ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

หรือออกจากความลวงยังมีลวง

หรือออกจากความลวงยังมีลวง

ข้าพเจ้าได้รับนิตยสารไทม์ (TIME) ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2554 (September 12, 2011) เมื่อหลายวันก่อน แต่เพิ่งมีโอกาสได้เปิดดูวันนี้ หัวข้อที่ขึ้นหน้าปกคือ What to Eat Now : uncovering the myths about food โดย นายแพทย์ออซ

นายแพทย์ออซคนนี้ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับมะเร็งไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นหัวข้อที่ขึ้นปกนิตยสารไทม์ (ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ; June 27, 2011) เช่นกัน คือ Taking Cancer Seriously

เนื้อหาภายในบทความเป็นเรื่องเชิง "เมื่อหมอเป็นมะเร็ง" หรืออะไรทำนองนี้ กล่าวคือ ตัวนายแพทย์ออซเอง ได้ตรวจพบก้อนเนื้องอก (polyp) ที่ลำไส้ใหญ่ โดยวิธีส่องกล้อง (colonoscopy) เมื่อครั้งฉลองวันเกิดครบรอบห้าสิบปี จากนั้นจึงตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ และผลปรากฏว่า ก้อนเนื้อนั้นเป็นระยะก่อนมะเร็ง (premalignant) ซึ่งทำให้เขาประหลาดใจมาก เพราะตัวเขาเองไม่เคยใช้ชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นมะเร็งเลย มีรูปแบบการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งการเลือกกินอาการ และการออกกำลังกาย

หลังจากอ่านบทความ What to Eat Now หรือ "เราควรกินอะไรดี" ในฉบับวันที่ 12 กันยายน จบ ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับความจริงและความลวง ข้าพเจ้านึกถึงหนังสือสองเล่ม

เล่มแรกคือ "รู้ไว้...ไม่โง่" ของ ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.. 2553 ซึ่งพูดถึงเรื่องไขมัน

ส่วนเล่มที่สอง "ลับแล, แก่งคอย" นวนิยายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.. 2552 ของ อุทิศ เหมะมูล

เกี่ยวกับบทความของนายแพทย์ออซนั้น กล่าวถึงการบริโภคอาหาร ว่าปัจจุบันนี้ควรกินอะไร และอย่างไร

นายแพทย์ออซเป็นศัลยแพทย์หัวใจ (heart surgeon) ผ่าตัดเห็นหัวใจคนมามาก ซึ่งเชื่อมโยงกับอาหารการกินได้อย่างแนบสนิท เพราะอาหารที่เรากินมีอิทธิพลสูงต่อการทำงานของหัวใจ รวมทั้งการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะไขมัน

ในเรื่องไขมันนั้น มีรายละเอียดแจ่มแจ้งในหนังสือ "รู้ไว้...ไม่โง่" โดยใจความสำคัญก็คือ เราถูกหลอกให้บริโภคไขมันไม่อิ่มตัวที่ผลิตจากถั่วเหลือง โดยกระบวนการของทุนนิยมและวิทยาศาสตร์สามานย์ (Bad Science) ทั้งที่ไขมันไม่อิ่มตัวจากถั่วเหลืองนั้นแท้จริงแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

หนังสือเล่มนี้บอกว่า เราควรบริโภคไขมันอิ่มตัว ซึ่งที่แนะนำคือ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันจากไขมันสัตว์ พร้อมกับบอกแหล่งซื้อหาน้ำมันมะพร้าวเรียบร้อยในโฆษณาปกหลัง

สมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) เป็นองค์กรหนึ่งที่เคยสนับสนุนให้บริโภคไขมันไม่อิ่มตัวจากถั่วเหลือง แต่ปัจจุบันกลับต่อต้านไขมันดังกล่าว และหันไปสนับสนุนไขมันอิ่มตัวแทน

ในบทความของนายแพทย์ออซนั้น พูดเป็นเสียงเดียวกับหนังสือ "รู้ไว้...ไม่โง่" ว่าควรบริโภคไขมันอิ่มตัว

นอกจากนี้ยังแนะนำให้บริโภคอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นมสด ไข่แดง เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้นักโภชนาการและแพทย์มักแนะนำให้หลีกเลี่ยง เนื่องจากมีไขมันและคลอเรสเตอรอลสูง เป็นอันตรายต่อร่างกายตามหลักการที่เชื่อกันอยู่

แต่กาลปัจจุบัน ณ พ.. 2554 ความเชื่อและคำแนะนำที่ปฏิบัติกันมาได้รับการพิสูจน์จากหลายงานวิจัยแล้วว่า ไม่เป็นความจริง

ข้าพเจ้าพลันนึกถึง "ลับแล, แก่งคอย"

นวนิยายเล่มนี้ นำเสนอเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ "ลับแล" ถูกแม่นำไปฝากไว้กับพระป่าในสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ตามเหตุผลของแม่เขาก็คือ "เสียสติเพราะผีเข้า" เด็กหนุ่มเล่าเรื่องจริงผสมเท็จของตนให้พระเจ้าอาวาสฟัง จนกระทั่งวันที่แม่มารับตัวกลับ ส่วนของความเท็จถูกปัดตก และความจริงทั้งหมดถูกเปิดเผยออกมา

จริงหรือ?

จริงหรือที่ว่าความจริงทั้งหมดถูกเปิดเผย

ความจริงบางอย่างถูกเฉลยในตอนท้ายจากปากของแม่เขาเอง อาทิ แท้แล้ว "แก่งคอย" พี่ชายของเขาตายตั้งแต่อายุห้าขวบ ไม่ใช่เขาผลักพี่ชายตกเหวตายแต่อย่างใด

นี่แหละที่ทำให้หนูแปลกใจ ไอ้ผีเจาะปากตัวนี้ไปขุดไปค้นมาจากที่ไหนถึงได้เป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่มันเล่า มันเป็นความผิดของหนูเอง มันเป็นอุบัติเหตุ หนูทำลูกเลี้ยงตายตั้งแต่อายุห้าขวบ แล้วไอ้ลูกคนนี้ไปสืบเสาะสร้างเรื่องราวมาจากไหนว่าแจ่งคอยเพิ่งจะตายไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มันบ่มีดอก...”

เรื่องของลูกตาเสริฐกับยายอุไร เรื่องหนีออกจากบ้าน เรื่องที่บอกว่าตัวเองมาดูแลพ่อตอนพ่อตาย

“...ฟามกิงทั้งหมดเป็นอย่างที่หนูเล่าให้หลวงพ่อฟัง...แล้วยังเรื่องที่ว่ามันอยู่ดูใจพ่อมันตลอดน่ะก็โกหกพกลมเอาทั้งนั้น...”

แน่นอนว่า นี่คือการคลายปมที่ขมวดไว้หนาหนึบและแน่นเหนียวของนวนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเรื่อง

เราเชื่อได้อย่างไรว่า คำพูดจากปากของแม่ของเขาเป็นความจริงแท้

ในเมื่อผู้เล่าคือ "ลับแล" ซึ่งเป็นจอมโกหกมาแต่แรก

จุดนี้ทำให้ไพล่นึกไปถึงเรื่อง "ในป่าละเมาะ" ของ ริวโนซุเกะ อะคุตะงะวะ ที่ทุกคนต่างยืนยันว่าตัวเองพูดความจริง แต่เราจะเชื่อได้หรือว่า ใครพูดความจริง แม้กระทั่งตัววิญญาณของผู้ตายเองก็ตาม ความจริงที่แต่ละคนยืนยันมั่นเหมาะในมุมของตนนั้น ตรงกับความจริงจริง ๆ แค่ไหน

การเล่าเรื่องของลับแลนั้นมีอยู่สองแบบ คือเล่าให้เจ้าอาวาสฟังแล้วผู้อ่านได้ยินไปด้วย กับอีกมุมมองหนึ่งคือ เล่าในฐานะผู้สังเกตตัวเองและเหตุการณ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างเขากับคนอ่าน

"ลับแล" เล่าว่า เจ้าอาวาสให้อยู่กุฏิหลังเดียวกับพระจัน

“ “หนุ่มอยู่ที่นี่ กับพระจัน ฟังคำเขาหากเขาใช้ให้หนุ่มทำอะไร" ...พระจันเอ่ยปากชวนผมไปที่กุฏิอีกหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่จัดเก็บข้าวของเครื่องใช้พวกถ้วยชามรามไห เสื่อ ที่นอน หมอน มุ้ง ผมเลือกเสื่อ หมอน และมุ้งมาชุดหนึ่ง แล้วเดินกลับมายังกุฏิของพระจันเพื่อลงมือจัดแจงที่หลับที่นอน...”

ตามปกติแล้วพระป่าจะเคร่งครัดในพระธรรมวินัย การให้โยมซึ่งก็คือ อนุปสัมบัน นอนกับภิกษุนั้น เป็นเรื่องผิดพระวินัยและเป็นอาบัติ ดัง พระอนุบัญญัติ ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ 5 ว่า "อนึ่ง ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน ยิ่งกว่า 2-3 คืน เป็นปาจิตตีย์"

ซึ่งตามคำบอกเล่าแล้ว ลับแลนอนร่วมกับพระจันในกุฏิมากกว่าสามคืนแน่นอน โดยอาศัยความในบทที่ 9 ที่บ่งบอกเวลาค่อนข้างชัดเจน “ผมมาอยู่ที่ สำนักสงฆ์บนยอดเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิได้เก้าวันกับแปดคืนแล้ว" นั่นหมายความว่าเก้าวันกับแปดคืนที่ผ่านมาล้วนอาศัยอยู่ในกุฏิพระจันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าอาวาสอนุญาตให้ลับแลอยู่กับพระจันจริง เราก็ไม่อาจเชื่อว่าลับแลได้นอนร่วมกับพระจันเกินกว่าสามคืนหรือไม่ ทั้งนี้ เพราะลับแลคือจอมโกหก

เรื่องนี้รวมความถึงที่เจ้าอาวาสให้ลับแลย้ายไปนอนที่กุฏิท่านในภายหลังด้วย

ลับแลยังเล่าอีกว่า "...และท่านเจ้าอาวาสก็ได้แถลงไขเป็นวิทยาทานกึ่งสะท้อนให้ผมได้สำนึกตัวว่าพระจันนั้นอยู่ในช่วงปลงอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่สันโดษ ทั้งสำนึกและประจานตนถึงหกราตรี ด้วยเหตุว่าในช่วงสายของสองวันก่อนพระจันได้มาสารภาพกับท่านเจ้าอาวาสว่า เขาได้ปล่อยให้อสุจิเคลื่อนในตอนหลับ และนี้เป็นเหตุให้พระจันต้องอยู่กรรมปลงอาบัติ..."

ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ได้กล่าวเกี่ยวกับพระอนุบัญญัติว่า "การปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน เป็นสังฆาทิเสส"

คำว่า เว้นไว้แต่ฝัน ก็หมายรวมเอาในขณะหลับที่ไม่รู้สึกเข้าไปด้วย อสุจิเคลื่อนขณะหลับหรือฝันจึงไม่ถือเป็นสังฆาทิเสส และกรณีนี้ข้าพเจ้าเคยถามเพื่อนที่ผ่านการบวชจากวัดป่าก็ว่าหาได้เป็นสังฆาทิเสสไม่

นอกจากนี้ยังไม่รวมเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น เรื่องต้นแหน ถนนมิตรภาพ เรื่องการทะเลาะกันกับลุงเสริฐเพื่อนบ้าน และอื่น ๆ อีก "สะระตะ" ที่ไม่รู้ว่า ลับแลโกหกอะไรเราไปบ้าง

ซึ่งถ้าเราเชื่อลับแล คนอื่นก็เป็นฝ่ายผิด แต่เราเชื่อได้แน่หรือว่า คนอื่น ๆ ถูกต้องจริง ๆ

แน่นอน แท้แล้วหากเราถอยออกมา เรื่องนี้ก็เป็นแค่นิยายเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องแต่ง หากสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกสร้างมาทั้งหมดจะไม่ได้ตรงหรือเป็นความจริงก็ไม่ใช่ปัญหา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราหมายเอาวาทกรรม "ชีวิตคือละคร"

นั่นย่อมเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วละครเรื่องไขมัน เรื่องมะเร็ง จะเป็นอย่างไร

ขนาดคนที่ใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ที่ปุถุชนคนหนึ่งสามารถทำได้เช่นนายแพทย์ออซยังเกือบเป็นมะเร็งหากไม่ตรวจพบเสียก่อน เขาทำอย่างที่เขาพูด แต่ไม่อาจเป็นดังสิ่งที่อยากเป็น แสดงให้เห็นว่าในชีวิตเรานั้น เราจะเชื่ออะไรได้มากแค่ไหน หรือว่าความจริงเขาพูดแต่ไม่ได้กระทำ หรือความจริงเป็นแค่การพูดเพื่อสิ่งแอบแฝงอื่น หลายครั้งเราก็ยากจะรู้

หรือให้เราเชื่อได้แค่ไหนว่าไม่ควรกินไขมันไม่อิ่มตัว ในเมื่อหนังสือที่แนะนำให้กินไขมันอิ่มตัวมีโฆษณาน้ำมันมะพร้าวหราอยู่ปกหลัง ซึ่งก็คือกระบวนการหนึ่งของทุนนิยม ไม่ต่างจากกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามที่เขาเฝ้าก่นด่า และเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า วิทยาศาสตร์ที่มารองรับการกินไขมันอิ่มตัวไม่ใช้กรรมวิธีวิทยาศาสตร์ที่เลว เหมือนดังที่อ้างว่าพวกน้ำมันถั่วเหลืองใช้

ในเมื่อโลกเป็นไปเช่นนี้ เราจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างไร เราควรเลือกข้างไหน ใครถูกใครผิด เราควรอยู่กับฝ่ายหนึ่งให้แน่ชัดแล้วประณามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเรามีทางออกอื่นหรือเปล่า

"ลับแล, แก่งคอย" คล้ายได้เสนอทางออกทางเลือกแก่เราสำหรับประเด็นนี้ว่า "...สังคมเราอยู่กันอย่างนี้นะ พุทธบ้างผีบ้างผสมผสานกันไป จริงบ้างเท็จบ้างปะปนกันไป แบ่งเบากันไป ประนีประนอมกันไป สำคัญที่สุดคือ ไปให้ถึงจุดหมายแห่งการเข้าถึงความสุข เอาเท่านี้ก่อน ส่วนดับทุกข์น่ะทีหลัง..."

ไม่ใช่การอยู่กับความจริงอย่างปรมัตทั้งหมด แต่อยู่อย่างมีความสุข อยู่กับความงาม ดังวาทกรรมในบรรทัดสุดท้าย

"สกัดความลวงออกไป เหลือไว้เพียงความงาม"

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราจะเชื่อถ้อยคำนี้ได้มากแค่ไหน ในเมื่อมันถูกบอกผ่าน "จอมโกหก"

และเราแน่ใจได้ล่ะหรือว่า แท้แล้ว ความงามนั้น มิใช่ความลวงอีกชั้นหนึ่ง

ธัชชัย ธัญญาวัลย

http://artyhouse.blogspot.com


8 ความคิดเห็น:

Jasmine กล่าวว่า...

ตระหนักถึงความจริงนี้มานานพอสมควร
ของที่ควรกินและไม่ควรกิน
สองปีก่อนคิดว่า ถ้าทำตามคำแนะนำของทฤษฎีหนึ่ง
เราคงต้องเขี่ยนี่เขี่ยนั่นออก
ไปขอซื้อไข่ขาวจากร้านทำขนมไทย
ถึงจุดหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราฟังทุกอย่าง
คงทานอะไรไม่ได้เลย
^^
จัสว่าทานอาหารไปตามธรรมชาติที่สะอาด
ปราศจากสิ่งแปลกปลอมเช่นยาฆ่าแมลง
หรือเชื้อโรคจากดินหรือปุ๋ยที่ไม่สะอาดสำคัญที่สุด
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จัสก็ว่ามันไม่ดี

... นั่นซีคะ
ความจริงแท้เพียงสัจธรรม
เกิด แก่ เจ็บ ตาย
รัก โลภ โกรธ หลง
อื่นๆ จัสว่ามันเป็น"ความจริงในเวลา"
ความจริงแท้ ไม่มีอะไรจริงกว่า
มีแต่จริง
^^

แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ

*

Jasmine กล่าวว่า...

ตระหนักถึงความจริงนี้มานานพอสมควร
ของที่ควรกินและไม่ควรกิน
สองปีก่อนคิดว่า ถ้าทำตามคำแนะนำของทฤษฎีหนึ่ง
เราคงต้องเขี่ยนี่เขี่ยนั่นออก
ไปขอซื้อไข่ขาวจากร้านทำขนมไทย
ถึงจุดหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราฟังทุกอย่าง
คงทานอะไรไม่ได้เลย
^^
จัสว่าทานอาหารไปตามธรรมชาติที่สะอาด
ปราศจากสิ่งแปลกปลอมเช่นยาฆ่าแมลง
หรือเชื้อโรคจากดินหรือปุ๋ยที่ไม่สะอาดสำคัญที่สุด
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จัสก็ว่ามันไม่ดี

... นั่นซีคะ
ความจริงแท้เพียงสัจธรรม
เกิด แก่ เจ็บ ตาย
รัก โลภ โกรธ หลง
อื่นๆ จัสว่ามันเป็น"ความจริงในเวลา"
ความจริงแท้ ไม่มีอะไรจริงกว่า
มีแต่จริง
^^

แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ

*

Jasmine กล่าวว่า...

ตระหนักถึงความจริงนี้มานานพอสมควร
ของที่ควรกินและไม่ควรกิน
สองปีก่อนคิดว่า ถ้าทำตามคำแนะนำของทฤษฎีหนึ่ง
เราคงต้องเขี่ยนี่เขี่ยนั่นออก
ไปขอซื้อไข่ขาวจากร้านทำขนมไทย
ถึงจุดหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราฟังทุกอย่าง
คงทานอะไรไม่ได้เลย
^^
จัสว่าทานอาหารไปตามธรรมชาติที่สะอาด
ปราศจากสิ่งแปลกปลอมเช่นยาฆ่าแมลง
หรือเชื้อโรคจากดินหรือปุ๋ยที่ไม่สะอาดสำคัญที่สุด
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ จัสก็ว่ามันไม่ดี

... นั่นซีคะ
ความจริงแท้เพียงสัจธรรม
เกิด แก่ เจ็บ ตาย
รัก โลภ โกรธ หลง
อื่นๆ จัสว่ามันเป็น"ความจริงในเวลา"
ความจริงแท้ ไม่มีอะไรจริงกว่า
มีแต่จริง
^^

แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ

*

artyhouse กล่าวว่า...

แท้แล้ว เวลา ก็อาจไม่ใช่ความจริงก็ได้นะครับ อิอิ

Jasmine กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
artyhouse กล่าวว่า...

อ้าว ลบไปแล้วเหรอครับ

Jasmine กล่าวว่า...

เวลาเป็นสิ่งสมมุติ
ความจริงในเวลา ล้วนแต่สมมุติ
เราสมมุติมันขึ้นมาและเห็นพ้องยอมรับว่ามันจริง
เช่นเงินแสดงตัวในรูปธนบัตรและเหรียญ
เมื่อวานเพิ่งเขียนถึงค่ะ

แต่สัจธรรม
มองไปแล้ว
ล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรมทั้งนั้นเลย
^^

เมื่อวันหยุด จัสเบราส์หาบทกวีของตนเอง
เจอสิ่งที่ทำให้ยิ้มแฉ่ง
บทกวีของจัส "มากเม็ดทราบ" ที่พูดถึงความจริง

...ความจริงของฉัน ความจริงของเธอ...
มีบางคนนำไปลงพร้อมชื่อและลิงค์มาที่บอร์ดปพส.
เง็บนั้นคือ ...
..
.
ใต้ร่มธรรม

จัสไม่เคยนึกเลยว่างานความคิดของจัส
จะอยู่ที่นั่นได้

^^

Jasmine กล่าวว่า...

อันที่ลบมันลงผิดกระทู้ค่ะ

ลบแล้วจัสเขียนใหม่

หายไปอีกแล้ว

ทำไมนะ

ไม่เป็นไร ไว้ลงใหม่ค่ะ

^^