ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

ของกลาง


บางครั้งความเจ็บปวดของชีวิตที่มากเกินไป

ก็ทำให้เราหลงลืมว่า

เราได้เคยทำอกุศกรรมเอาไว้

ครั้นเมื่อถึงคราที่เราต้องชดใช้

เรามักจะโอดครวญ  โวยวาย  และเป็นทุกข์

แท้แล้วมันก็คือผลการกระทำของเราเอง

เราเป็นผู้ทำทั้งสิ้น


แน่นอนเมื่อใดที่เรามีความสุข

นั่นเพราะผลแห่งกุศลกรรมที่เราได้ทำเอาไว้

และเราก็มักจะหลงลืม

ปล่อยเนื้อปล่อยตัว

หลงสติไปกับความสุข

จนเมื่อมันหายไป

เราจึงได้โอดครวญ  โวยวาย  และเป็นทุกข์


เราอาจลืมไปว่ากุศลกรรมและอกุศลกรรมย่อมให้ผลอย่างไม่ตกหล่นสูญหาย

เราอาจลืมไปว่าความทุกข์เป็นของชั่วคราว

เช่นเดียวกับความสุขซึ่งก็เป็นของชั่วคราว

ตราบเท่าที่เรายังต้องเกิดและตาย  เกิดและตาย

วนเวียนอยู่ในภพทั้งสาม  กำเนิดทั้งสี่

เราก็ย่อมตกอยู่ภายใต้แรงแห่งกรรม  และดื่มกินวิบากร่ำเรื่อย

กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของเสวย

มีกรรมเป็นของของตน

มีกรรมเป็นผู้ให้ผล

มีกรรมเป็นแดนเกิด

มีกรรมเป็นผู้ติดตาม

มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย


คำว่า  กรรม   นี้เป็นคำกลาง ๆ

แต่ผู้คนมักเข้าใจผิด

คิดเอาเองว่ากรรมคือผลของความชั่ว

แท้แล้ว  กรรม  เป็นคำกลาง ๆ  แปลว่า  การกระทำ

กฎแห่งกรรมก็คือ กฎแห่งการกระทำนั่นเอง

ส่วน  วิบาก  แปลว่า  ผลของกรรม


เมื่อเรามีความทุกข์  เราจึงควรนึกถึงกรรม

เช่นเดียวกัน  เมื่อเรามีความสุข  ก็เราจึงควรนึกถึงกรรม

วางจิตให้เป็นกลาง ๆ  เมื่อเป็นทุกข์

และวางจิตให้เป็นกลาง ๆ  เมื่อเป็นสุข


การโอดครวญไม่มีผลดีแต่ประการใด

ซ้ำยังเป็นการก่อทุกข์เพิ่มอีก

เป็นการก่ออกุศลกรรมให้แก่ตัวเองเพิ่มอีก

เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุด


สติ  ก็คือ  ความเป็นกลาง


แท้แล้วทุกสิ่งในโลกเป็นกลางทั้งสิ้น

เป็นของกลาง

เป็นกลาง ๆ

เราคิดเอาเองว่าเป็นของเรา  เป็นตัวเราเมื่อไหร่

ก็เกิดทุกข์เมื่อนั้น

นั่นจึงเป็นเหตุว่า  ทำไมศาสนาสอนให้ปล่อยวาง

เพราะเราถูกเพาะบ่มให้คิดว่าเป็นเราเป็นของเราเสมอตลอดมา

เพราะเราไม่รู้เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติ

ว่ามันไม่ใช่ของเราตั้งแต่แรก

เราเพียงหยิบยืมมาใช้เท่านั้น


ความทุกข์ก็ไม่ใช่ของเรา

ความสุขก็ไม่ใช่ของเรา

เป็นของกลาง ๆ  ในโลก

ใครหยิบเอามาก็ได้  เกิดกับใครก็ได้

เพราะมันเป็นของกลาง ๆ  ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง

และเป็นของที่มีมากมายเป็นอนันต์  ให้สัตว์ทั้งหลายใช้ได้ไม่หมดสิ้น

ตามกรรมของตัวเอง


แท้แล้วชีวิตจะว่าเลือกได้ก็ได้

เลือกไม่ได้ก็ได้

ที่ว่าเลือกได้นั้น

หมายความว่า

เราจะเลือกทำกุศลกรรมก็ได้  หรืออกุศลกรรมก็ได้

ที่ว่าเลือกไม่ได้นั้น

หมายความว่า  เมื่อกรรมใดให้ผล  เราย่อมต้องรับอย่างเลือกไม่ได้

และที่ว่าเลือกได้นั้น

หมายความว่า  แท้แล้ว  เราเลือกที่จะไม่รับผลก็ได้

หากว่า  เรารู้ว่าความจริงอันประเสริฐเป็นเช่นไร

และที่ว่าเลือกไม่ได้นั้น

หมายความว่า  แม้เรารู้ความจริงอันประเสริฐแล้ว

ผลที่จะเกิดกับรูปนาม  ก็เลือกไม่ได้อยู่ดี



หลวงปู่เทสก์  ท่านว่า  ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลางได้

ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งมวล



พ. พุทธังกุโร
๖  กันยายน  ๒๕๕๖