ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง : อ่านบทกวีชิงซีไรต์ไปพร้อมกับกรรมการ

คุณ "กัลปพฤกษ์"  หนึ่งในคณะกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไรต์ปี 2562

ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหนังสือกวีนิพนธ์ที่เข้ารอบซีไรต์ไว้ในเว็บ  


www.thaicritic.com


artyhouse.studio  ขอนำมาเสนอบางส่วนดังนี้


"ขอชี้แจงเช่นเดิมว่าการประกวดในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๒ นี้ ‘กัลปพฤกษ์’ ได้รับเชิญไปร่วมเป็นกรรมการรอบคัดเลือก เพื่อเฟ้นสรรงานกวีนิพนธ์ที่ส่งประกวดจำนวน ๖๖ เล่ม เข้าสู่รอบ Longlist และ Shortlist ด้วย  ดังนั้นโดยมารยาทแล้วการเขียนถึงผลงานที่เข้ารอบ Shortlist รางวัลซีไรต์ในครั้งนี้ จะไม่ขอเขียนในลักษณะการวิจารณ์เต็มรูปแบบ  แต่จะเขียนในเชิงรีวิว แนะนำหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบแต่ละเล่มว่ามี เนื้อหา ลีลา และความโดดเด่น ในแง่ใดกันบ้าง  โดยมีจุดประสงค์เพื่อชักชวนให้ผู้ที่สนใจ ได้ลองหามาอ่านและแสดงทรรศนะขนานไปกับคณะกรรมการ สร้างบรรยากาศการอ่านงานกวีนิพนธ์ให้คึกคักไม่แพ้บทประพันธ์ประเภทอื่น ๆ เช่น นวนิยาย หรือรวมเรื่องสั้นเลย



สำหรับหนังสือกวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้าสู่รอบ Shortlist รางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ มีรายชื่อตามลำดับตัวอักษรดังนี้
๑. การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง  โดย  ธัชชัย  ธัญญาวัลย
(สำนักพิมพ์อาร์ตี้เฮ้าส์  พิมพ์ครั้งที่สอง เพิ่มเติมเนื้อหา)


การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง  เป็นงานกวีนิพนธ์ที่น่าจะสดแปลกแหวกแนวและล้ำสมัยที่สุดในบรรดากวีนิพนธ์ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้  ประกอบไปด้วยบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ที่ ธัชชัย  ธัญญาวัลย  อธิบายความหมายของถ้อยคำต่าง ๆ  เช่น ‘ความเป็นจริง’ ‘ศีลธรรม’ ‘ความผิดบาป’ ‘ความย้อนแย้ง’ ‘ความสำเร็จ’ ‘ความสมบูรณ์’ ‘ความเกรี้ยวกราด’ ‘ความผิดหวัง’ ในลักษณะของการถกปรัชญา เพื่อสะท้อนว่า นิยามเหล่านี้ ไม่เคยมีข้อตกลงที่ตายตัวหรือเที่ยงแท้ว่าควรจะแปลความหมายออกมาทางใด แต่ละคนก็อาจมีมุมมองต่อคำ ๆ เดียวกันที่แตกต่างหลากหลายได้ แถมในบางครั้งความหมายก็อาจย้อนแย้งกลับไปกลับมา สร้างภาวะแบบปฏิทรรศน์ หรือ paradox ที่ชวนให้รู้สึกว่า แท้แล้วสองสิ่งซึ่งเราเคยเข้าใจว่าเป็นคู่ขั้วตรงข้ามกัน อาจมีต้นกำเนิดมาจากสิ่งเดียวกันก็เป็นได้ เช่น ในบท “เมื่อกล่าวถึง ความเกลียดชัง”
                                                                ในเหง้าที่งอกหน่อแห่งความรัก
                                                                ออกมาเป็นลำต้น กิ่ง ใบ และ ดอก ผล
                                                                คือเหง้าเดียวกับที่งอกหน่อแห่งความเกลียดชัง
                                                                เมื่อความเกลียดชังได้เติบโตขึ้น
                                                                จนบางครั้งเบียดเบียนความรัก
                                                                เราก็จะเป็นผู้ที่มีความเกลียดชัง
                                                                ลำต้น กิ่ง ใบ และ ดอก ผล
                                                                ของความเกลียดชัง
                                                                ย่อมสะพรั่งพร้อมแสดงปาฏิหาริย์…
                ลีลายุกยิกยียวนก่อกวนทุกขนบดั้งเดิมในแบบหลังสมัยใหม่หรือ post-modernism ของกวีนิพนธ์เล่มนี้ ได้สะท้อนมุมมองความคิดแบบคนร่วมสมัย ที่อาศัยคำกลอนอิสระมาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด ผ่านวรรณศิลป์ภาษาที่พยายามสื่อประเด็นความคิดอย่างตรงไปตรงมา ไม่มุ่งเน้นการประดิดประดอย  มีการใช้สัญลักษณ์หรือวิธีการบุคลาธิษฐานอยู่บ้าง หากจินตภาพที่ได้จะสอดคล้องกับมุมมองที่กวีต้องการจริง ๆ เช่นในบท “เมื่อกล่าวถึง ความโง่เขลา”


                                                                เมื่อเราปรารถนาจะออกจากความโง่เขลา
                                                                ความโง่เขลาที่เราเผชิญหน้าอยู่
                                                                ก็จ้องลึกเข้ามาในดวงตาของเรา
                                                                ราวกับจะถามว่า
                                                                แน่ใจแล้วหรือ
                                                                และเมื่อเรากะพริบตา…
                                                                อย่างโง่เขลา
                                                                เพียงเท่านั้น
                                                                ความโง่เขลาก็กลายร่างเป็นความฉลาด…
                ได้อ่าน การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง แล้ว ก็ชวนให้นึกย้อนไปถึงลีลาลักษณะคล้าย ๆ กันในงานกวีนิพนธ์ร้อยแก้ว หรือ prose poetry ชื่อ The Prophet (1926) ของ คาลิล ยิบราน ซึ่งเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการถอดความเป็นภาษาไทยในชื่อ ปรัชญาชีวิต โดย ระวี ภาวิไล  ที่ให้นักปราชญ์มาอธิบายความหมายของคำแต่ละคำซึ่งย้อนแย้งกับนิยามเดิมที่เราเคยรับรู้ผ่านการปลูกฝังกันมาเช่นเดียวกัน  เพียงแต่น้ำเสียงและเนื้อหาของ ธัชชัย ธัญญาวัลย ใน การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง จะมีความร่วมสมัยมากกว่า ทั้งยังสามารถอธิบายภาวะหลังสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันได้อย่างดี โลกใบที่ความโลเลไม่แน่นอน ได้กลายมาเป็นสรณะแห่งทุกสรรพสิ่งไปเสียแล้ว
                การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ A Fool’s Guide to Making a Fool of Yourself โดยฝีมือการแปลของ Cholatep Nabangchang ซึ่งก็แปลได้ไพเราะงดงาม จนสามารถนำมาอ่านเป็นภาคต่อยุคปัจจุบันของ The Prophet โดย คาลิล ยิบราน ต้นฉบับภาษาอังกฤษได้อย่างดี"

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  https://www.thaicritic.com/?p=4256


ไม่มีความคิดเห็น: