ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

หนึ่งในความทรงจำที่ล้ำค่ากับ "ผลส้มสีน้ำเงิน"


ข้าพเจ้าเพิ่งว่างจากภาระทั้งหลายวันนี้เอง เมื่อวานนี้ ( ๖ เมษายน ๒๕๕๐ ) ข้าพเจ้าตื่นแต่เช้า เพื่อที่จะเตรียมส่งหนังสือให้สายส่งแม่โพสพ โทรไปที่หมายเลขโทรศัพท์สำนักงานแต่ไม่ติด จึงโทรหาพี่ธรรม ( ธรรม ทัพบูรพา ) ติดแต่ไม่มีคนรับ ข้าพเจ้าจึงรอเวลาด้วยการเดินไปดูเจ้ากองหนังสือที่บรรจุห่อเรียบร้อยแล้ว ของหนังสือกวีนิพนธ์สุดที่รักของข้าพเจ้า “ผลส้มสีน้ำเงิน”
ก่อนหน้านี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่ข้าพเจ้าต้องนั่งติดสติ๊กเกอร์แก้คำผิดในหนังสือของตัวเอง ๕ จุด วันนั้นติดไป ๕๐ เล่ม โชคดีได้น้องและเพื่อนมาช่วยติด วันต่อมาคือวันที่ ๒ ๓ ๔ และ ๕ เมษายน ข้าพเจ้าต้องหอบหมอนลงมานอนใต้หอพักอันกำหนดว่าเป็นสำนักงานชั่วคราวเพื่อติดสติ๊กเกอร์ ข้าพเจ้าต้องอยู่ใต้หอสามคืนเต็ม ๆ อย่างที่ไม่ค่อยได้นอนเท่าไหร่ จะได้นอนเอาตอนประมาณตี ๔ ตี ๕ ตื่นมาอีกทีก็ ๖ โมงเช้า แล้วก็เริ่มงานต่อ น้องจะมาช่วยงานประมาณ ๑๐ โมง จากกนั้นก็จะได้กินข้าวเที่ยงประมาณบ่ายโมง และข้าวเย็นประมาณ ๖ โมงเย็น ( ปกติข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยได้กินข้าวครบสามมื้ออยู่แล้ว ยิ่งวันไหนตื่นสายก็อาจได้กินแค่มื้อเดียว คือ มื้อเย็น เพราะพอตื่นมาก็นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ )
คืนแรกแห่งการนอนใต้หอพัก ก็ได้น้องหมานอนเป็นเพื่อน คืนที่สองก็เช่นกัน จวบจนคืนที่สาม มีรุ่นพี่คณะครุศาสตร์ที่จบไปแล้ว มาช่วยอีกหนึ่งแรง เนื่องจากพี่สองคนชื่นชอบกวีนิพนธ์ เราจึงได้มานั่งอ่าน นั่งวิจารณ์กันอย่างสนุกสนานและออกรส จวบจนรุ่ง พี่คนหนึ่งชื่อพี่โมจิน ( นามสมมติ ) ชอบกวีนิพนธ์เป็นที่สุด และพี่เขาเล่นดนตรี จึงจับท่วงทำนองของอักษรได้อย่างง่ายดาย อีกคนหนึ่งชื่อพี่เพชร ( นามสมมติเช่นกัน อิอิ ) เป็นคนชอบเขียนโคลงและอ่านโคลง อีกทั้งยังเล่นดนตรี( แต่เป็นดนตรีไทย พี่โมจินเล่นดนตรีสากล) แถมยังเรียนมาด้านครุศาสตร์ จึงสามารถวิจารณ์ได้รอบทิศ ทั้งในด้านภาษา จังหวะ ท่วงทำนอง และความหมาย พี่โมจินนั้นทรหดอดทนกว่าข้าพเจ้านัก เพราะพี่เขาช่วยแปะสติ๊กเกอร์โดยไม่นอนเลยทีเดียว จวบจนรุ่งเช้า ประมาณ ๘ โมง ข้าพเจ้าสลบเหมือดไปเรียบร้อย ลืมตาตื่นขึ้นมาอีกทีตอน ๑๐ โมง พี่โมจินก็ยังคงนั่นแปะสติ๊กเกอร์อยู่
และในที่สุด ตอนเย็นของวันนั้น คือวันที่ ๕ เมษายน งานทุกอย่างก็เสร็จเรียบร้อย ด้วยความร่วมแรงของทุกท่านทุกคน
สรุปการทำงานคือ สี่วันกับ สามคืน ข้าพเจ้าไม่มีเวลาไปไหนเลย หนักกว่าช่วงสอบเสียอีก เพราะช่วงสอบ ข้าพเจ้ายังได้อ่านหนังสือพิมพ์ ยังได้เล่นคอมพิวเตอร์ แต่นี่ เหมือนตัดขาดจากโลก แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจ นี่คือปัญหาที่ต้องใช้ความทรหดอดทนที่สุดในการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ไม่นับปัญหายิบย่อยนานาประการ ที่ประสบมาตั้งแต่คิดอยากจะพิมพ์หนังสือ และจบจนเข้าโรงพิมพ์ จนอยู่ในกระบวนการพิมพ์ และอีกมากหลาย แต่ก็นั่นแหละ ปัญหาย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าของสรรพสิ่ง
ข้าพเจ้าผ่านพ้นมันแล้ว
แต่ปัญหายังไม่หมดไปเพียงเท่านั้น สิ่งที่ยังเหลือก็คือต้องเอาหนังสือส่งสายส่ง ซึ่งข้าเจ้าต้องเอาไปส่งเอง เพราะโรงพิมพ์หมดภาระแล้วกับการที่ต้องเอาหนังสือมาส่งให้แก่ข้าพเจ้าเพื่อแก้คำผิด
ข้าพเจ้าโทรหาพี่ธรรมอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะขอหมายเลขโทรศัพท์ของท่านอาจารย์ทองแถม เพื่อจะได้นำหนังสือไปส่ง คราวนี้พี่ธรรมรับโทรศัพท์ ข้าพเจ้าฟังเสียงก็พอทราบว่าพี่ธรรมเพิ่งตื่นเพราะทำงานหนักจึงนอนดึก และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยข้าพเจ้าจึงเรียกแท็กซี่มารับของ พอดีมีน้องรหัสโครงการจุฬาฯ-ชนบทเห็นข้าพเจ้ากำลังขนของจึงมาช่วยและไปเป็นเพื่อนที่จรัลสนิทวงศ์
ที่สำนักพิมพ์แม่โพสพ อาจารย์ทองแถมรออยู่แล้ว อาจารย์เป็นบุคคลที่ใจดีมากคนหนึ่ง ข้าพเจ้านั่งรถเลยสำนักพิมพ์ไป อาจารย์ก็โทรตามบอกว่า “คุณนั่งรถเลยไปแล้ว” เราต้องวกรถกลับมา แม้กระทั่งตอนยกหนังสือเข้าไปในสำนักงาน อาจารย์ก็ช่วยข้าพเจ้าและน้องยกจนเสร็จสิ้น ( ทั้งนี้เนื่องด้วยสำนักงานปิดวันจักรี ข้าพเจ้าไม่รู้เพราะทำงานจนลืมวันลืมคืน แต่อาจารย์ทองแถมมิได้คำนึงเรื่องนี้สักน้อย แม้สำนักงานจะปิดก็อุตส่าห์มาเปิดด้วยตนเอง )
ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ก็นั่งจิบน้ำชากัน อาจารย์แนะนำ “ชาจีน” ซึ่งได้บรรยากาศของความเป็นจีนโดยแท้ ส่วน “ชาอินเดีย” ที่อาจารย์ให้ลองนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่ารสชาติฝาดเฝื่อนเข้มข้นตามแบบฉบับของแขกอินเดียไปหน่อยจึงไม่ค่อยถูกกับปากข้าพเจ้านัก จากนั้นก็สนทนาเล็กน้อยถึงปานกลาง อาจารย์ก็ใจดี หอบหนังสือของสำนักพิมพ์ให้ข้าพเจ้าและน้องมากมาย รวมทั้ง “กรุงเทพกำศรวล” ของอาจารย์เอง
อาจารย์บอกว่าจะไปงานหนังสือ เพื่อเอาหนังสือไปให้เขาวาง ข้าพเจ้าก็ตั้งใจจะไปอยู่แล้ว จึงตกลงไปพร้อมกัน เพื่อที่ว่าข้าพเจ้าจะได้ช่วยอาจารย์หอบหิ้วหนังสือไปวางตามบูธต่าง ๆ
ขึ้นรถสองแถวไปลงหน้าปากซอยจากนั้นก็นั่งแท็กซี่จนถึงงานสัปดาห์หนังสือ หนังสือที่นำไปนั้นก็วางที่บูธ เกี้ยว-เกล้าพิมพการ F02 ของอาจารย์เนาวรัตน์ เป็นหนังสือปกเดียวที่ไม่ใช่ของอาจารย์เนาวรัตน์ที่ได้มีโอกาสวางชำแรกอยู่ นับเป็นเกียรติยิ่งนัก และข้าพเจ้าก็มอบหนังสือแด่อาจารย์เนาวรัตน์หนึ่งเล่ม อาจารย์เปิดดูคร่าว ๆ แล้วรำพึงเชิงถามกับข้าพเจ้าว่า เป็นกวีแบบแผน และบอกว่า เดี๋ยวจะอ่าน พร้อมกับวางลงไว้กับหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ( เป็นหนังสือวรรณคดีโบราณ ข้าพเจ้าไม่ทันสังเกตว่าเป็นเรื่องอะไร ช่วงนั้นก็มีฝรั่งท่านหนึ่งนำงานแปลเรื่อง “ผีเสื้อ เพื่อสี” ที่อาจารย์เนาวรัตน์เขียนมาให้อาจารย์ดู อาจารย์ทองแถมช่วยอธิบายให้ฝรั่งท่านนั้นเข้าใจความหมาย จึงได้มีการแก้ไขชื่อหัวข้อจากเดิม ( ซึ่งเขียนว่าอะไรข้าพเจ้าก็จำไม่ได้เพราะมองผ่าน ๆ ) เป็น A Butterfly born to be color the world ( ขออภัยหากข้าพเจ้าจำผิด ) จากนั้นอาจารย์ทองแถมก็แนะนำข้าพเจ้าให้อาจารย์เนาวรัตน์รู้จัก ( ทุกครั้งที่อาจารย์ทองแถมแนะนำข้าพเจ้ากับทุกคนที่รู้จัก ก็จะพูดด้วยนำเสียงยินดีว่า นี่เป็นกวี เป็นหมอฟันด้วยนะ เขียนโคลงด้วย หมอฟันเขียนโคลง เดี๋ยวต่อไปเราต้องฝาก-ชี้ไปที่ปาก ให้ดูแล แล้วก็หัวเราะอย่างมีความสุข ) ข้าพเจ้าสนทนากับอาจารย์เนาวรัตน์เล็กน้อย แล้วก็ขอลาไปกับอาจารย์ทองแถมเพื่อนำหนังสือวางบูธอื่นต่อไป คือบูธ ชนนิยม/แม่คำผาง/มิ่งมิตร N38 และ ฅอหนังสือ T32 เป็นอันเสร็จสิ้น จากนั้นก็เดินกันอยู่สักพักหนึ่ง ข้าพเจ้ากับน้องก็ขอลากลับ เพราะเย็นมากแล้ว
ข้าพเจ้ากลับมาด้วยหัวใจที่เป็นสุข หนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้ “ผลส้มสีน้ำเงิน” ได้ให้ประสบการณ์ล้ำค่าแก่ข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ดี ๆและแปลกใหม่ หนังสือทุกเล่มผ่านมือข้าพเจ้าทั้งสิ้น ไม่มีเล่มไหนที่ข้าพเจ้าไม่ได้แตะต้อง ข้าพเจ้ารักหนังสือเล่มนี้ที่สุด และแน่นอน ข้าพเจ้ารักทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมัน

ขอให้โลกสงบสุข
ทิวฟ้า ทัดตะวัน
๗ เมษายน ๒๕๕๐
ป.ล. ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้นดีนัก ข้าพเจ้ายังจะต้องนำหนังสือไปมอบให้ผู้ใหญ่อีกหลายท่านที่เคารพทั้งในและนอกวงการ

ไม่มีความคิดเห็น: