แก่น เปลือก และกระพี้
เราต้องเลือกดูว่า
อะไรคือแก่น
อะไรคือเล่น
อะไรคือจริง
อะไรคือทำไปอย่างนั้น
กับอะไรคือสารัตถะ
มีพระอรหันต์หลายรูปทำตัวไม่เหมือนพระอรหันต์
ไม่สำรวม
ทำกิริยาอาการไม่เหมือนอุดมคติ(ที่เราคิดเอาเอง)
หากแต่แก่นแท้แห่งความจริง
คือความบริสุทธิ์
การมอง
ต้องมองให้รอบ
มองให้ลึก
มองให้ถึงแก่น
แล้วเราจะรู้ว่า
แท้แล้ว
อะไรที่เรานึกว่าขัดแย้งกัน
มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
สมัยก่อนข้าพเจ้าเคยมีบางสิ่งที่ขัดใจ
เมื่อครั้งข้าพเจ้ากลับบ้าน
และเจออาจารย์ท่านหนึ่งที่สนิทกัน
สนทนากัน
มีประโยคหนึ่งข้าพเจ้าจำได้
"ฉันไม่เชื่อหรอก ว่าหลวงตาจะเป็นพระอรหันต์
ยังโกรธเป็นฟืนเป็นไฟอยู่อย่างนั้น"
ใคร ๆ ก็รู้กันว่า
เวลาแสดงธรรมนั้น
เมื่อถึงจุดหนึ่งหลวงตาจะเทศน์ถึงพริกถึงขิง
ดุเด็ดเผ็ดมันเข้าไปเรื่อย ๆ
ที่ข้าพเจ้าได้ฟังมา
หลวงตาถอดแบบมาจากหลวงปู่มั่น
สดับจากคำที่บันทึกไว้
กอปรกับที่หลวงพ่อวิริยังค์ชอบเล่าให้ฟัง
ข้าพเจ้าก็เดาไม่ยากว่า
หลวงปู่มั่นเทศน์ด้วยวาจาท่าทีอย่างไร
หลังสนทนากับอาจารย์ท่านนั้นเสร็จ
ข้าพเจ้าก็คิดอยู่ว่า
นั่นเป็นเพียงกิริยาอาการของหลวงตาเท่านั้นเอง
หาใช่แก่นสารหรือแก่นแท้อันใดไม่
รุ่งเช้าวันต่อมา
ข้าพเจ้าไปวัดป่าบ้านตาด
มีประโยคหนึ่ง
หลวงตาพูดขึ้น
ทำนองว่า
"เราก็เทศน์ ก็ทำไปอย่างนั้นเองหรอกนะ"
มันเป็นความจริงว่า
เวลาที่ข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมแล้วสงสัยหรือติดขัดอันใด
หากเปิดหนังสือหลวงตา
จะพบคำตอบข้อนั้นทันที
แต่หากได้ไปวัด
สิ่งที่ติดขัด ข้องใจ หรือความขุ่นเคืองอันใด
ข้าพเจ้าก็จะได้ยินข้อไขนั้นจากปากหลวงตา
มันเป็นความสัมผัสพิเศษ
บางครั้งและหลายครั้ง
ที่ข้าพเจ้าก็ออกนอกลู่นอกรอยแห่งสติอยู่บ้าง
ข้าพเจ้าก็ด่าว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้
วิพากษ์วิจารณ์นั่นนี่ตามประสา
แต่เสร็จแล้วก็แล้วไป
บางทีก็ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมด้วยซ้ำ
แต่อาการมักจะขึงขังและแลดูจริงจัง
ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นอรหันต์ หรืออริยะขั้นใด
ดังนั้น
มันก็มีบ้าง
ที่จะมีอารมณ์ร่วม
แต่เมื่อเรากระทำออกไปแล้ว
เราก็ต้องตัดทิ้ง ๆ เสียทันที
อย่าให้เหลืออยู่ในใจ
ข้าพเจ้าบ่นว่าไป จบก็จบ
ไม่ได้เอามาแบกหาบแบกหามไว้หรือเอามาครุ่นคิดให้รำคาญใจ
จะมีเพียงเอามาไตร่ตรองบ้างในบางครั้ง
แต่เมื่อพิจารณาตกไปแล้ว
หมดข้อข้องใจในการกระทำนั้นแล้ว
ก็เป็นอันจบ
มีพระอริยะท่านหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า
ข้าพเจ้าตัดอารมณ์ได้เร็ว
มันเป็นเช่นนั้น
เพราะข้าพเจ้าฝึกมาเช่นนั้น
ไม่งั้นเราจะทำอะไรไม่ได้
เราจะฟุ้งซ่าน
เราจะเป็นบ้าได้
กับการที่ต้องทำอะไรหลายอย่างในชีวิตพร้อม ๆ กัน
มีนิทานเซ็นเรื่องหนึ่ง
ภิกษุสองรูป
เดินทางผ่านแม่น้ำ
ระหว่างทางข้ามแม่น้ำนั้น
มีหญิงสาวคนหนึ่งตกน้ำอยู่และกำลังจะจม
เป็นหญิงสาวที่สวยพอสมควร
มีผู้คนมุงดูหลายคนแต่ไม่มีใครช่วยอะไร
หนึ่งในสองของภิกษุจึงตัดสินใจกระโดดลงไปช่วยหญิงสาว
ช่วยขึ้นมาก็วางไว้บนฝั่ง ฝากคนอื่นปฐมพยาบาล
จากนั้นจึงเดินทางต่อ
ภิกษุเพื่อนกันเห็นเพื่อนทำอย่างนั้น
ก็ไม่พอใจ
เพราะคิดว่า เป็นพระไปจับต้องตัวสีกาอย่างนั้นมันไม่ได้ ไม่ถูก
แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร
เดินไปด้วยความเงียบและกระอักกระอ่วน
พอถึงสถานที่อันเหมาะสม
ภิกษุผู้กระอักกระอ่วนนั้นก็ถามภิกษุรูปที่ช่วยหญิงสาวว่า
ทำไมท่านทำอย่างนั้น มันไม่ถูกนะ
ภิกษุรูปนั้นจึงตอบว่า
ผมวางผู้หญิงคนนั้นตั้งแต่ช่วยขึ้นมาบนฝั่งแล้ว
ท่านยังแบกเธอเอาไว้อีกหรือ
จบ
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๖ ตุลาคม ๒๕๕๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น