ช่วงนี้อ่านหนังสือเยอะหน่อย
เพราะเริ่มว่างจากการทำต้นฉบับ
แต่ก็ยังมีต้นฉบับอีกเล่ม
ที่ต้องปิดก่อนเดือนมีนาคม (ปีหน้า)
ซึ่งตอนนี้เพิ่งผ่านขั้นตอนการตรวจคำผิด
ว่าจะเขียนถึงหนังสือสักเล่มที่เพิ่งอ่านไป
เพราะนึก ๆ ขึ้นมาได้ว่า
ไม่ได้เขียนถึงหนังสือเล่มใด ๆ มานานมากแล้ว
มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับเรื่องการอ่านหนังสือ
ว่าต้องเริ่มที่ครอบครัวบ้างหละ
ต้องอ่านหนังสือให้เด็กฟังบ้างหละ
หรือแม้กระทั่งมีงานวิจัยว่า
ผู้ชายอ่านหนังสือน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น
แต่ผู้หญิงอ่านอย่างสม่ำเสมอ
อะไรทำนองนี้
ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว
ข้าพเจ้าไม่เชื่อถือเรื่องพวกนี้เท่าไหร่
มันอาจจะเป็นแค่สถิติเท่านั้น
เอาเข้าจริง
ก็ขึ้นอยู่กับบุคคล
ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นว่า
ตัวเองอายุมากขึ้นจะอ่านหนังสือน้อยลงแต่อย่างใด
กลับอ่านมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
เรื่องอย่างนี้
มันขึ้นกับความต้องการของคนอ่านหนังสือมากกว่า
ว่าคุณเป็นนักอ่านตัวจริงหรือเปล่า
หรือแค่อ่านตามกระแส
อ่านเพราะมีช่วงฮึกช่วงฮิต
อ่านตามอารมณ์
เหล่านี้ไม่ใช่นักอ่านมืออาชีพ
นักอ่านมืออาชีพ
ย่อมจะต้องอ่าน อ่าน และอ่าน
โดยไม่ปล่อยปละละทิ้งการอ่าน
นั่นหมายความว่า
มันเป็นพื้นฐานมาแต่เยาว์วัยว่า
เราชอบอ่านหนังสือ
และเราต้องอ่านหนังสือ
หากโดยมาก
บางคนเมื่ออายุมากขึ้น
ก็อ่านหนังสือน้อยลง
เพราะทำงานมากขึ้น
จะพูดตามแบบข้าพเจ้าก็ต้องพูดว่า
มันมีแต่คนว่างงานเท่านั้นแหละ
ที่จะมีเวลาอ่านหนังสือจำพวก "วรรณกรรม" ได้
หรือไม่ก็ต้องเป็นพวกจัดสรรเวลาอย่างดี
หรือหากไม่ก็เป็นพวกที่ร่ำเรียนทางนี้อยู่แล้ว
ซึ่งพวกที่ร่ำเรียนทางนี้
แล้วอ่านตลอด
ส่วนมากก็เป็นพวกอาจารย์มหาวิทยาลัย
หรือครูบรรณารักษ์เท่านั้น
จะให้คนทำมาหากิน ที่ทำงานงก ๆ มาอ่านหนังสือ
ย่อมเป็นไปได้ยาก
แค่ทำงานก็เหนื่อยแล้ว
ไหนจะต้องเลี้ยงลูก เลี้ยงผัวเลี้ยงเมีย เลี้ยงหมา
หาเงินซื้อรถใหม่ บ้านใหม่ ไปเที่ยว ทำโอที
เล่นไพ่ไฮโล ดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง ฯลฯ
โอ๊ยยยย... สารพัดสารเพ
สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่เด็กไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือ
ก็เพราะว่า
ครูไม่อ่านหนังสือ
เมื่อครูไม่อ่านหนังสือ
เวลาสอน ก็สอนเฉพาะเรื่องในตำรา
สอนตามหน้าที่
ไม่ได้อ้างอิงประโยคดี ๆ หรือถ้อยคำโดน ๆ จากหนังสือ
เพราะไม่อ่านหนังสือ
อย่างเมืองนอกเมืองนา
ครูบางคนเขาสามารถที่จะอ้างอิงบทกวีดี ๆ
หรือแนะนำนักเรียนว่า
พวกเธอต้องอ่านบทกวีบ้างนะ
ชีวิตจะได้รื่นรมย์
อะไรทำนองนี้
แต่เมืองไทยนี่อย่าว่าแต่บทกวี
แค่เรื่องสั้นเล่มเล็ก ๆ ก็ไม่รู้ว่ามีใครอ่านจบหมดบ้างหรือเปล่า
เมื่อไม่มีเรื่องทำนองนี้
หนังสือมันก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน
บางครอบครัว
เห็นว่า หนังสือจำพวกอื่นที่ไม่ใช่หนังสือเรียน
คือของเลวทรามด้วยซ้ำไป
ถึงขนาดห้ามเด็กอ่าน ห้ามลูกหลานอ่าน
ซึ่งก็แปลก
ข้าพเจ้าคิดว่า
เด็ก ๆ นั้นส่วนมากชอบอ่านหนังสือ
แต่พออยากได้หนังสือขึ้นมา
พ่อแม่ก็เห็นว่ามันเป็นของฟุ่มเฟือย
ก็ไม่ซื้อให้
ทั้งยังไม่บอกแหล่งที่จะสาามารถอ่านหนังสือฟรีได้
ให้แก่ลูก ไม่พาไป ไม่อำนวยความสะดวก
หรือแม้มีแหล่งที่มีหนังสือ
แต่ให้ตาย
แหล่งเหล่านั้น มีแต่หนังสือโกโรโกโส
ไม่น่าหยิบอ่านเสียเลย
อย่างนี้ก็มี
เรื่องการอ่านในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องไร้สาระ
สำหรับคนทั่วไป
และสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อ
จากรุ่นสู่รุ่น เป็นการสืบต่อแบบซึมซับซึมซาบ
ในลักษณะที่เรียกว่า วิถีชาวบ้าน
คือเป็นสันดานของชุมชน สังคม และประเทศชาติ ว่างั้นเถอะ
เรื่องการอ่าน หากจะทำให้เกิดขึ้นมา
จึงต้องทำไปพร้อม ๆ กันในหลาย ๆ ด้าน
และต้องทำให้มันกลายเป็น ส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
หรือวัฒนธรรมของคนในชาติให้ได้
เช่น
๑ ปรับทัศนคติของประชาชนเสียก่อน ว่าการอ่านวรรณกรรมนั้น ไม่ใช่ความเลวร้าย หรือพาให้เด็กใจแตกเสียผู้เสียคน
๒ จัดหาแหล่งที่สามารถเข้าถึงหนังสือและสถานที่อ่านหนังสือสาธารณะ ให้มันน่าเข้าไปอ่าน น่าเข้าไปดูไปชม และเอื้อต่อเวลาว่างของประชาชน ไม่ใช่ไปเปิด-ปิด เอาตามเวลาราชการ ผีห่าหน้าไหนมันจะไปว่างใช้บริการในวันเวลาอย่างนั้น
๓ จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะแก่การอ่าน ( เช่น ทีวีน่ะ ปิดมันลงเสียบ้าง มีตู้หนังสือสวย ๆ บ้างอะไรบ้าง มีคนในบ้านอ่านหนังสือกันบ้างอะไรบ้าง)
๔ ราคาหนังสือต้องไม่แพงเกินไป อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย บางทีพ่อแม่ก็อยากให้ลูกได้หนังสือมาอ่านอยู่หรอก แต่แพงชิบหาย ก็เลยไม่ซื้อ เพราะสำนักพิมพ์บางแห่งบางที่ก็ตั้งราคาเพื่อลดราคา (ทั้งในแง่การลดในร้านเชนสโตร์ของตัวเอง หรือลดตามงานมหกรรมมหเวรต่าง ๆ ) จนผู้อ่านเขาจับไต๋ได้ว่า ต้องรอไปซื้อตอนมันลด หรือใครซื้อหนังสือในราคาเต็มคนนั้นคือคนโง่ มีแต่คนโง่เท่านั้นที่ซื้อหนังสือตามราคาหน้าปก (แน่นอน รัฐ คือจุดใหญ่ที่สุด ณ จุดนั้น)
๕ คิดไม่ออก เพราะข้าพเจ้า...เอาเข้าจริง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าทำตามอย่างสี่ข้อข้างต้นแล้ว คนจะอ่านหนังสือเยอะขึ้นหรือเปล่า เพราะบ้านข้าพเจ้าเองก็ไม่มีคนอ่านหนังสือ ไม่มีหนังสือเป็นตู้เป็นกอง มีแค่สองสามเล่ม อาศัยอ่านเอาจากห้องสมุด หรือยืมคนอื่นอ่านบ้าง แค่ชอบอ่าน อ่านแล้วมันสนุก ก็อ่านมาเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง
เอวัง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๒ กันยายน ๒๕๕๗