยะนั้นจิตมันหมุนจริงๆ ถึงขั้นหมุน หมุนไม่มีเวลายับยั้งเลย ให้ชื่อในขณะนั้นว่า จิตหมุนเป็นธรรมจักร ไม่ใช่เป็นวัฏจักร หมุนเพื่อจะแก้ตัวเอง หมุนตลอดเวลา พอถึงที่พอตัวเต็มที่แล้วจิตก็หยุดได้อย่างผิดคาดผิดหมาย
ทีแรกจนเกิดความรำคาญ อื๋อ จิตนี้พิจารณาไปเท่าไร ละเอียดเข้าไปเท่าไร แทนที่ภาระเราจะลดน้อยถอยลงไป เหตุใดจึงกลับมีภาระมากมายอย่างนี้ และไม่มีวันมีคืนด้วย ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ มันเกิดความกังวลรำคาญเหมือนกัน ทั้งๆ ที่รำคาญอยู่นั้นมันก็ไม่ถอย มันยังหมุนอยู่ต่อหน้าต่อตานั่นแหละ หมุนเพื่อคุ้ยเขี่ยหาสิ่งที่เรายังไม่รู้ไม่เห็น หรืออะไรที่ขัดข้องกันตรงไหนมันคุ้ยเขี่ยหาของมัน พอสัมผัสกันพับมันก็จับและติดตามกันทันที พอเข้าใจกันแล้วก็ผ่านไปหายไป เอ้า ค้นอีก นี่ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่ (มั่น) ยังอยู่ตอนนั้นก็จะรวดเร็วยิ่งขึ้น
จึงได้สอนหมู่เพื่อน เอ้า เป็นยังไงเป็นกัน ถึงไหนถึงกัน ถ้าเราไม่สามารถแก้หมู่เพื่อนได้แล้ว เราจะพาไปหาครูอาจารย์ที่ท่านสามารถแก้ได้ เอาขนาดนั้นเลยกระผม เพื่อให้หมู่เพื่อนลงใจ เพราะฉะนั้นเทศน์บางกัณฑ์จึงไม่ยอมให้อัดเทป เพราะเป็นอย่างนี้ เทศน์กันอย่างเต็มที่ พอเทศน์แล้วหายไปเลย ฟังกันเฉพาะๆ ผู้ที่เขาไม่เข้าใจในเรื่องนี้ก็จะหาว่าอวดดิบอวดดีอะไรไป แท้จริงเราพูดตามความจริง และพูดเพื่อเป็นกำลังใจของลูกศิษย์ว่า เอ้าต้องเป็นอย่างนี้ เอ้าฟันเข้าไปอย่างนี้นะ ว่าอย่างนั้นเลยไม่ผิด ก็เท่ากับเอาตัวเราเป็นตัวประกัน เพื่อให้ลูกศิษย์เป็นที่ลงใจตามนั้นว่าไม่ผิด และมีแก่ใจได้หมุนตัวลงในความเพียรอย่างเข้มแข็ง ทีนี้ผู้อื่นที่เขาไม่เคยทราบเรื่องราวอะไรของเรา เขาก็จะหาว่าอวด แทนที่เขาจะเป็นประโยชน์เขาก็กลับเป็นโทษไป หากเราไม่เป็นโทษเขาก็อาจจะเป็น ต้องได้ระวัง
ฉะนั้นบางกาลบางรายที่ควรจะพูดให้ถึงฐานจริงๆ ก็พูดให้ถึงฐาน ไม่อย่างนั้นผู้นั้นจะไม่เป็นที่ลงใจได้ จึงต้องหมุนกันอย่างเต็มที่ คล้ายๆ กับเปิดรับถึงกัน ถึงไหนถึงกัน ไม่มีอะไรเหลือสักสตางค์ อย่างนั้นก็มี แต่ก็มีเป็นบางกาลไม่มีเรื่อยๆ แล้วแต่เหตุการณ์ที่ควรจะเป็นไปแค่ไหน ถ้าลงขนาดนั้นแล้วคนอื่นมาฟังเขาก็จะหาว่าบ้า กระผมเองเวลาฟังเทศน์ท่านอาจารย์ใหญ่(มั่น) ถ้าท่านเทศน์ขนาดนั้นแล้วมันถึงใจ เวลาล่วงไป ๓ วันนี้คล้ายๆ กับใบไม้ไม่ไหวติงเลยนะในความรู้สึก ปรากฏว่าบรรยากาศสงบเงียบเชียว อำนาจของธรรมะท่านครอบหมด เพราะผู้ฟังก็ตั้งใจฟังอย่างเต็มที่ ผู้เทศน์ก็ตั้งใจเทศน์อย่างเต็มที่ มันรับกัน พวกเราแม้บอกว่า นี่น่าๆ มันก็ยังไม่เห็น ก็ชี้ให้คนตาบอดดู น่าสังเวชเหมือนกัน
ฉะนั้นกระผมไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่ได้กราบท่านอาจารย์มั่นแล้ว นอนไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน แม้ที่สุดจะเดินจงกรมก็ต้องหันหน้าไปไหว้ท่านเสียก่อน ถ้ามีรูปท่านเป็นที่หมายของสมมุติก็กราบไหว้รูปของท่าน หากไม่มีอะไรเลยก็เอาคุณธรรมของท่านประกอบเรื่องของสมมุติน้อมนมัสการไป พระคุณของท่านไม่มีวันจืดจาง ประหนึ่งว่าท่านไม่ได้ล่วงลับไป ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นอย่างนั้น เหมือนกับดูเราอยู่ตลอดเวลา
นี่บรรดาสาวกท่านที่เห็นหลักความจริงของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มใจแล้ว จึงได้ยอมพระพุทธเจ้า คือยอมในหลักความจริงอันเป็นหลักธรรมชาติ ไม่ได้ยอมในรูปในนามอะไร ยอมตามหลักความจริงว่าเป็นเหมือนกันแล้ว ย่อมไม่มีวันจืดจาง ถึงจะอยู่ใกล้อยู่ไกลกันขนาดไหนก็ไม่มีวันเวลาจืดจาง เพราะความจริงเป็นเหมือนกัน อย่างที่ว่าท่านนิพพานไปแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็ไม่มีปัญหากระทบกระเทือนกับความจริงที่ปรากฏอยู่ในใจเรา นอกจากเป็นกาลของสมมุตินิยมของเวล่ำเวลา หรือของธาตุขันธ์ไปเท่านั้น แต่หลักความจริงนั้นไม่เคลื่อนที่ เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เช่นนั้น ทั้งที่มีชีวิตอยู่และนิพพานไปก็เป็นผู้บริสุทธิ์ อันนี้เป็นความจริงอันตายตัว ผู้ที่รู้ในหลักความจริงก็ย่อมเชื่อต่อหลักความจริงอันนั้นเหมือนกันหมด เพราะพุทธะแท้ ธรรมะแท้ สังฆะแท้อยู่ที่ใจ ใจที่บริสุทธิ์แท้คือ พุทธะ ธรรมะ สังฆะโดยสมบูรณ์ ไม่มีกาลสถานที่เข้าไปเกี่ยวข้องวุ่นวายเหมือนสมมุติทั่วๆ ไป.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น