ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

การให้ทาน และความสงสัยของข้าพเจ้า



"...ถ้าปัจจัยทั้งสี่ประการนี้พร้อมเมื่อไหร่ ถวายก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามก็อาจมีผลานิสงส์มากกว่าถวายเงินนับแสนนับล้านบาทเสียอีก หรือถวายหนังสือเรียนธรรมะแก่สามเณรน้อยสักรูปหนึ่ง อาจให้ผลกลายเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องนับได้หลายร้อยภพชาติก็เป็นได้..." . วชิรเมธี ใน "ธรรมะทำไม"

ข้าพเจ้าไม่สงสัยเรื่องปัจจัยสี่ประการ (แต่ก็แอบสงสัยอยู่บ้าง เมื่ออ่านดี ๆ แล้วพบว่า

ข้อหนึ่งกับข้อสี่นั้นต่างกันอย่างไร ทำไมสงเคราะห์เข้าด้วยกันไม่ได้

คัดมาให้อ่านดังนี้

กล่าวโดยสรุป สาระสำคัญของการถวายทานไม่ได้อยู่ที่ข้าวของต้องใหญ่ ต้องหายาก ต้องวิจิตรงดงามอลังการ หรือราคาค่างวดของสิ่งที่จะถวายต้องมากหรือแพงลิบลิ่ว หากแต่อยู่ที่

. บุคคลผู้รับทาน คือพระสงฆ์ เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีศีลาจาวัตรงดงาม

. ปัจจัยหรือวัตถุที่จะถวายทาน เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม

. เจตนาในการให้ทาน บริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล คือ ทั้งก่อนให้ ขณะที่ให้ และหลังจากให้ไปแล้ว

. ผู้รับทาน คือ พระสงฆ์ มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น พระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ ๆ")

และไม่สงสัยในผลานิสงส์ของการถวายทาน

แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่า การถวายหนังสือธรรมะนั้น

ส่งผลให้เรากลายเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องจริงหรือ

มองผิวเผินดูเหมือนไม่มีอะไร

ถ้าเราถือตามกฎว่า ให้อะไรเราก็ได้อย่างนั้นกลับคืน

ซึ่งกฎอันนี้เป็นจริงแบบทื่อ ๆ

อย่างให้ข้าว เราก็ได้ข้าว ได้น้ำเราก็ได้น้ำ

อย่างนี้หรือเปล่า

แต่เท่าที่ข้าพเจ้าเคยสดับตรับฟังมา

ให้อาหารเป็นทานนั้น จะทำให้เราเป็นผู้มีพลัง

คือหมายเอาผลมาเป็นผล

อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน

ส่วนการให้ข้าวได้ข้าวนี้ ก็ไม่น่าจะผิดอะไร

หรือเราอาจจะคิดไปว่า ให้ข้าว แล้ว ชาติหน้าเราจะมีผลาหารสมบูรณ์

อย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าจะถูกต้องหรือเปล่า

แต่ที่แน่ ๆ เรารู้สึกว่า

มันไม่ขัดกับความรู้สึกของเรา

ถ้าอย่างนั้น ให้หนังสือเป็นทาน ก็น่าจะได้ความฉลาด

คือเทียบกับให้ข้าวแล้วได้พลัง


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น

เราต้องไม่ลืมกาลามสูตรที่ว่า

อย่าเชื่อเพียงเพราะมันเป็นตรรกะที่ควรเชื่อ

อย่าเชื่อเพราะมันเข้ากันได้กับความคิดความเชื่อของเรา

อย่าเชื่อเพราะอ้างตำรา

และอย่าเชื่อเพราะครูผู้กล่าวนั้นเป็นครูของเรา


จึงถ้อยกระทงที่ข้าพเจ้าจะกล่าวอ้างดังข้างล่างนี้

ก็ย่อมยังไม่ควรเชื่อ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ให้ทาน ทำให้ร่ำรวย

มีศีล ทำให้มีรูปงาม

มีภาวนา (สมถและวิปัสสนา) ทำให้ฉลาด

(แต่ทั้งนี้ในชาติหนึ่ง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับกรรมอื่นด้วย)


ถ้าเราให้หนังสือธรรมะ เราจะได้หนังสือธรรมะ หรือได้ความฉลาด

ถ้าคนที่ได้หนังสือที่เราให้ไปเอามันไปวางทิ้งไว้

หรือไม่ได้นำพาที่จะเปิดออกอ่าน

เขาจะได้ผลจากการให้ของเราหรือไม่

หรือเราคิดว่า

ก็กูให้ไปแล้ว เป็นการให้แล้ว

กูก็ย่อมได้ผล

มันจะเอาไปรองขาตู้หรือเอาไปชั่งกิโลขายก็ช่างหัวมันเถอะ


อย่างไรก็ตาม

โดยส่วนตัวข้าพเจ้าคิดว่า

ทุกอย่างก็มีผลสัมพันธ์กัน

แต่เราจะเหมาว่า ให้หนังสือธรรมะแล้วทำให้เราเป็นคนฉลาด

ถ้าอย่างนั้น ชาตินี้เราก็ไม่ต้องทำอะไร

ซื้อหนังสือธรรมะแจก ๆ ชาวบ้านไป

เดี๋ยว(ชาติหน้า)ก็ฉลาดขึ้นเอง

อย่างนั้นหรือ

(ข้าพเจ้าอ้างอย่างนี้เพราะในหนังสือดังกล่าว (หรือเล่มอื่น ๆ ) ของผู้เขียน ท่านมักอ้างทำนองนี้

ลองมาดูตัวอย่าง

ถ้าชีวิตคนเราจะดีขึ้นหรือเลวลงเพียงเพราะอิทธิพลของ "ชื่อ" (ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติ) เราก็ไม่น่าจะต้องเสียเวลาร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยกันตั้งหลาย ๆ ปี ไม่น่าจะเอาเงินทองไปทุ่มจ่ายค่าเทอมกันแพง ๆ เลย และวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่สอนให้คนรู้จักคิดรู้จักใช้เหตุผลกันในมหาวิทยาลัยควรจะโละทิ้งเสียด้วยก็ได้...ฯลฯ...อยากให้ชีวิตดี อยากให้อนาคตสดใส ก็เปลี่ยนชื่อที่มีความหมายดี ๆ เสียก็สิ้นเรื่อง อยากมีเงินก็เปลี่ยนชื่อที่มีความหมายในทางมีเงินมีทอง อยากมีอำนาจก็เปลี่ยนชื่อที่มีผลในทางเสริมอำนาจ ฯลฯ”)

ซึ่งแน่นอนว่า จะอ้างอย่างนี้ไม่ได้

ทั้งในกรณีทำบุญด้วยหนังสือ และกรณี "ชื่อ"

เพราะทุกอย่างย่อมมีหลายปัจจัย

เราจะปฏิเสธภูมิปัญญาบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับสมมุติที่มันเป็นกรรมและผลของกรรม

ที่ส่งผลถึงกันและกันในโลกซึ่งเป็นสมมุติสัจจะนั้น

ย่อมจะทำไม่ได้ทั้งหมด

แม้จะอ้างเหตุผลดิบดีน่าเชื่อถือเพียงใดก็ตาม

อย่างกรณีเรื่องชื่อนี้

ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีชื่อ

ที่กอปรด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล

เมื่อครั้นตรัสรู้แล้ว

พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกพระองค์เองใหม่ว่าเป็นพุทธะ

ถ้าชื่อมันไม่มีผลกระทบอะไร

หรือพระสงฆ์องค์เจ้า เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

ก็ไม่ต้องตั้งชื่อเสียให้ยาก

ก็เรียกพระเจ้าจึ๊กเจ้าจึ๋ย อะไรไปเสียก็สิ้นเรื่อง

เรื่องที่เป็นเรื่องสมมุติ ก็ต้องพิจารณาแบบสมมุติ

(เรื่องของบาปบุญนี้ก็ถือว่ายังอยู่ในโลกแบบสมมุติเช่นกัน)

จะคัดง้างแบบทิ้งจำพวกนี้ไปเลยเสียมิได้

เพราะคนก็คือคน เปลี่ยนชื่อแล้วอาจจะดีขึ้นก็ได้

เพราะชื่อทำให้ระลึกถึงธรรมบางอย่างอยู่เนือง ๆ

หรือเพราะชื่อทำให้มีกำลังใจ มีจิตเป็นกุศลจิต

โลกสมมุติมันก็ต้องมีกรรมและผลของกรรม

เรื่องอย่างนี้มันก็เป็นกรรมและผลของกรรมอย่างหนึ่ง

(จะอ้างถ้อยวาทกรรมเกี่ยวแก่ ชื่อนั้นสำคัญไฉน

หรือจะอ้างคำเดียรถีย์เช็กสเปียร์

มาคัดค้านเรื่องนี้ก็เชิญอ้างได้)



มีถ้อยคำว่า การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

การให้ทานก็ย่อมต้องพิจารณาตามปัจจัยที่กล่าวอ้าง

(เพราะยังเป็นเรื่องของ ทาน คือการให้)

วัตถุที่ให้ทาน

เจตนาในการให้ทาน

และผู้รับทาน


ในการให้ธรรมะเป็นทาน วัตถุที่ให้ก็คือธรรมะ หมายถึงเนื้อหาธรรม

ก็ต้องดูผู้รับด้วย

ไม่ใช่ว่า ให้ ๆ ไป

แจก ๆ หนังสือไป หรือเทศนาสั่งสอนไป

เพราะถ้าเราจะหมายเอาว่า

แค่ฉันได้แจกหนังสือ หรือ กล่าวสั่งสอนใครสักคนก็เป็นทานสุดยอดแล้ว

อย่างนี้อาจจะผิดก็ได้

เพราะคนที่รับเขาไม่อยากรับ หรือเขาไม่อยากฟัง

พูดไป ก็รังแต่จะเป็นโทษทั้งผู้ให้ (ผู้พูด) และผู้รับ (ผู้ฟัง) เปล่า ๆ

เอาหนังสือให้เขาไป เขาเอาไว้หนุนขาตู้ แล้วเราไปเห็นเข้า

เราก็เสียใจ คนเอาไปหนุนขาตู้ก็ต้องรับกรรมไป เพราะบางทีหนังสือมีรูปพระพุทธเจ้าอยู่

คนรับเป็นเดียรถีย์พวกนอกศาสนา อย่างนี้เป็นต้น

หรือพูดไป ๆ ไม่ถูกใจเขาเอาไม้ฟาดปากเอา อย่างนี้เป็นต้น

(เรื่องอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติว่าด้วยการแสดงธรรมเอาไว้อย่างแจ่มแจ้ง

ว่าการแสดงธรรม-ให้ธรรมเป็นทาน นั้น ควรแสดงเวลาใด ไม่ควรแสดงเวลาใด ในสถานการณ์ใดบ้าง)

ดังนั้น การให้ธรรมะเป็นทานก็ดี การให้หนังสือธรรมะเป็นทานก็ดี

ก็ต้องพิจารณาผู้รับเป็นสำคัญ (และผู้ให้ก็ยิ่งสำคัญ ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธหรือเปล่า)

ไม่อย่างนั้น ถ้าเราอยากให้ธรรมะเป็นทาน

ถ้าเราคิดว่า เรามีหน้าที่ให้ก็ให้ ๆ ไป

อย่างนี้ไปเทศน์ให้หัวตอฟังก็ได้

ซึ่งการเทศน์ให้หัวตอฟังนี้

ไม่ต่างจากเอาหนังสือธรรมะไปให้ผู้ไม่สนใจอ่านเลย

แม้ผู้นั้นจะชื่อว่าพระหรือว่าเณรก็ตาม

ถ้าเขาไม่เอาไม่อ่านแล้วไซร้

มันก็เท่านั้น

ดังนั้นที่เห็นตักบาตรหนังสือกันให้รึ่มอยู่ทุกวันนี้

ข้าพเจ้าสงสัยแท้ทีเดียวว่า

ทำไปแล้วเกิดผลดีอะไรมากกว่าการเอาหนังสือไปมอบให้โดยตรงบ้าง

ความจริงเราเอาให้ตรง ๆ ก็ได้

ไม่เห็นต้องไปทำพิธีกรรมตักบาตรอะไรกันให้วุ่นวาย

เปลืองทั้งเวลาและงบประมาณ

ถ้าเรามีเจตนาจะให้

เอาไปทิ้งไว้ให้รู้ว่าให้ เหมือนผ้าบังสุกุล

ก็ไม่เห็นจะเสียผลานิสงส์ อะไรสักน้อย

หรือเพราะวาทกรรมที่ว่า

ให้หนังสือแล้วชาติหน้าร้อยชาติถัดไปจะเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องอย่างนั้นหรือ

แล้ววาทกรรมนั้น เป็นจริงหรือเปล่า

จริงแล้วจริงมากน้อยแค่ไหน

อย่างนี้ต่างกันหรือเปล่ากับความเชื่อของบางสำนักที่ในหนังสือไปพาดพิงถึงเรื่อง

"ทำบุญมากได้มาก ทำบุญน้อยได้น้อย ทุ่มสุดตัวได้มากสุดประมาณ"

เพราะอย่างหลังนี่ก็เป็น วาทกรรม เหมือนกัน

และวาทกรรมทั้งสองนี้ก็ใช่จะผิดทั้งหมดเสียทีเดียว ส่วนถูกมีอยู่

แต่ผู้รับก็จะเหมือนกินข้าวผสมกรวดทรายนั่นแหละ

กล้ำกลืนกันไป ประโยชน์มากประโยชน์น้อยก็คงเป็นเรื่องของแต่ละคน



ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้คัดค้านหรือเห็นด้วยทั้งหมดทั้งมวลกับทั้งสองสำนักนี้

และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ กับทุกฝ่าย

หากข้าพเจ้าเพียงแต่สงสัยเท่านั้น

และไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อผู้หนึ่งผู้ใด

หรือทำตัวขัดขวาง

หากแต่เมื่อมีสิ่งที่ชวนให้สงสัย

ข้าพเจ้าในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง

ก็ย่อมต้องตั้งประเด็นขึ้นมา

ก็เท่านั้น

แท้แล้ว ความสงสัยของข้าพเจ้าก็มิได้มีเพียงเท่านี้

แต่ก็นั่นแหละ

ถึงอย่างไร

ข้าพเจ้าก็อาจเป็นเพียง "หมาเห่าตีนช้าง" เท่านั้น



หากบางที เท่าที่ข้าพเจ้าได้เห็นมา

ช้างแถว ๆ ถิ่นข้าพเจ้าอยู่ เวลาหมาเห่ากลับถอยกรูด ๆ ไปเสียก็มี

ไม่เชื่อเชิญมาทัศนา "พังปูเป้" ที่ข้าพเจ้าให้อาหารมันประจำ

มันเกรงหมาตัวเล็ก ๆ นัก

(ฮา)



ทิวฟ้า ทัดตะวัน
๔ มิถุนายน ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น: