ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

ว่าด้วยวสันตดิลกฉันท์และความเวิ่นเว้อจากสิ่งนั้น



งานเก่าเล่าใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เป็นวสันตดิลกฉันท์

ขึ้นชื่อว่าฉันท์นี้

ข้าพเจ้าไม่ใคร่สันทัดนัก

เนื่องจากหาคำมาลงยาก

แต่วสันตดิลกนี้ไม่ยากมาก

พอมีพื้นที่ให้หายใจหายคอบ้าง

ฉันท์มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ

การแบ่งจังหวะชัดเจน

เป็นระเบียบแบบแผน

นี่ถ้าบังคับเอกโทเข้าไปด้วย

จะกลายเป็นฉันทลักษณ์โหดหิน

เอาไว้ฝึกปรือสำหรับนักกลอนกันเลยทีเดียว


วสันตดิลกนั้น

แปลกันเอามันว่า

ฉันท์ฝนตก

ครูภาษาไทยสมัยมัธยมสอนมาอย่างนี้

ซึ่งข้าพเจ้าไม่ใคร่เห็นด้วยนัก

เพราะคำว่าวสันต์นั้นแปลตามจริงก็คือฤดูใบไม้ผลิ

ถ้าฤดูฝนนั้นต้องว่า  พรรษฤดู

ถ้าว่าตามต้นคำบาลีสันกฤต

ก็ต้องว่า  วสฺส  (บาลี) หรือ  วรฺษ  (สันสกฤต)

คนไทยเอามาใช้

ก็เพี้ยนเป็น  พ  พานเสีย

ความจริงคำว่า  วัสสะ  ก็มีใช้อยู่

ที่เห็นกันบ่อย ๆ  ก็คือ

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ที่เพี้ยนไปเป็น  วษา  ก็มี

แต่ถ้า  วสา  นั้นต้นคำเขาจะหมายถึง  มันเหลว  

ถ้าใครเพี้ยนไม่ดูตาม้าตาเรือก็จะได้เพี้ยนกันจริงจังล่ะทีนี้

555

ความจริง  วัสสา  หรือ  พรรษา  นั้นเป็นการใช้ไม่ตรงความหมายนัก   แต่ดิ้นไป  โดยหมายถึง  ปี  

เพราะสมัยก่อนเวลาเขานับปี  เขาก็นับเอาว่า

นี่ฤดูฝนที่เท่าไหร่แล้ว

เพราะอิงกับสังคมแบบเกษตรกรรม

ในภาษาไทยสมัยก่อน  เรียกว่า  ขวบข้าว

ซึ่งปัจจุบันก็ลดทอนลงเหลือแต่คำว่า  ขวบ  อย่างเดียว


มาเรื่องวสันตดิลกของเราต่อ

ความจริงมันเป็นภาษาวิบัติอย่างหนึ่ง

ที่เราไปเข้าใจเอาว่า

วสันตฤดู  คือ  ฤดูฝน

เพราะเมืองไทยมีสามฤดู

ถ้าระบบสี่ฤดูเขาก็จะมี

คิมหันต์  วสันต์  วัสสะ  และ  เหมันต์

แต่นั่นแหละถ้าโบราณทำผิด

เราจะอ้างว่า

มันเป็นการปรับคำมาใช้ในภาษาของเรา

เหมือนอย่างนักกลอนสมัยก่อน

เวลากลอนพาไปหาคำลงไม่ได้

ก็ "ผัน"  คำไปเรื่อย

อย่าง  กาย  ก็เป็น  กายา  กายิน  กาเยศ  ไปโน่น

เข้ารกเข้าพง

ก็อย่างที่เคยเอ่ยอยู่บ่อย ๆ  

สังคมไทยมันสังคม  เชื่อ-ฟัง

เราก็เชื่อฟัง  แต่ความจริงแล้วมันไม่เชื่อฟังหรอก

มันดื้อเงียบ

เราก็จะเอามานินทาลับหลัง

สังคมไทยจึงเป็นสังคมระบบเชื่อฟังและขี้นินทา

ซึ่งจะไม่เหมือนสังคมตะวันตก

ที่เขาเป็นสังคมอ่าน-เขียน  และวิพากษ์วิจารณ์

คือ  ว่ากันไปซึ่ง ๆ  หน้า

ทีนี้สังคมขี้นินทาแบบไทย ๆ  

มันก็สั่งสมมาเรื่อย ๆ  

คือ  เชื่อฟัง  แต่ไม่เชื่อฟัง

มันก็กลายเป็นสังคมดัดจริต

มือถือสากปากถือศีล

ซึ่งก็เห็นได้ในปัจจุบันและนับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที

ทีนี้การผันแบบนี้สมัยก่อนเราก็บอกว่า

นักประพันธ์นั้นมีความสามารถทางภาษา

มีไหวพริบอัจฉริยะ  ทำให้เกิดคำใหม่  รุ่มรวยทางภาษาทางความคิด  เป็นเอกสิทธิ์ของกวี  หรืออะไรก็สรรเสริญกันไป


แต่ไอ้แบบ  กายิน  กาเยน  กาเยศ  ในปัจจุบันนั้นนักกลอนเขาไม่เล่นกันแล้ว

ใครเล่นอยู่ก็เชยมาก  หรือแค่ระดับเอาไว้ฝึกฝีมือฝีปาก

เพราะนอกจากจะทำให้เกิดสำนวนโบราณแล้ว  ยังมีการเหยียดว่า  อับจนปัญญา  ไม่มีปัญญาหาคำ

ดีแต่กลอนพาไป  ไหลเรื่อยเป็นคนเมา 

เดี๋ยวนี้เขาเน้นการตกผลึกกันมาก

ถ้ากวีก่อนหน้ากวีผลึก  ก็เป็นกวีอารมณ์

เรียกว่า  เอาอารมณ์เป็นใหญ่

ต้องได้อารมณ์ถึงเขียนออกมา  หรือเขียนให้ได้อารมณ์แบบศิลปิน

อารมณ์พาไป  โกรธก็โกรธจนตัวสั่น  เกลียดก็เกลียดมาก

  "เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง"  เป็นตัวอย่างที่ดีของยุคอารมณ์  


ว่าแล้วก็เข้ามาที่วสันตดิลก  กันต่อดีว่า

555

นี่ก็เข้ารกเข้าพงไปเรื่อยเหมือนกัน

เรียกว่า  ฉันท์ฝนตก  คงไม่เหมาะ

ถ้าว่าเป็นฉันท์ที่งามเลิศดังฤดูใบไม้ผลิ  จะเข้าเค้ากว่า

หรือจะให้มีจินตนาการ  ก็ว่าไปซะว่า  เป็นฉันท์ที่มีเสียงคล้ายดังเสียงใบไม้ผลิ  อะไรอย่างนี้ก็ได้อารมณ์กวีอุปมาอุปไมยนัยประหวัดกันไป

เพราะ  ดิลก  นั้นแปลว่า  เลิศ  หรือ  ยอด  ความจริงมันแปลว่า  รอยแต้มหรือรอยเจิมที่หน้าผาก  เอาเข้าจริงตามความหมายต้นภาษาเขาก็ว่า  ไฝ  หรือ  รอยตกกระ

นั่นแหละ  ภาษาที่มันไม่ตายมันก็ดีดก็ดิ้น

ว่าจะลง  วสันตดิลก

ก็ร่ายมาซะยาว

เอาไว้คราวหน้าละกันครับ

หุหุ


ธัชชัย  ธัญญาวัลย
๑๕  มิถุนายน  ๒๕๕๕

ไม่มีความคิดเห็น: