เรื่องความสุขนี้เป็นเรื่องที่พูดกันไม่จบไม่สิ้นเสียที เนื่องจากมีความฟั่นเฝืออยู่มากเกี่ยวกับความเห็นในเรื่องนี้
หากเป็นคติแบบโลก คงไม่เป็นปัญหาเท่าใดนัก แต่ถ้าในแง่ของปรมัตธรรมแล้ว เรื่องความสุขนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งที่ชาวพุทธพึงพิจารณาและตั้งตนไว้ให้ถูกต้อง
ความสุขแบบหยาบ
ความสุขแบบโลก ๆ หรือแบบหยาบ ๆ นั้นเป็นเรื่องง่ายไม่พิสดารอะไรนัก แต่เห็นได้ยากและละได้ยาก พระอริยะเจ้าชั้นอนาคามีขึ้นไปเท่านั้นจึงจะละความสุขประเภทนี้ได้
ความสุขแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ตามหลักปฏิจจสมุปบาท อายตนะภายนอก กับอายตนะภายในต้องกัน มีวิญญาณคือการรับรู้แล่นเข้า เกิดผัสสะ คือการกระทบ อวิชชากุมบังเหียนอยู่ จึงมีเวทนา
เวทนานี้แลคือตัวความสุข
ความจริงไม่ว่าจะสุขระดับใดก็มีการเกิดแบบนี้ทั้งนั้น แต่ในสุขแบบหยาบ ๆ มี ๕ อย่าง เรียกว่า กามคุณ ๕ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะ เหล่านี้คือ อายตนะภายนอก
ตา หู จมูก ลิ้น และ กาย เหล่านี้คืออายตนะภายใน
อายตนะภายนอกจับคู่กับอายตนะภายในเป็นคู่ ๆ คือ รูป-ตา เสียง-หู จมูก-กลิ่น รส-ลิ้น โผฏฐัพพะ-กาย
ความจริงแล้วยังมีอายตนะภายนอกและภายในอีกหนึ่งคู่ คือ ธัมมารมณ์-ใจ
เมื่อตาเห็นรูป มีวิญญาณ ( การรับรู้ ) แล่นไป เกิดผัสสะ ( การกระทบ ) เกิดเวทนา ( ความรู้สึก )
เวทนาแบ่งได้เป็น ๓ ดังที่รู้อยู่แล้ว ได้แก่ สุข ทุกข์ และ เฉย ๆ
ตัวเวทนานี้เองก่อให้เกิดตัณหา และก่อภพก่อชาติขึ้นจนเป็นทุกข์ในที่สุด
ศาสนาไม่ได้สอนให้มีความสุข
พระศาสนาของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนคนให้ถึงซึ่งความสุข หลักธรรมที่ทรงสอนมีแต่สอนเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับของทุกข์ และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
พระพุทธเจ้าทรงสอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มีชนบางจำพวกไม่รู้ คิดว่า มีทุกข์ ก็น่าจะมีสุข เป็นของคู่กัน ในระบบของโลกุตรธรรมไม่มีของคู่ มีแต่ “หนึ่ง” ของคู่มีแต่ในระบบของโลกียะเท่านั้น
ชนบางจำพวกบอกว่า เมื่อมี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ย่อมต้องมี นิจจัง สุขขัง อัตตา ซึ่งผิด
แล้วเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ข้อนี้ท่านพุทธทาสท่านได้อธิบายว่า เนื่องจากเป็นการอธิบายให้บุคคลทั่วไปฟัง เป็นภาษาชาวบ้านธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่ภาษาธรรม ในภาษาธรรมนั้นไม่พูดอย่างนี้
ถามว่าทำไมต้องพูดอย่างนี้ อุปมาเหมือนคนจะตกปลา ต้องมีเหยื่อล่อ เหยื่อในที่นี้คือความสุข เพื่อให้ถึงธรรมอันแท้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านทั่วไปนั้นปรารถนาสุขกันนัก
ความสุขมีหรือไม่
ตามหลักปรมัตแล้ว ความสุขไม่มี หลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่า “ที่ว่าสุข ๆ สุขนั้นก็คือความมัวเมาในทุกข์นั้นเอง”
ข้อนี้วินิจฉัยว่าอย่างไร
ความสุขนั้นเป็นทุกข์โดยสอง คือ
๑. เป็นทุกข์อยู่แล้ว โดยตัวของมันเองหรือโดยสภาวะ เนื่องจากความสุขนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์
๒. ความสุขนั้นเป็นตัวเหตุแห่งทุกข์ ตามหลักของปฏิจจสมุปบาท คือ เมื่อเกิดเวทนา ( สุข ทุกข์ เฉย ๆ ) ขึ้นแล้ว เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อมีชาติ ก็มี ชรา มรณะ โสก ปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ตามมา ดังนี้
ความสุขในความสงบ
ในสมาธิขั้นต่าง ๆ ย่อมมีความสุขเกิดขึ้น นอกจากสุขแล้ว ยังมีปีติ อีก ความสุขเหล่านี้
เป็นทุกข์อยู่หรือไม่ ตอบได้คำเดียวว่า เป็น ไม่ว่าจะสุขระดับไหน ๆ ก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ
เมื่อมีคำกล่าวดังนี้ก็จะมีคำถามตามมาว่า แล้วนิพพานเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ต้องตอบว่า นิพพานเป็นนิพพาน ในเมื่ออวิชชา คือตัวก่อเหตุดับไปแล้ว ยังจะมีสุขหรือทุกข์ได้อย่างไร
เพราะเหตุว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ
สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
เมื่อมีชาติก็มี ชรามรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ดังนั้น เมื่ออวิชชาดับ สิ่งที่ตามเป็นพรวนทั้งหลายก็ไม่มี สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี แม้กระทั่ง ความเฉย ๆ ก็ไม่มี
เป็นความดับสนิท ดับรอบ ดับสิ้น ที่เรียกว่า นิพพาน และความดับไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจแบบโลก ๆ ว่า ถ้าทุกข์ดับแล้วหรือหายไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็จะเป็นความสุข
นิพพานคือดับหมดจริง ๆ
นักปฏิบัติกับความสุข
ผู้ปฏิบัติธรรม พึงพิจารณาความสุขเสียให้ดีและละความสุขเสียให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสุขระดับใด
ความเห็นผิดเกี่ยวกับสมาธิ เกี่ยวกับความสงบมีอยู่มาก ชนทั้งหลายบางจำพวก ปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้ความสุข เพื่อให้มีความสุข เพื่อเอาความสุขจากสมาธิ จากฌานความสงบ แล้วก็ติดอยู่อย่างนั้น
ชนทั้งหลายบางจำพวกปรับเอาสมาธิไปเป็นเครื่องกำเนิดความสุข บำรุงบำเรอตน โดยลืมเนื้อแท้ จุดประสงค์ และประโยชน์อันยิ่งของสมาธิ
ผู้มีปัญญาทั้งหลายที่จักเจริญรอยตามพระบาทพระศาสดา พึงละเสียจากความสุข ไม่ว่าในระดับใด ไม่ว่าสุขหยาบ ๆ หรือสุขละเอียด ด้วยเหตุว่า
สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และ
เราไม่ควรเข้าไปเพื่อยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลายนั้น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ
เอวัง
ทิวฟ้า ทัดตะวัน
๓ กันยายน ๒๕๔๙
พิมพ์ครั้งแรกใน Jouney Vol. IV
photo from : http://chward106.tripod.com/random_graphics/index.album/purpleabstract?i=1&s=1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น