ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

ความตายของนิตยสารกับการล่มสลายของอำนาจชี้นำทางวรรณกรรมไทย



เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า  สมัยก่อน  นักเขียนทั้งหลายล้วนเกิดมาจาก  “นิตยสาร”  หรือหากไม่ก็ “หนังสือพิมพ์”
แต่วันนี้เราจะไม่พูดถึงหนังสือพิมพ์  เราจะพูดถึงเพียงแค่  “นิตยสาร”
ในอดีต  นิตยสาร  มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ใช่แค่ในวงการวรรณกรรม  แต่ยังรวมไปถึงวงการอื่น ๆ  เช่น  แฟชั่น  รถ  บ้าน  ศิลปะ  ฯลฯ  เพราะทุก ๆ วงการก็ล้วนแล้วแต่มี  “นิตยสาร” เป็นของตัวเอง
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะพูดถึง
เราจะพูดถึงเฉพาะในวงการวรรณกรรมเท่านั้น
ในอีก  10 ปีข้างหน้า  หรือไม่แน่อาจจะแค่  5 ปี  หรือน้อยกว่า  เราอาจจะไม่เห็นนิตยสารบนแผงหนังสืออีกเลยก็ได้  นั่นไม่ใช่สิ่งเหนือจริงอะไรนัก  อาจมีเหลือนิตยสารเพียงไม่กี่หัวเท่านั้น  ที่อยู่รอด  และการอยู่รอดนั้น  อาจจะต้องมีการปรับตัว  หรือหากไม่  ก็จำต้องปรับเปลี่ยนหลาย ๆ  สิ่ง  เพื่อความอยู่รอด
ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะพูดถึง
และความเป็นอยู่ของนิตยสาร  จะอยู่อย่างไรต่อไป  รวมถึงประเด็นที่ว่า  นิตยสารชนิดใด  จึงจะอยู่รอดต่อไปได้   ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะมาพูดกันในครั้งนี้
1. การอยู่หรือตายของนิตยสารไม่ใช่ดัชนีชี้วัด “การอ่าน”
เรามักจะได้รับทราบหรือรับรู้อยู่เสมอเมื่อมีนิตยสารสักหัวหนึ่งปิดตัวลง  คนมักจะกล่าวโยงไปถึง “การอ่าน”  และสถานการณ์ “การอ่าน”  ของคนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
มายาคติที่เราเห็นกันมากที่สุดคือความเห็นประเภทว่า  “คนอ่านหนังสือน้อยลง”  ทำให้ “นิตยสาร” อยู่ไม่ได้
ซึ่งคำพูดเหล่านี้  ถ้ามาจากคนทั่วไปก็คงไม่เป็นที่สำคัญเท่าใดนัก  แต่หากมาจากคนที่เป็นนักทำหนังสือหนังหา  นั่นนับว่า  เป็น “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง”  และเป็นการพูดเพื่อ “ยกชั่วให้คนอื่น” เป็นอย่างยิ่ง
มีคำกล่าวว่า  หากคุณอ่านหนังสือพิมพ์  คุณจะช้าไป  2 วัน  หากคุณอ่านนิตยสารคุณจะช้าไป 1 เดือน  ข้อความก็เป็นประมาณนี้  อาจจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ประเด็นคือว่า  การเสพข่าวสารของผู้คนนั้น  ในสมัยก่อน  มีอยู่ไม่กี่ทาง 
วิทยุ  โทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  นิตยสาร  เป็นต้น
หากเทียบกับปัจจุบัน  ในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อ  ทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ  ทุกคนพร้อมที่จะ Live  ถ่ายภาพ  โพสต์  และแชร์  ลงในหน้าโซเชียลมีเดียของตนเองทุกขณะจิต  ซึ่งนั่นก็คือ  หายนะของสื่อแบบดั้งเดิม  และแน่นอน  นิตยสาร ย่อมหนีไม่พ้น 
นอกจากนี้ยังไม่รวมถึง  การมี “กลุ่ม” ในไลน์  ในเฟซบุ๊ก  ในเว็บบอร์ด  หรืออื่น ๆ  ที่จะทำให้ผู้คนเข้าไปติดตามเรื่องราวต่าง ๆ  ที่ตนเองสนใจได้อย่างทันท่วงทีและเร็วไว 
สื่อที่ทุกคนมีสิทธิ์เป็นเจ้าของอย่างเฟซบุ๊ก  จึงกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล  และเป็นสิ่งที่  “ทำเงิน”  อย่างมหาศาลในปัจจุบัน
ในอดีต  การประชาสัมพันธ์ใด ๆ  ก็ตาม  หากคุณไม่ได้ซื้อเวลากับวิทยุ  โทรทัศน์  หรือแม้กระทั่งป้ายตามถนนรนแคมแล้วละก็  คุณต้องซื้อมันตามหน้าหนังสือพิมพ์  หรือ  นิตยสาร
นั่นคือคำตอบที่กระจ่างชัดที่สุดว่า  ทำไม  นิตยสาร  จึงตายจากเราไป

2. อำนาจรวมศูนย์ถูกท้าทายด้วยสื่อออนไลน์
ถ้าเราเทียบกับ “อำนาจ”  ในการบริหารจัดการสิ่งใดก็ตาม  ผู้กุมอำนาจ  ก็คือผู้ที่สามารถประกาศ “เจตจำนง”  ของตนออกมาและผู้คนได้รับผลกระทบอันเกิดจากสิ่งนั้น 
ในแง่ของนิตยสารและวงการวรรณกรรม  นิตยสารดูเหมือนจะเป็นสื่อหลักสำหรับนักเขียนในอดีตเลยก็ว่าได้สำหรับการ “แจ้งเกิด”  อย่างเป็นทางการ 
หากมีนักเขียนสักคนในอดีตมีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสาร  นั่นราวกับว่าเทพเจ้าแห่งวงการวรรณกรรมได้ประทานโอกาสและความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แก่นักเขียนท่านนั้นเข้าให้แล้ว  และสิ่งที่จะตามมาก็คือ  นักเขียนคนนั้นก็จะมีกำลังใจและผลิตผลงานออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง  และหากเป็นที่ต้องตาติดใจประชาชนผู้อ่าน  นั่นก็จะยิ่งโหมความดีงามของนักเขียนผู้นั้นขึ้นอีกหลายเท่าท้นทวี
ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ในปัจจุบันนั้น  ช่องทางการ “แจ้งเกิด”  ของนักเขียนในโซเชียลมีเดีย  ก็นับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิด 
นอกจากโซเชียลมีเดียแล้ว  “เว็บไซต์”  “บล็อก”  ฯลฯ  ก็เป็นสิ่งที่ทำให้นักเขียนมีช่องทาง  และเปิดโอกาสให้งานเขียนของตัวเองโลดแล่นออกมาสู่สายตานักอ่าน
นั่นหมายความว่า  “ทุกคน”  สามารถเผยแพร่ผลงาน  โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการ “คัดเลือก”  จาก “ผู้คุม”  นิตยสาร  อีกต่อไป
นั่นหมายความว่า  “บรรณาธิการ”  ที่เป็นผู้คัดเลือก  และ  “นิตยสาร”  ที่เคยเป็นแหล่งแจ้งเกิดของนักเขียนในอดีต  ถูกลดความสำคัญลงไปแทบจะทั้งหมดทั้งสิ้น

