วันนี้โรงพิมพ์เอาหนังสือมาส่ง
945 เล่ม
ก็ไม่รู้จะเอามาตุนไว้ทำไม
แต่ก็ไม่เปลืองพื้นที่มากนัก
เผื่อมีโอกาสจัดโปรโมทชั่นเด็ด ๆ
ช่วงสัปดาห์นี้
ทำงานหลายวัน
เนื่องจากมีคนไม่สบาย
จึงต้องทำแทน
งานทำหนังสือก็ทำไปเรื่อย ๆ
และตามกำหนดคือ
เดือนกรกฎาคม
ต้นฉบับ
"แด่พระเจ้าผู้ไม่มีตัวตน"
จะพิมพ์เสร็จ
เป็นงานที่ต้องทะนุถนอมมากเหมือนกัน
และเป็นงานที่ต้องทำอย่างละเอียด
ครูหนู
หรือ อ.สกุล บุณยทัต
ที่ใคร ๆ ต่างรู้จักกัน
เป็นครูของข้าพเจ้า
ในเชิงการเขียน
ครูหนูนี่เอง
ที่เป็นผู้อ่านต้นฉบับบทกวีของข้าพเจ้า
ให้คำแนะนำ
โดยไม่มีท่าทีเบื่อหน่าย
ต่อความโง่งมและอหังการ์ของข้าพเจ้า
ซึ่งนึก ๆ ไปแล้ว
ก็ให้ตลกตัวเอง
เพราะหลาย ๆ บท
ข้าพเจ้าก็เขียนด้วยความไม่รู้เรื่องอะไรเสียเลยจริง ๆ
แต่ครูหนูก็อดทน
สั่งสอน
เรียกได้ว่า จิตวิญญาณของความเป็นครูนั้น
มีอยู่เต็มเปี่ยม
ครูหนูนี่เอง
ที่สอนให้ข้าพเจ้ารู้จักคำว่า เส้นเรื่อง
ทำให้ข้าพเจ้ามีความชัดเจน
และมีแก่นสารมากขึ้น
เวลาเขียนงาน
เส้นเรื่องนั้นสำคัญ
ครูหนูบอกแก่ข้าพเจ้า
แม้ว่าเราจะเขียนเรื่องราวพิสดารมากมายเท่าใด
หรือยากต่อความเข้าใจมากเท่าใด
หากมีเส้นเรื่องที่ดี
มีจุดประสงค์แจ่มชัด
สักวันก็ต้องมีคนเข้าใจงานของเราเอง
เส้นเรื่อง เป็นศัพท์ทางภาพยนตร์
แม้จะไม่ได้เป็นนักเสพภาพยนตร์
จะได้ชื่อว่า นักดูหนัง
แต่ข้าพเจ้าก็เคยทำหนัง
หนังสั้น
สั้น ๆ
ทำให้รู้กระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับหนังอยู่บ้าง
ซึ่งจะว่าไป
การทำหนัง
ถือเป็นการเล่าเรื่องที่ต้องใช้ศิลปะอย่างมาก
เป็นศาสตร์ที่วิวัฒนาการไปสูงมาก
ในแง่ของศาสตร์ การเล่าเรื่อง
กระนั้นก็ดี
ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ให้ความสำคัญว่า
อะไรดีกว่าอะไร
การเล่าเรื่อง
ขึ้นอยู่กับว่า
เราพอใจที่จะสร้าง ที่จะเสพ งานประเภทไหน
มากกว่า
ข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือ
ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ การเล่าเรื่อง
เป็นศาสตร์ที่มีความเฉพาะตัว
และวิวัฒนาการไปมากในทุกวันนี้
สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือคือ
เราสามารถอ่านตรงไหนเร็ว ๆ ก็ได้
ถ้าเราคุ้นเคยอยู่แล้ว
หรือเราเห็นว่า เราไม่สนใจ
โดยไม่เสียเวลา
ต่างกับการดูภาพยนตร์
หากมีฉากที่เราไม่ชอบหรือน่าเบื่อ
เราไม่อาจข้ามได้
ต้องดูตามที่คนทำกำหนดให้เราดูไปเรื่อย ๆ
ซึ่งอันนี้เป็นจุดหนึ่ง
ที่ต้องใช้ศิลปะอย่างยิ่ง เพื่อดึงดูด
ความคิดงู ๆ ปลา ๆ ของข้าพเจ้า
บางครั้ง
มันก็เรื่อยเปื่อย
หากสักวันหนึ่ง
ข้าพเจ้าเดินทางไปสู่ดินแดนแห่งหนึ่งแล้ว
เรื่องเล่าของข้าพเจ้า
ก็คงหายลับไป
อย่างไม่มีความทรงจำอะไรเหลืออยู่อีก
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