ครั้งแรกเมื่อไปวัดป่านาคำน้อย
เป็นช่วงรอยต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่
คือ ปี ๒๕๕๓ กับ ๒๕๕๔
ไปครั้งแรกเป็นปลายปี ๒๕๕๓ เกือบสิ้นปี
ไปส่งปรัชญา
ปรัชญาเคยบวชที่วัดแห่งนี้พรรษาหนึ่ง
ก่อนหน้านั้นเคยหาสถานที่บวชอยู่หลายแห่ง
ข้าพเจ้าได้แนะนำวัดป่านาคำน้อยให้
ทั้งที่ตัวเองก็ยังไม่เคยไป
เพราะแต่ก่อนวัดที่ข้าพเจ้าไปเสมอ
คือ วัดป่าบ้านตาด
ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติสมาธิภาวนา
ก็เมื่ออายุประมาณ ๑๓-๑๔ ปี
ไปวัดป่าบ้านตาดครั้งแรกน่าจะอายุ ๑๕ ย่าง ๑๖
เพราะจำได้ว่า
วันเกิดครบรอบ ๑๖ ปีเต็มของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้ไปทำบุญที่วัดป่าบ้านตาด
การไปนั้นไปกับอาจารย์ท่านหนึ่ง
ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนแม่ของข้าพเจ้า
เป็นผู้สั่งสอนทั้งทางโลกและทางธรรม
เป็นผู้เกื้อหนุนข้าพเจ้าในทุก ๆ อย่าง
ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า
หากไม่มีท่าน
จะมีข้าพเจ้าในวันนี้หรือเปล่า
ข้อคิดคติอันใดข้าพเจ้าก็ได้มาจากท่าน
ในวันที่ทุกข์ยากไร้ที่พึ่งก็ได้ท่านเป็นที่พึ่ง
ขณะนั้นหลวงตาเริ่มโครงการผ้าป่าช่วยชาติมาได้ระยะหนึ่ง
วัดป่าบ้านตาดจึงเต็มไปด้วยผู้คนมาจากทุกสารทิศ
บางครั้งบางหน
ก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ
ที่วัดป่าบ้านตาดด้วย
ตลอดระยะเวลาการเรียน ม.ปลาย ๓ ปี
เสาร์อาทิตย์ ข้าพเจ้าไม่ได้เรียนพิเศษ
คนอื่นตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อไปเรียนพิเศษ
ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปวัด
(วัดป่าบ้านตาดห่างจากบ้านที่พักมาก
ต้องขับรถไป(ขับแบบเร็ว ๆ )ประมาณครึ่งชั่วโมง)
กว่าจะกลับก็เกือบเที่ยง
เป็นอย่างนี้เกือบทุกเสาร์อาทิตย์
ข้าพเจ้าได้ทราบว่า ศิษย์เอกหลวงตาท่านหนึ่ง
คือหลวงพ่ออินทร์ถวาย
สร้างวัดอยู่ที่อำเภอนายูง
ข้าพเจ้าจึงแนะนำปรัชญาให้ไปที่นั่น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอย่างไม่คิดฝันมาก่อน
เมื่อปรัชญาได้ไปแล้ว
จึงชักชวนข้าพเจ้าให้ไปด้วย
การเดินทางครั้งแรกไปด้วยพาหนะรถยนต์ ๒ ที่นั่งคันก่อนของข้าพเจ้า
ทางมืดมาก เพราะไปตั้งแต่ตีห้า
หน้าหนาว ตีห้ายังมืดราวกับกลางคืน
หมอกลงหนาจัดจนต้องเปิดไฟตัดหมอก
กระนั้นก็ยังมองไม่เห็นทาง
ข้าพเจ้าไม่คุ้นทาง
จึงค่อย ๆ ไป
ถึงวัดก็เกือบสว่าง
ตอนแรกคิดกันว่า
หากถึงเร็วจะตามพระไปบิณฑบาต
หากไม่ทันก็ไม่เป็นไร
ได้นำของที่จะไปถวายพระติดตัวไปด้วย
เผื่อใส่บาตร
ลงจากรถ
ปรัชญาพาข้าพเจ้าเดินเข้าไปในทางคดเคี้ยว
หลากหลายแยกในบริเวณวัด
เพื่อไปจุดนัดบิณฑบาตเส้นหลังวัด
