อย่างที่เราเคยพูดกันไปเกี่ยวกับนิตยสาร ในบทความก่อน (คลิกที่นี่เพื่ออ่าน) ว่าด้วยการล่มสลายของนิตยสารและอำนาจการควบคุมทางวรรณกรรม หากไม่เป็นการอคตินัก เราก็คงจะรับรู้ได้บ้างว่า การแจ้งเกิดของนักเขียนยุคใหม่นั้น ไม่ได้มีช่องทางเดียวคือ “สื่อกระดาษ” อีกแล้ว
หากเราสังเกตแวดวงหนังสือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า มีหนังสือจำนวนหนึ่งถูกพิมพ์ขึ้นเพราะว่า มีกลุ่มนักอ่านจากเว็บไซต์ให้ความสนใจเป็นอย่างสูง เว็บไซต์ดังกล่าวอาจจะเป็น เด็กดี.คอม หรือ เว็บบอร์ดอย่าง พันทิป ก็นับได้ และหากเราไม่หลับใหลจนเกินไป ยังมีนักขียนบางส่วนที่ผลงานได้รับการตีพิมพ์เพราะว่า E-book ของพวกเขาและเธอเหล่านั้นขายดีเหลือเกิน
และเมื่อไม่นานนัก เราก็ได้พบว่า เจ้าของเพจต่าง ๆ มีหนังสือออกมาให้แฟน ๆ ได้ซื้อหากันนับไม่ถ้วน เพจดราม่า เพจหมี เพจการ์ตูน หรือแม้กระทั่งเพจหมอต่าง ๆ ผลิตหนังสือออกมาสู่ตลาดกันเยอะแยะมากมาย
นั่นหมายความว่า การที่จะเกิดเป็นหรือเกิดมีนักเขียนขึ้นมาสักคนในประเทศนี้ หรือในโลกใบนี้ เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงสื่อกระดาษ อย่าง นิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ อีกต่อไป และนอกเหนือจากจะพึ่งพิงไม่ได้แล้ว สื่อกระดาษเหล่านี้เองก็ยังอาจจะไม่สามารถเอาตัวให้รอดได้เสียอีก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
ท่ามกลางความสับสนอลหม่านแห่งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ (Platform) แห่งการนำเสนอความคิด จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ตกลงแล้ว “นักเขียน” คือใคร และนักเขียนสมัยใหม่ กับนักเขียนสมัยเก่า แตกต่างกันหรือไม่
นอกจากนักเขียนสมัยใหม่กับสมัยเก่าแล้ว ท่าที หรือการทำงานของนักเขียน จะเป็นไปในทิศทางใด
ในเมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว สื่อยักษ์ใหญ่ไม่สามารถกำหนด ตัดสิน ชี้ชะตา หรือแม้กระทั่งชี้นำสังคมได้อีก นั่นก็เท่ากับว่า นักเขียนก็ไม่สามารถเป็นผู้ถือเทียนนำทางแก่ประชาชนอื่น ๆ ได้อีกต่อไปเช่นกัน
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่โซเชียลมีเดีย ส่งผลกระทบต่อสังคม
ในสภาพการณ์ที่คนธรรมดา ก็สามารถเป็นนักข่าว เป็นนักเขียน และเป็นผู้ส่งสาร ให้คนอื่น ๆ ในสังคมรับทราบ แบ่งปัน และคนธรรมดาก็มีสิทธิ์ที่จะเขียน นำเสนอ เรื่องราวต่าง ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ มิหนำหลาย ๆ ครั้ง(หรืออาจจะทุกครั้ง)เราพบว่า นักเขียน-นักข่าวสมัครเล่นเหล่านี้ได้รับความนิยมมากกว่าข้อเขียนหรือข่าวหรือสิ่งที่ผู้เป็น “นักเขียนมืออาชีพ” เขียนและนำเสนอเสียอีก ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า นักเขียน ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ อย่างไร
แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ไม่ใช่ประเด็นที่เราจะพูดถึงกันในคราวนี้
ในครั้งนี้เราจะพูดถึงว่า ถ้านักเขียนยังคงอยู่ นักเขียน จะทำตัวให้เป็นที่รู้จัก ได้อย่างไร
ความจริงมันเหมือนคำตอบสำเร็จรูป แต่แม้มันจะเป็นคำตอบสำเร็จรูปอย่างไรก็ตาม ความเชื่อของคนบางกลุ่มก็ไม่ได้มีในคำตอบสำเร็จรูปต่าง ๆ เหล่านี้แต่อย่างใด
ถ้าเราพูดถึงการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรามีคำถามว่า ทำไม ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คนซื้อทุกวัน วันละจำนวนมาก จึงยังมีการ “โฆษณา” กันอยู่อย่างสม่ำเสมอ
คำตอบของคำถามนี้กว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็น เพราะคนเกิดใหม่ทุกวัน คนเติบโตทุกวัน อย่างนี้เป็นต้น นอกจากการเติบโตของผู้คนแล้ว เรายังมีเป้าหมายอย่างอื่นอีกหรือไม่สำหรับคนที่เคยเห็นเคยสัมผัสอยู่แล้ว
การยกตัวอย่างอาจเป็นเช่นว่า โคคา-โคล่า ผลิตภัณฑ์นี้มีมายาวนาน มีชื่อเสียง และเป็นเบอร์หนึ่งของผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในโลก แต่ โคคา-โคล่า ยังมีการโฆษณาอยู่เสมอ ทำไม โคคา-โคล่า จึงไม่หยุดโฆษณาทั้ง ๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ตัวหมดแล้ว นั่นก็เป็นคำตอบว่า ทำไมนักเขียนต้องทำตนให้เป็นที่รู้จัก "อยู่เสมอ"
การรู้จักมักคุ้นต่อผู้อ่านของนักเขียนในอดีต คือการที่นักเขียนมีผลงานทางนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ ถ้านักเขียนคนใดเป็นคอลัมนิสต์ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งได้เปรียบในการสื่อสารกับคนหมู่มาก รวมถึงการ "มักคุ้น" กับคนหมู่มาก
หรือแม้นักเขียนที่ไม่ได้เป็นคอลัมนิสต์หากมีเรื่องสั้น หรือนวนิยาย ลงในนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ ก็ย่อมได้เปรียบในการชิงพื้นที่ และย่อมส่งผลต่อยอดขาย “หนังสือเล่ม” ของนักเขียนเอง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความกลับหัวกลับหางเกิดขึ้นเมื่อมีสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย
การณ์กลับเป็นว่า นักเขียนที่มีผลงานลงนิตยสาร ไม่ได้มีผลต่อยอดขายหนังสือเล่มอย่างที่ควรจะเป็น เผลอ ๆ หากเป็นนักเขียนที่ยังไม่มีชื่อเสียง ก็แทบไม่มีผลเลยแม้แต่น้อย
ความก็ต้องย้อนกลับไปที่บทความในข้างต้น (คลิกที่นี่เพื่ออ่าน) ที่ว่าด้วยการรับข้อมูลข่าวสารของคนในยุคใหม่
แน่นอน ย่อมมีคนบางกลุ่มอ่านนิตยสารและหน้าดำหน้าแดงคร่ำเคร่งคอยสอดส่องดูว่า จะมีงานของนักเขียนคนไหนลงนิตยสารบ้าง ซึ่งนั่นก็คือ นักเขียนด้วยกันเอง และหากเราจะนับดูแล้ว จำนวนของนักเขียนเหล่านี้น่าจะน้อยกว่าจำนวนสาขาร้านสะดวกซื้อยอดนิยมเสียอีก นั่นหมายความว่า ผู้อ่าน หรือคนทั่วไปที่อ่านหนังสือ และจบสิ้นพันธกิจกับนิตยสารแล้ว ย่อมไม่มีวันได้รับทราบการมีอยู่ของนักเขียนในนิตยสารแม้แต่น้อย
เมื่อไม่รู้จัก และไม่คุ้นเคย หลักการของการตลาด ที่ว่าด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็จะตอบคำถามให้ว่า ทำไม เมื่อนักเขียนที่เคยมีผลงานลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร จึงไม่มีฐานแฟนคลับคอยสนับสนุนเลย
หน้าเพจ หรือเฟซบุ๊ก เป็นเหมือนสิ่งหนึ่งที่ทำหน้าที่แทนนิตยสาร ในแง่ของ “ความคุ้นเคย”
หลักการทางจิตวิทยาง่าย ๆ มีอยู่ว่า ผู้คนจะซื้อของก็ต่อเมื่อเขาคุ้นเคยกับสิ่งของนั้นมาก่อนแล้ว มันก็อาจจะมีบ้างสำหรับผู้คนที่ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ แต่นั่นไม่ได้หมายความถึงคนทั่วไปหรือคนกลุ่มใหญ่ที่จะให้การสนับสนุนนักเขียนของเรา
และนั่นก็คือคำตอบว่า เหตุใดนักเขียนยุคใหม่ที่มีผลงานลงนิตยสารสม่ำเสมอ จึงมียอดขายหนังสือหรือฐานแฟนคลับใกล้เคียงกับศูนย์
และนั่นก็คือคำตอบว่า ทำอย่างไร นักเขียน จึงจะอยู่รอดต่อไปได้บ้าง หากคุณยังรักที่จะเขียน
แต่...
ณ ที่นี้ เรายังไม่ได้พูดถึงว่า นักเขียนต้องปรับตัวอย่างไร หรือต้องทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากการ “เขียน” ซึ่งเป็นสิ่งหลัก และความจริงแล้ว นักเขียนควรต้องทำอย่างนั้นหรือไม่ ในยุคสมัยที่คนหนึ่งคนต้องมีทักษะหลายอย่าง เพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมของโลกทุกวันนี้
ก็ไม่แน่ เราอาจจะได้พูดกันในวันถัดไป หรืออาจไม่ ซึ่งจุดนี้ก็คงต้องแล้วแต่ความสะดวกจะอำนวย
ธัชชัย ธัญญาวัลย
17 กันยายน 2560
คำเตือน : บทความนี้เป็นทัศนคติของบุคคลเพียงคนเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น