ขึ้นหัวข้อมาอย่างนี้
ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องผ้าอนามัยแต่อย่างใด
555 (ฮาแต่เช้า)
การซึมซับ
ความจริงก็อยากเขียน การซึมทรัพย์ ด้วยเหมือนกัน
แต่วันนี้เขียนเรื่อง
การซึมซับ ก่อน
เหตุมันมาแต่การใคร่ครวญ
และจากประเด็นที่ตกค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกมานานหลายปี
ว่าด้วยการซึมซับ
คนเราจะมีการซึมซับอยู่ตลอดเวลา
เรียกว่า เป็นการรับรู้
หรือ การมีวิญญาณ นั่นเอง
การรับรู้เราจะรับรู้เข้ามาเรื่อย ๆ
แม้บางเรื่องที่เราแค่ผ่าน
ไม่ได้ตั้งมั่น หรือว่า มีสมาธิ
การซึมซับก็จะเกิดอยู่ดี
เพราะมันคือ การซึมซับ
การซึมซับมีอยู่ทุกขณะจิต
ทีนี้การซึมซับมันมีความสำคัญอย่างไร
ที่มันสำคัญก็เพราะว่า
มันส่งผลต่อชีวิตมนุษย์
เอาง่าย ๆ
สมมติเราดูละครเรยา
เราก็จะซึมซับละครเรื่องนี้ตลอดเรื่อง
ทั้งเรื่องดีและไม่ดี
และการซึมซับนี้
มันจะซึมลึกเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา
เวลาปกติมันก็จะไม่ปรากฏตัว
แต่สักวันหนึ่ง
หากเราซึมซับไปมาก ๆ
หรือมีสถานการณ์ที่ไปกระตุ้นจุดบางอย่าง
สิ่งเล็ก ๆ ที่ซึมซับทับถมกันมาเรื่อย ๆ
ก็จะแสดงตัวออกมา
โดยที่บางครั้ง
เราก็ไม่รู้ตัว
และการแสดงนี้
มันอาจจะไม่ได้แสดงเหมือนเปี๊ยบ
แต่มันจะแทรกซึมอยู่ในการแสดงออกของพฤติกรรมของเราอย่างแยบยล
จนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา
และการแสดงนี้
ก็ไม่ได้แสดงออกด้วยการกระทำทางกายอย่างเดียว
มันแสดงออกทางคำพูด สีหน้า อารมณ์ ความรู้สึก เสียงหัวเราะ แม้กระทั่งการร้องไห้ หรือความโศกเศร้าอื่น ๆ
อาจจะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน
ซึ่งจุดนี้เราจะสังเกตได้ง่ายมาก
ว่า ทำไมบางคนเวลาอยู่ใกล้คนคนหนึ่งมาก ๆ เขาก็จะมีการพูด หรือมีจังหวะจะโคนของน้ำเสียง หรืออื่น ๆ ไปคล้ายคลึงกับคนที่เขาอยู่ใกล้ ๆ
นั่นหมายความว่า เขาซึมซับ คนคนนั้นไปโดยไม่ตั้งใจ หรืออาจจะตั้งใจ แต่ถ้าตั้งใจก็ไม่เรียกว่า ซึมซับ เรียกว่า เลียนแบบ หรือ คล้าย ๆ เลียนแบบ
ทีนี้มาดูเรื่องเรยา
สมมติว่า เด็กดูเรยา แน่นอน
เด็กจะซึมซับ ซึมซับทุกเรื่องนั่นแหละ แม้ว่าจะมีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำ
แต่นั่นไม่ใช่ปราการขวางการซึมซับ
ในที่สุด พฤติกรรมของเรยา ก็จะซึมลึกเข้ามาในตัวเด็ก
และเด็กอาจจะมีแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งของพฤติกรรมของเรยา ออกมา อาจจะในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเมื่อเขาโตขึ้น หรือเมื่อเขาแก่
แม้ว่า สุดท้าย เราจะบอกอย่างไรก็ตามว่า ละครเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร ก็ไม่ช่วยให้การซับซับและการจะแสดงออกนี้หายไปได้เลย
มันเหมือนเด็ก ๆ ที่อ่านนิทานอีสป
แม้ในเรื่องจะสรุปว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
แต่ความเป็นจริง เด็กไม่ได้รู้แค่นั้น
เพราะเขาซึมซับเอาพฤติกรรมของหมาจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ เข้าไปแล้วโดยไม่รู้ตัว
และเด็กบางคนก็อาจจะซึมซับเอาตัวละครลูกแกะไปก็ได้
แต่การซึมซับแบบเอาตัวเองไปเป็นตัวละครนั้นค่อนข้างจะโจ๋งครึ่มเกินไป ดังนั้น เราจึงไม่เรียกว่า การซึมซับ
เรียกว่า การเลียนแบบ หรือ การมีตัวละครเป็น idol
แล้วเขาก็จะเลียนแบบตัวละครนั้น พยายามทำตัวเป็นตัวละครตัวนั้น
ดังนั้น เราจึงไม่อาจแปลกใจได้เลย ถ้าเราเห็นเด็กเลี้ยงแกะ สุนัขจิ้งจอก หรือ อะไรก็แล้วแต่ ในชีวิตประจำวัน
แต่เราต้องไม่ลืมว่า
ในสุนัขจิ้งจอกก็จะมีราชสีห์ และในเด็กเลี้ยงแกะก็จะมีหมาป่า อยู่ในนั้นด้วย
เพราะเขาซึมซับมันมาแล้วนั่นเอง
นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมคนเราจึงมีความหลากหลายในตัวเองนัก
ยิ่งคนที่รับรู้มามาก ซึมซับมาก ผ่านกระบวนการลัดสั้นของการเรียนรู้หรือการซึมซับมาก ๆ ทั้งจากประสบการณ์ตรงหรืออ้อม ก็จะยิ่งมีความซับซ้อนมาก
จึงไม่แปลกเลย ที่พวกที่อ่านหนังสือเยอะ
จะเป็นคนแปลก ๆ
หรือพวกนักการเมืองจะเจ้าเล่ห์เพทุบาย
หรือพวกนักธุรกิจจะซับซ้อนซ่อนเงื่อนและลื่นไหลในมายาคติ
เอวัง
Arty Dhanyaawalaya
12 05 2554