3. อำนาจใหม่  ใครเป็นผู้คัดเลือก
ในเว็บไซต์  อย่างเช่น  เด็กดี.คอม  หรือแพลทฟอร์มสำหรับเผยแพร่งานเขียน เช่น  fictionlog นักเขียนสามารถเขียนงานลงเป็นตอน ๆ  เขียนเรื่องสั้นลง  หรือจะเขียนอะไรลงก็ได้ (ถ้ามันมีประเภทให้ลง)
นอกจากจากผู้อ่านจะเลือกว่า  ฉันจะอ่านงานของใคร  แล้ว  ผู้อ่านยังสามารถ “แสดงความคิดเห็น”  ต่อเรื่องดังกล่าว  ซึ่งแน่นอนว่า  หากนักเขียนต้องการปรับปรุง  หรือต้องการเปลี่ยนแปลง  นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำได้
ในโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก  นักเขียนสามารถเขียนอะไรก็ได้  ทั้งในรูปแบบสเตตัส  หรือในรูปแบบ Note  แม้กระทั่งในรูปแบบของภาพ  นอกจากนี้  นักเขียนยังสามารถสร้างแฟนเพจ  เพื่อประชาสัมพันธ์  สานสัมพันธ์  หรือแม้กระทั่งจำหน่ายผลงานของตัวเองอีกด้วย
การที่มีข้อตำหนิติติงว่า  งานที่ไม่มีบรรณาธิการ  จะเป็นงานที่ดีได้หรือ  หากเราไม่ปิดกั้นคำว่า  “บรรณาธิการ”  ไว้สำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือประเภทใดประเภทหนึ่ง  งานในลักษณะของ  “บรรณาธิการ”  ที่มาจากความคิดเห็นของผู้อ่าน  หรือแม้กระทั่งมาจากเพื่อนฝูง  ญาติพี่น้อง  ก็ต้องนับว่าเป็นการ  “บรรณาธิการ”  อย่างหนึ่ง  ซึ่งจริง ๆ  ในความเป็นจริงแม้กระทั่งสำนักพิมพ์เองก็ตาม  บทบาทของบรรณาธิการมันเริ่มต้นมาจากการ  “มีคนช่วยนักเขียนอ่านและแก้ไข”  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  ช่วยกันทำหนังสือ  นั่นเอง
เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า  มันก็กลายเป็นระบบระเบียบตามแบบฉบับของทุนนิยม
คำถามก็คือว่า  เมื่อเราหลีกเว้นจากระเบียบดังกล่าว  “การบรรณาธิการแนวใหม่”  ที่กำลังจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่  จะถือได้ว่า  เป็นการบรรณาธิการที่มีคุณภาพหรือไม่
ซึ่งเมื่อถามถึงคุณภาพ  เราก็ต้องถามต่อไปอีกว่า  คุณภาพคืออะไร  และเพื่ออะไร 
แน่นอนว่าหากเราต้องการทำงานหนังสือที่ดีที่สุดในโลก  ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก  เราก็ควรจ้างคนเก่งที่สุดในโลกมาเขียน  มาแก้ไข 
หากในความเป็นจริงแล้ว  สิ่งที่ดีที่สุดในโลกแบบนั้นมีอยู่หรือไม่  และผู้คนต้องการหรือเปล่า  ต้องการมากขนาดไหน 
ในโลกที่มีความหลากหลาย  และทุกคนสามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบได้  บางครั้งเขาอาจไม่ต้องการสิ่งที่  ดีที่สุดในโลก  และในความเป็นจริงแล้ว  มันก็ไม่มีหนังสือเล่มไหนที่จะเหมาะสำหรับคนทุกคน
เรียกง่าย ๆ  ว่า  หนังสือแต่ละเล่มเหมาะสำหรับคนแต่ละคน 
การมองด้วยกรอบสายตาที่ว่า  มันมีหนังสือที่ดีที่สุดและหนังสือเล่มนั้นเหมาะสำหรับทุกคน  เป็นเรื่องที่ผิดไปจากความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง  เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง  เราต้องมีผู้ประสบความสำเร็จจากการดำเนินการดังกล่าวและการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวก็ต้องเป็นสิ่งที่เผยผึ่งความสำเร็จอันงดงามให้เราเห็นอย่างจะแจ้ง
อย่างไรก็ตาม  เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงทัศนะของคนเพียงคนเดียว  และแน่นอนว่า  มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  เป็นเพียงทัศนะหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งก็ถูกต้องที่สุด  มันไม่ได้เหมาะสำหรับคนทุกคน
และจริง ๆ  แล้ว  เรายังมีเรื่องที่ต้องพูดกันอีกหลายเรื่อง  เรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดถึงแน่ ๆ  ในวาระถัดไปคือ
“ความถดถอยของการประกวดหนังสือกับการล่มสลายของอำนาจชี้นำทางวรรณกรรมไทย” (หรืออะไรก็ตามที่คล้ายคลึงกันนี้)
โปรดรอติดตามครับ

ธัชชัย  ธัญญาวัลย

15 กันยายน 2560

ไม่มีความคิดเห็น: