Young Thai Artist เวทีนักเขียนเยาวชน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 4 พฤษภาคม 2552
วันที่ 4 พฤษภาคม 2552
เวทีการประกวดรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชน (Young Thai Artist Award) โดยเฉพาะสาขาวรรณกรรมนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
นันทพร ไวศยะสุวรรณ์ : สัมภาษณ์
พรชัย จันทโสก : เรียบเรียง
พรชัย จันทโสก : เรียบเรียง
เวทีการประกวดรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชน (Young Thai Artist Award) โดยเฉพาะสาขาวรรณกรรมนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะสามารถสร้างนักเขียนรุ่นใหม่ขึ้นมาประดับวงการวรรณกรรมหลายต่อหลายคน
ล่าสุด มูลนิธิซิเมนต์ไทย ได้ต่อยอดโครงการดังกล่าวโดยนำนักเขียนและนักอ่านเยาวชนจำนวน 40 คน ที่ส่งเรื่องเข้าประกวดและเคยได้รับรางวัลนี้เข้าร่วมโครงการ "อ่าน-เขียน-เรียน-คิด" ค่ายเยาวชนวรรณกรรม SCG เป็นครั้งแรก เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมม่วงน้อย เครือซิเมนต์ไทยท่าหลวง จังหวัดสระบุรี
ครั้งนี้มีวิทยากรและนักเขียนชื่อดังมากมายมาช่วยถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนเพื่อปูพื้นฐานและปลูกฝังความกล้าคิดกล้าแสดงออกด้านการเขียนและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเขียนในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนพัฒนาทักษะด้านการเขียนไปสู่ตัวตนของแต่ละคน อาทิเช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ชาติ กอบจิตติ, ไพวรินทร์ ขาวงาม, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, กนกวลี พจนปกรณ์, วัชระ สัจจะสารสิน, วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, ขจรฤทธิ์ รักษา, ทองแถม นาถจำนง, นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ และพินิจ นิลรัตน์
สุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวถึงความเป็นมาว่า "โครงการนี้สืบเนื่องมาจากการจัดประกวด Young Thai Artist Awards ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 รางวัลนี้เป็นการประกวด 6 สาขาด้วยกันและสาขาวรรณกรรมเป็นหนึ่งในนั้น คือในสาขาอื่นๆ อย่างจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย ดนตรี หรืออะไรก็ตาม จะมีการเรียนการสอนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ในส่วนของวรรณกรรมมันไม่มี เลยคิดขึ้นว่าจะทำอย่างไรให้น้องๆ ที่มีความสนใจในเรื่องของการเขียนให้ได้มากกว่าเรื่องของการจัดประกวด คิดมาตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้ใหม่ๆ จนกระทั่งมาปีนี้จัดมาเป็นปีที่ 5 และที่ผ่านมาจัดเป็นประจำทุกปี แต่ว่าตอนนี้จะปรับเป็น 2 ปีครั้ง
แต่ว่าในระหว่าง 2 ปีนี้อยากจะมีกิจกรรมอื่นๆ ในเชิงลึกมากขึ้น แต่พอมาดูค่ายนักเขียนพบว่ามันมีเยอะแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปคือค่ายนักอ่านซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ จริงๆ อยากจะคุยกับวิทยากรว่าในโอกาสอื่นหรือปีหน้าอยากทำค่ายนักอ่านมาก เพราะว่าค่ายนักเขียนหรือว่างานเขียนดีๆ หรือคนเขียนเรื่องเอง เชื่อว่าในสังคมไทยมีเยอะและน้องๆ ที่มาในวันนี้ก็มีงานดีๆ ค่อนข้างเยอะ แต่ว่าจะทำอย่างไรให้งานดีๆ มีคนอ่านเยอะๆ ด้วย อันนี้เป็นโจทย์ท้าทายในเชิงการตลาดและเป็นการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมา ตรงนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดนักเขียนดีๆ มากขึ้น ฉะนั้นอยากจะพัฒนาให้กลายเป็นค่ายนักอ่านมากกว่า"
การอบรมเชิงปฏิบัติการช่วงเวลา 4 วัน 3 คืน โดยแบ่งประเภทฐานความรู้ในด้านวรรณกรรมออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ นวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และสารคดี โดยนักเขียนและนักอ่านที่มาร่วมเข้าค่ายครั้งนี้ล้วนแต่ไม่ธรรมดาเพราะหลายคนมีผลงานเขียนรวมเล่มมาแล้วและบางคนกำลังเขียนอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังได้รับคำชมจากวิทยากรว่ามีแววจะเป็นนักเขียนคุณภาพในอนาคตได้
ศักดา สาแก้ว หรือ 'ปั๋ง' หนุ่มนักสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าของนวนิยายเรื่อง 'ตุ๊กตาไล่ฝน' ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม Young Thai Artist 2006 และนวนิยายเรื่อง 'ราตรี' ได้รับรางวัลดีเด่น Young Thai Artist 2007 รวมทั้งเรื่องสั้น 'ชมพูพันธุ์ทิพย์' เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์ อวอร์ดปี 2550 เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า...
"ผมมีนักเขียนในดวงใจอย่างพี่ชาติ กอบจิตติ นวนิยายเรื่อง 'คำพิพากษา' เป็นหนังสือในดวงใจซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอยากให้เกิดงานในโทนเศร้า เพราะเมื่ออ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าเกลียดคนเขียน ไม่รู้ว่าทำไมถึงได้ทำร้ายตัวละครขนาดนี้ แต่ทึ่งว่าทำไมเขาถึงเขียนได้ดีขนาดนี้ เลยนำไปสู่การเขียน 'ตุ๊กตาไล่ฝน' ซึ่งทำร้ายตัวละครเหมือนกัน"
เขาบอกอีกว่า "ตอนเด็กๆ ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นนักเขียนเพราะพื้นฐานครอบครัวก็เป็นชนบท ไม่ได้มีแบบอย่างอะไร พ่อแม่จบ ป.4 ไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือ ไม่ได้มีแบบอย่างว่าให้ต้องอ่านตาม จะมาอ่านจริงๆ จังๆ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย พอดีอาจารย์สั่งให้เลือกหนังสือมาอ่าน ผมเลยเลือก 'คำพิพากษา' นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้อ่านหนังสือโทนประมาณนี้หรือแนวทำร้ายตัวละครเรื่อยมา"
ด้าน พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ หรือ 'ปั๊บ' หนุ่มนักเรียนนอกการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เจ้าของนวนิยายเรื่อง 'ลำนำหกพิภพ' ได้รับรางวัลดีเด่น Young Thai Artist Award 2006 เล่าว่า...
"ผมไปเรียนด้าน publishing ตอนเรียนมัธยมก็อยู่ชอบแล้ว เริ่มจากผมชอบเล่นเกม แต่ไม่ชอบตอนจบ รู้สึกว่ามันไม่สมหวังกับนางเอก ผมเลยต้องไปเขียนอีกเรื่อง เป็นเรื่องใหม่ให้มันจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง...เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียน เขียนมาเรื่อยๆ สักปี 2 ผมเริ่มเขียนเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง 'ลำนำหกพิภพ' เป็นแฟนตาซีไทย เขียนอยู่สัก 3 ปี จนผมจบมาทำงานก็เขียนเสร็จ ส่งเข้ามาประกวดครั้งแรกเขาบอกว่ายาวเกินไป ครั้งต่อมาเขาเปลี่ยนกติกาเลยลองส่งมาอีกที และได้รางวัลปีเดียวกับ 'ศักดา สาแก้ว' แต่ผมได้รางวัลดีเด่น
ตอนเรียนอยู่เมืองนอกมีอะไรอยากเขียนเยอะมาก ถ้าพูดถึงไอเดียตอนนี้อยากเขียนอีกเรื่องหนึ่งแล้ว กฎเกณฑ์ทุกอย่างในเมืองไทยหายไปหมดเลย เป็นกฎเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด อีกอย่างแม่ผมทำสำนักพิมพ์ด้วย ถ้าผมมีประสบการณ์และมีความรู้มากพอคงจะไปสืบต่อธุรกิจ และผมมีพี่สาวอีกคนหนึ่งเป็นนักเขียนเหมือนกัน คงจะช่วยกันดูแลกิจการและเป็นนักเขียนด้วย"
ธัชชัย ธัญญาวัลย หรือ 'อาร์ตี้' นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรวมบทกวีนิพนธ์ 'สามฤดู', 'เสียงแว่วของผืนแผ่นดิน', 'กล่องดวงใจ' และรวมเรื่องสั้น 'นิทานจัญไร' และ'เสี่ยอ้าย:รักเล็กๆ' พูดถึงจุดเริ่มต้นว่า...
"ผมสนใจการอ่านมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็อ่านมาเรื่อยๆ จนรู้สึกอยากเขียน เลยเริ่มเขียน ตอนเด็กๆ ไม่ได้เขียนเยอะ กระทั่งมาเรียนที่จุฬาฯ ปี 2 เลยส่งงานไปประกวดกับชมรมวรรณศิลป์ของจุฬาฯ ตอนนั้นได้รางวัลเลยเกิดความรู้สึกว่าน่าจะเขียนต่อไป ผมเอางานไปโพสต์ไว้ในบล็อกของตัวเอง ผมเริ่มจากเขียนบทกวีก่อน แต่เอาเรื่องสั้นไปโพสต์ในบล็อก บังเอิญว่ามี บก.มาเห็น เขาเข้ามาทักว่าอยากรวมเล่มไหม แต่ตอนนั้นผมมีเรื่องสั้นอยู่แค่ 2 เรื่อง แต่บอกเขาไปว่าเดี๋ยวเขียนให้อีก"
ส่วน ไกรสร วิชัยกุล หรือ 'หนุ่ม' จบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยส่งผลงานกวีเข้าร่วมโครงการประกวด "ตอนนั้นรางวัลนี้น่าจะจัดปีแรกๆ ตอนแรกผมว่าจะส่งงานศิลปะเข้าประกวด แต่ผมชอบเขียนกลอน เผอิญส่งงานศิลปะไม่ทัน เลยลองส่งบทกวี ความจริงผมชอบเรื่องสั้น แต่ผมคงไม่มีความสามารถจะเขียนเรื่องสั้นได้ตอนนี้ แต่ว่าเป็นคนชอบกลอน ผมตั้งใจทำเล่มนี้ตอนแฟนคนแรกของผมแต่งงานเพราะว่าเป็นประสบการณ์ตรงมาก เรื่องราวต่างๆ มันสมุดบันทึก ตอนนี้ผมยังไม่แน่ใจว่าอาจจะเขียนเป็นเรื่องสั้นได้ แต่ว่ากลอนมันออกมาแล้วและสามารถจะรวบรวมได้เลย"
ลองมาฟังเสียงของนักวิจารณ์อย่าง อ.สกุล บุณยทัต กล่าวว่า "เมื่อก่อนรู้สึกว่าหวังอะไรกับเด็กรุ่นใหม่ลำบาก ถ้าไม่ได้มาสัมผัสกับเด็กเหล่านี้ เพราะกระแสของหนังสือมันเปลี่ยนจากยุคสมัยก่อน ผมมีลูกในรุ่นราวคราวเดียวกับเด็กอย่างนี้ รู้แหละว่าเขาต้องอ่านหนังสือแนวแฟนตาซี ผมก็อ่านไปกับลูกเหมือนกัน มันเป็นเทรนด์ซึ่งต้องยอมรับในเงื่อนไข ต้องชื่นชม 'ศักดา สาแก้ว' ต่อหน้าต่อตาเลย ผมเคยวิจารณ์ไปตอนตัดสินแล้ว เขาเป็นคนเขียนงานที่มีรูปรอย มีสีสัน ถึงจะเศร้าแต่มันเกิดขึ้นเองแบบไม่ได้ยัด แต่เรื่อง 'ราตรี' ค่อนข้างจะยัดว่าฟอร์มแบบนี้เป็นงานที่ได้รางวัลเพราะในงานชิ้นแรกมันบริสุทธิ์ มันอาร์ตแบบออกมาสวยอย่างไม่ได้ตั้งใจ
ผมตื่นตะลึงกับ 'ลำนำหกพิภพ' คือในช่วงอ่านต้นฉบับครั้งแรก สงสัยว่าเด็กขนาดนี้เหรอเขียน แต่นั่นคือการตื่นตะลึง ผมดีใจที่ 'ภาณุ ตรัยเวช' โด่งดัง รวมทั้ง 'อดิศร ไพรวัฒนานุพันธ์' ก้าวไปไกล หรือ 'ฟาริดา วิรุฬหผล' ตอนนี้ไปเรียนต่อแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังไม่นึกมาก่อนว่าหนังสือ 'มหาตมะ คานธี' ที่อยู่ในตู้นั้นลูกสาวจะหยิบมาอ่านตอนไหน ถึงได้เป็นที่มาของ 'วีรบุรุษที่ตายแล้ว' เด็กที่ปั้นจากค่ายนี้หรือว่าได้เดินจากสายทางตรงนี้แล้วก้าวไปสู่ความสำเร็จ"
แม้แต่ ชาติ กอบจิตติ ยังมองเห็นความสามารถของเด็กรุ่นนี้ว่า "จริงๆ มีเด็กมีความสามารถเยอะ เพียงแต่สื่อไม่ได้ไปประโคมในสิ่งเหล่านั้น ไปประโคมกันแต่เด็กติดยา มั่วเซ็กซ์ และขายข่าวกันเป็นเรื่องเป็นราว บางทีมันต้องโทษเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าบ้านเราไม่มีคนดี ถ้ามันเลวกันหมดประเทศคงอยู่ไม่ได้แล้ว แต่ว่าไม่ได้ช่วยกันเชิดชู โอกาสอย่างนี้ไม่ค่อยได้เห็นกัน เงินทองเราอาจจะไม่ได้ให้เขา แต่เราให้ความรู้เขาเท่าที่ให้ได้ แล้วอีกอย่างผมมองว่าคนที่จะเรียนหรืออย่างที่มาคุยกันนี้ จะไปสอนไปจับมือมันคงไม่ได้ ถ้ามันจะเป็นก็คงเป็นโดยเนื้อของมันเอง เพียงแต่โอกาสที่มาได้รับการชี้แนะทำให้ไปได้เร็วขึ้น
อย่างค่ายของผมเปิดขึ้นที่บ้าน ต้องบอกว่าบางทีมันไม่ได้เป็นสูตรตายตัว สมมติมีขั้นตอนการเขียน 10 อย่าง ทุกคนต้องเริ่มจากหนึ่งหมด แต่ผมรู้แค่ 5-6 อย่าง ผมก็บอกคุณและที่เหลือต้องไปหาเอาเอง มันช่วยประหยัดเวลา คือแทนที่จะต้องไปเริ่มหนึ่งกับทุกคนมันก็จะทำให้เราไปช้า ทั้งหมดไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเองหรือตัวพวกนี้ เหมือนกับยกระดับการอ่านและการเขียนของประเทศด้วย"
นักเขียนสมัยก่อนอาจจะมีการพบปะพูดคุยกันเป็นประจำ "แต่สมัยนี้บางทีไปเจอกันตามอินเทอร์เน็ตหรือตามอะไร มันไม่มีความผูกพัน ไม่มีลักษณะเหมือนอย่างเก่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อก่อนดี เดี๋ยวนี้เลว มันอยู่ที่ตัวงาน ผมถึงได้บอกว่าคนเขียนงานเขาไม่มาสนใจหรอกว่าคุณจะเขียนอย่างไร คุณจะนั่งเขียน นอนเขียน เขียนด้วยคอมพ์หรือมือ เขาไม่สนใจหรอก เขาสนใจแค่ว่างานมันดีไหม ช่วงนี้มันเป็นวัยที่จะต้องตวงต้องหาความรู้แล้วทำงานให้หนัก พอแก่ๆ อย่างผมบางทีชักขี้เกียจแล้ว
การเขียนหนังสือของผมไม่ได้ต้องรีบอะไรขนาดนั้น แล้วไอ้แรงขับมันไม่ค่อยมีแล้ว บางทีรดน้ำต้นไม้สนุกกว่า ดูดอกไม้ เล่นกับหมากับแมว ผมรู้สึกว่ามันสนุกกว่า มันจะเป็นอย่างนั้น แต่ในช่วงนี้จำเป็นต้องตักตวงให้มากที่สุด ทั้งหมดทั้งปวงมันอยู่ที่ตัวเรา ต้องอย่าลืมว่าไม่มีใครบังคับให้เราเป็น แต่เราเลือกเองก็ต้องดันทุรังเอง" นักเขียนดับเบิลซีไรต์ กล่าว
อนาคตไม่ไกลคงจะได้เห็นนักเขียนฝีมือดีและนักอ่านคุณภาพเกิดขึ้นมากมาย
เอามาแปะไว้เผื่อหายไป จาก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/read-write/20090504/38432/Young-Thai-Artist--เวทีนักเขียนเยาวชน.html
เหตุการณ์เมื่อครั้งไปเข้าข่าย อ่าน-เขียน-เรียน-คิด รุ่นแรก
มีคำพูดของข้าพเจ้าอยู่ในนี้ด้วย
555