วัดป่านาคำน้อย พื้นที่ ๑,๓๕๐ ไร่
ท่านทั้งหลายก็คิดดูเองละกันว่า
จากศาลาไปหลังวัด
จะไกลเพียงใด
ตอนนั้นยังมืดอยู่
ต้องใช้ไฟฉายส่องทาง
อากาศหนาวมาก
เมื่อไปถึงหลังวัด
ปรากฏว่าพระท่านออกเดินทางนานแล้ว
เราทั้งสองจึงรออยู่
รอพระท่านกลับมา
ซึ่งถ้าเป็นสมัยปัจจุบันคงรอเก้อ
เพราะพระจะมีรถรับกลับวัดหลังบิณฑบาตเสร็จ
หากตอนนั้น
ยังไม่มี
ก่อนหน้าที่จะมาวัดนี้นั้น
ปรัชญาได้เล่าถึงประสบการณ์ตอนบวชให้ข้าพเจ้าฟังเป็นอันมาก
รวมถึงครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ที่คอยแนะนำสั่งสอนเสมอ
ซึ่งครูบาอาจารย์ท่านนี้
เป็นที่เคารพของปรัชญา
ซึ่งสมัยที่บวชนั้น
ได้อาศัยตอนเดินบิณฑบาตกลับวัดนี้เอง
เป็นช่วงถามตอบปัญหา
ฟังธรรมะต่าง ๆ จากท่าน
เพราะเวลาอื่น ๆ ท่านต้องทำการงานอื่น ๆ มาก
ปรัชญาจึงอยากพาข้าพเจ้าไปพบท่านด้วย
ซึ่งข้าพเจ้าก็ยินดีอย่างที่สุด
รออยู่หลังวัดพักหนึ่ง
ก็มีพระเดินมาสองรูป
เราทั้งสองเข้าไปรับบาตร
ปรัชญารับพระที่อยู่ข้างหน้า
ข้าพเจ้ารับที่อยู่ข้างหลัง
ตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร
พระองค์ที่ข้าพเจ้ารับบาตรท่านมา
ท่านเอาสายบาตรคล้องคอให้ข้าพเจ้า
ความรู้สึก ณ ขณะนั้น
เป็นความรู้สึกพิเศษ
จะเรียกว่าเป็น ปีติ ก็ได้
คือมีความสุขแผ่ซ่านไปทั้งตัว เหมือนเวลานั่งสมาธิแล้วเกิดปีติ
แท้แล้ว
ก่อนที่จะรับบาตร
เราก็ได้เอาของที่เตรียมไว้
ใส่บาตรพระก่อน
เมื่อได้บาตรคล้องคอแล้ว
ก็เดินตามหลังพระกลับมาที่ศาลา
เป็นระยะทางไกลพอสมควร
แต่ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลย
ระหว่างนั้นก็มีการถามไถ่พูดคุยสนทนาเป็นปกติ
ข้าพเจ้าพยายามจับสังเกตว่า
องค์ไหนคือครูบาอาจารย์ที่ปรัชญาให้ความสำคัญ
ครั้นถึงศาลาแล้วก็มอบบาตรแก่ท่าน
เพื่อท่านจะได้ทำกิจของท่านต่อไป
เราก็ไปทำกิจของเรา
คือช่วยจัดอาหาร
เมื่อกิจธุระต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว
ปรัชญาก็ถามว่า
รู้ไหมครูบาวิทย์คือองค์ไหน
(คนอิสานเวลาเรียกพระจะเรียกลักษณนามเป็น องค์ เหมือนกันหมด
ไม่ว่าจะเป็นพระน้อยพระใหญ่)
ข้าพเจ้าบอกว่า
ก็พอจะรู้
แล้วก็เฉลยกัน
สรุปท่านที่เอาสายบาตรคล้องคอให้ข้าพเจ้านั้น
คือครูบาองค์ที่ปรัชญาบอกว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ข้าพเจ้าพยายามกินข้าวให้เร็ว
เพื่อจะได้ไปรับบาตรครูบาอาจารย์ไปล้างหลังท่านฉันเสร็จ
ก็ไปรออยู่ตรงตีนบันได
ร่วมกับเด็กวัดทั้งหลาย
เมื่อครูบาองค์ที่จดจำเอาไว้มาถึงแล้ว
ข้าพเจ้าก็เข้าไปรับบาตร
แล้วก็เดินไปที่โรงสำหรับล้าง
ครูบาถามข้าพเจ้าว่า
เคยล้างหรือเปล่า
ข้าพเจ้าตอบว่า ไม่เคยครับ
ท่านก็ทำให้ดู
จากนั้นก็แสดงวิธีเช็ดบาตร ใส่สลกบาตร
จัดวางบาตร
เป็นอันเสร็จพิธี
ข้าพเจ้าจึงไปรอที่บันไดเพื่อรับบาตรพระรูปหนึ่ง
แล้วก็ไปล้างให้
เป็นการทบทวนความเข้าใจ
จำไม่ได้ว่า
ตอนนั้นได้ถวายสังฆทานกับหลวงพ่อหรือเปล่า
หลังจากนั้นเดือนเมษายน ๒๕๕๔
ข้าพเจ้าจึงได้ไปวัดอีกครั้ง
เมื่อถึงก็ทำกิจตามที่ควรทำ
และรับบาตรครูบาวิทย์ไปล้าง
ซึ่งต่อมากลายเป็นกิจวัตรส่วนตัวของข้าพเจ้า
หากไม่มีธุระจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ
ก็ต้องล้างบาตรครูบาอาจารย์
ฝากข้อคิดอย่างหนึ่งสำหรับคนเป็นลูกศิษย์
เวลากินข้าวนี่ลูกศิษย์ต้องเร็ว
ต้องหูไวตาไว
ต้องกินเสร็จก่อนท่าน
ทำกิจธุระให้เสร็จก่อน
เพื่อจะได้ไปรับใช้ครูบาอาจารย์
มัวอืดอาดอยู่ไม่ได้
แต่เรื่องอย่างนี้ก็แล้วแต่คนจะพิจารณา
ยิ่งครูบาอาจารย์บางท่านท่านฉันน้อย
ก็จะยิ่งฉันเสร็จเร็ว
เราต้องคอยจับสังเกตให้ดี
คราวนั้นน่าจะถวายอัฐบริขาร มีบาตร และผ้าสามผืน เป็นต้นด้วย
และคราวนั้นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พาพ่อแม่ยายและเพื่อนบ้าน
ไปทำบุญที่วัดป่านาคำน้อย
ขณะที่ถวายบาตรและผ้าไตรนั้น
เมื่อรับแล้ว
หลวงพ่อให้พรว่า
"เอ้อ...ขอให้ได้บวชเน้อ"
ข้าพเจ้าก็สาธุ
แล้วคนอื่น ๆ ก็ถวายของตามแต่ละคน ๆ ไป
ตอนไปครั้งแรกยังไม่รู้จักสนิทสนมคุ้นเคย
หลวงพ่อก็ถามไถ่ว่า
มาจากไหนตั้งแต่ก่อนท่านจะนั่งเตียมอาหารเสียอีก
ท่านให้ความเมตตาเป็นกันเองกับแขกต่างถิ่นเป็นอย่างมาก
เมื่อถวายอัฐบริขารเสร็จแล้ว
ท่านก็ถามว่า
ใครเคยบวชหรือเปล่า
ทำไมรู้จักถวายบริขาร
พ่อข้าพเจ้าเคยบวชแต่ไม่กล้าบอกท่าน
สงสัยกลัวท่านจะถามคำถามยาก ๆ
(ฮา)
จากนั้นท่านก็เทศน์สั้น ๆ เรื่องอานิสงส์ของการถวายบริขารว่า
การถวายบริขารนั้น
หากได้เกิดในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
เมื่อพระองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา
ด้วยพุทธวาจาว่า
"เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด"
บริขารอันเป็นทิพย์ก็จักบังเกิดแก่ผู้นั้นทันที
ความจริงข้าพเจ้าก็รู้เรื่องนี้ดี
และเมื่อมาได้ยินจากปากของพระผู้ปฏิบัติชอบ
ยิ่งทำให้แน่นหนักในศรัทธาความเชื่อ
เรื่องถวายอัฐบริขารนี้ข้าพเจ้าเห็นแปลกอยู่อย่างหนึ่ง
คือในบรรดาพระที่ข้าพเจ้าได้ถวายบริขาร
ท่านที่ได้ชื่อว่า "พระดี" นั้น
เวลาถวายบาตร ถวายไตร ท่านจะเอ่ยปากถามทันที
อย่างเมื่อสมัยก่อน
ข้าพเจ้าไปถวายอัฐบริขารแด่หลวงพ่อวิริยังค์
ท่านถามขึ้นว่า "เอ้อ นี่ใคร ถวายบาตร"
ตอนนั้นท่านผ่าตัดตาอยู่ในระยะพัก มองไม่เห็น
ปกติเวลาถวายเงินเป็นหมื่น
ท่านไม่เคยเอ่ยปาก
แต่พอถวายบาตรเท่านั้นแหละ
ท่านถามเลย "นี่ใคร"
ข้าพเจ้าจึงได้ความเข้าใจ(เอาเอง)เกิดขึ้นว่า
พระที่เป็นพระแท้ท่านชื่นชมการถวายอัฐบริขารยิ่งกว่าการถวายอย่างอื่น
เพราะบริขารนี้ชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับดำรงชีพของสมณะ
ยิ่งบาตรนี่ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น
เราจะสังเกตจากพุทธประวัติว่า
ครั้งที่อุบาสกสองคนจะถวายข้าวมื้อแรกหลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้นั้น
พระพุทธเจ้าทรงมีปริวิตกว่า จะใช้สิ่งใดรับอาหารดีหนอ
ก็ร้อนถึงท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ต้องเอาบาตรมาถวาย
และทรงประสานบาตรทั้งสี่ให้เป็นใบเดียว
เกิดเป็นพระพุทธรูปที่คนประดิษฐ์ขึ้นภายหลังเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ว่า
ปางประสานบาตร
ที่นี้อาจมีคนสงสัยว่า
อ้าว แล้วบาตรที่ทรงใช้ก่อนตรัสรู้ได้มาอย่างไร
และหายไปไหนเสียแล้ว
ก็โปรดพิจารณาในปฐมสมโพธิกถานี้เองเถิด
"ลำดับนั้น สมเด็จพระพิชิตมารจึงปริวิตกว่า บาตรของตถาคตก็บมิได้มี แลเยี่ยงอย่างพระชินสีห์แต่ปางก่อนทรงรับบิณฑบาตด้วยพระหัตถ์มีบ้างหรือประการใด แลกาลบัดนี้ตถาคตจะรับซึ่งข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงด้วยเหตุดั่งฤๅ พระสัพพัญญูทรงพระจินตนาดังนี้ด้วยเหตุอันใด? วิสัชนาว่า แท้จริง อันว่าบาตรอันฆฏิการมหาพรหมถวายนั้น อันตรธานแต่ในกาลเมื่อรับมธุปายาสแห่งนางสุชาดา ทรงรับถาดปายาสเสวยแล้วนำไปลอยในกระแสน้ำเนรัญชรานที แต่ถาดนั้นก็จมลงไปอยู่ในพิภพแห่งพญากาฬนาคราชตั้งแต่วันนั้นมา ๔๙ วัน ก็มิได้เสวยพระกระยาหารสิ่งใด แต่ไม่มีอิดโรยหิวโหยพระกำลัง มิได้ทรงอยากซึ่งอันนปานาหาร พระอาการเป็นปรกติอยู่มิได้ทุพพลภาพ แลซึ่งพระพุทธอาโภคจะรับบิณฑบาตของสองพาณิชพี่น้องนั้น เพราะพระการุญจิตจะอนุเคราะห์แก่ชนทั้งสองจึงทรงพระปริวิตกดังนี้
ณ กาลนั้นจึงท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ทราบในพระพุทธอัธยาศัยก็นำเอาบาตรอันล้วนแล้วด้วยศิลา มีพรรณดังสีถั่วเขียวทั้ง ๔ บาตรมาทั้ง ๔ ทิศๆ ละองค์ น้อมเข้ากราบทูลถวายให้ทรงรับซึ่งข้าวสัตตุด้วยบาตรทิพย์ทั้ง ๔ สมเด็จพระชินสีห์ก็ทรงรับทั้ง ๔ บาตร เพื่อจะรักษาปสาทศรัทธาแห่งท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ ใช่จะทรงรับด้วยมหิจฉภาพเจตนานั้นหามิได้ จึงทรงพระอธิษฐานผสานบาตรทั้ง ๔ เข้าเป็นบาตรเดียวแล้ว ก็ทรงรับข้าวสัตตุด้วยบาตรนั้น ทรงกระทำภัตกิจ กาลเมื่อเสวยเสร็จแล้ว"
ข้าพเจ้าได้ถวายบาตรไปสามครั้งแล้ว
(หมายถึงถวายด้วยตัวเอง ไม่นับรวมที่ซื้อให้คนอื่นถวาย)
เหลืออีกเพียงครั้งเดียวก็จะครบตามที่ตั้งใจ
คือตั้งใจว่าชาตินี้
จะถวายบาตรให้ได้อย่างน้อย
สี่บาตร
เพราะเลขสี่นี้มีความหมายอย่างมาก
คาถาต่าง ๆ ก็มักจะมี สี่บาท เป็นหนึ่งบท
ธรรมะต่าง ๆ ก็มีสี่ข้อ
และที่สำคัญ ข้าพเจ้าเกิดวันที่ ๔
เลขสี่จึงสำคัญกับข้าพเจ้าฉะนี้
ถวายบาตรนี้
ปรัชญาเคยแซวข้าพเจ้าเล่น ๆ ว่า
ถวายไว้เยอะอย่างนี้ระวัง
ถึงเวลานั้นขึ้นมาสงสัย
บาตรคงจะลอยมาชนกันดังโคล้งเคล้ง ๆ
(ฮา)
ขึ้นชื่อว่าการทำบุญแล้ว
เป็นความอิ่มใจอย่างหนึ่ง
ให้เท่าไหร่ก็ไม่พอ
ข้าพเจ้าได้พรว่า ให้ได้บวช จากหลวงพ่อ สองครั้ง
ครั้งแรกที่ถวายบาตรคนเดียว
กับอีกครั้งหนึ่ง
ที่ถวายพร้อมแพรวา
หลวงพ่อให้พรข้าพเจ้าว่า ให้ได้บวชเป็นภิษุเน้อ
พอแพรวาถวาย ท่านก็ว่า อันนี้ก็ให้ได้บวชเป็นภิกษุณี
ธรรมดาว่าคำพูดพระอรหันต์ย่อมเป็นหนึ่งไม่มีสอง
จึงได้แน่ใจว่า
ข้าพเจ้าจะได้บวชเป็นแน่แท้
ถึงไม่ได้ชาตินี้
ชาติหน้าก็คงได้
(ฮา)
ก็เพราะตรึกเรื่องคำพูดหลวงพ่อนี่เอง
เมื่อครั้งท่านให้พรว่า
"ให้รวย ๆ เน้อ"
ข้าพเจ้าจึงเชื่อมั่นว่า
ต้องเกิดเรื่องดี ๆ ขึ้นกับชีวิตในไม่ช้า
และสุดท้ายก็เป็นความจริง
เรื่องถวายบาตรนี้
พ่อแม่ของข้าพเจ้าก็ถวาย
ท่านก็ไม่ได้ให้พรว่า ให้ได้เป็นภิกษุ หรืออะไรเหมือนข้าพเจ้า
หรือตอนยายถวาย ท่านก็ว่า "ให้ได้บุญหลาย ๆ เด้อยาย"
เคยได้สดับมาเกี่ยวแก่การถวายบาตร
หลวงปู่มั่นท่านว่า
ถวายเครื่องโลหะ (เช่น บาตร เข็ม มีดโกน) เป็นการเพิ่มพูนปัญญาบารมี
ถวายเครื่องนั่ง (เช่น อาสนะ) เพิ่มพูนสมาธิ
ความว่าอย่างนี้
ก็ท่านทั้งหลายโปรดพิจารณาดู
เหตุว่า ทำไมข้าพเจ้าจ้องจะถวายอัฐบริขาร
เหตุก็มาแต่เรื่อง
พระพาหิยะ ที่ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้บรรลุอรหันต์แล้ว
แต่ไม่มีบริขารทิพย์บังเกิดขึ้น
เพราะไม่เคยถวายไว้แต่กาลก่อน
พระพุทธองค์ให้ไปเสาะหาบริขารกระทั่งถูกวัวชนจนมรณภาพ
เข้าสู่นิพพานไป
ฟังแล้วสลดสังเวชใจ
เออ ท่านอุตส่าห์ได้เป็นพระอรหันต์ แล้วเชียว
จึงพิจารณาตัวเองว่า
หากเป็นเรา จะทำอย่างไร
ในเมื่อขณะนี้พระผู้ปฏิบัติดีก็มีอยู่
ศาสนาพุทธก็มีอยู่สมบูรณ์
ทำไมเราไม่ทำบุญไว้ให้มาก ๆ
อะไรที่ทำได้ก็ต้องรีบทำ
ถ้าไม่ทำชาตินี้ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าชาติหน้าชาติไหน
จะเกิดมาพบพระศาสนาอีกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
ถ้าเกิดไม่พบเลย ไม่ได้ทำเลย หรือเกิดมาพบแล้วแต่ไม่ได้ทำ
เดี๋ยวเป็นแบบพระพาหิยะ ไม่มีบริขารทิพย์ อย่างนี้ข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนา
แต่ใครจะปรารถนาอย่างนั้นก็ได้
สบายดี บรรลุธรรมแล้วไปเลย ไม่ต้องยุ่งทางโลกอีก
พระพาหิยะนี้ ท่านได้ชื่อว่า เป็นผู้เลิศในทางขิปปาภิญญา
คือ ตรัสรู้เร็วพลัน ด้วย
พ. พุทธังกุโร
๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๖