ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

ภาวะลิ้นติด (Tongue tie) คิดว่า อันตรายแค่ไหน


จริง ๆ ว่าจะพูดเรื่องนี้นานแล้ว 
แต่ยังไม่มีโอกาสสักที 
ความจริงที่ไม่มีโอกาสสักทีเพราะยังหารูปที่สมบูรณ์ไม่ได้ 555
คือบางทีเราทำ ๆ  ไปก็ลืมถ่าย  หรือถ่ายตอนต้นไม่ได้ถ่ายตอนจบ  บางทีถ่ายแต่ตอนจบ  อ้าว  ตอนต้นหายไปไหน  อะไรทำนองนี้  ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า  ตรงนี้ก็เป็นกันแทบทุกคนแหละ  เวลาเราทำงานเรามักจะไม่ค่อยได้เก็บภาพเอาไว้หรอก  ทำแล้วก็แล้วไป  เพราะถ้าไม่อยู่ในสถาบันการเรียนการสอน  ก็ไม่รู้ว่าจะเก็บภาพไว้ทำไม
ภาพอาจจะดูน่ากลัวไปหน่อย  แต่ถ้าเทียบกับการที่เราละเลยตรงนี้ไป  ความน่ากลัวของภาพจะเล็กน้อยลงทันทีเมื่อเทียบกับผลของมัน

เล่าเล่น ๆ  ให้ฟังอย่างไม่เป็นวิชาการก็แล้วกันนะครับ  เอาแบบเท่าที่นึกได้  เพราะไม่ค่อยมีเวลา  ท่านใดอยากรู้มากกว่านี้  หรือคิดว่ามีอะไรมากกว่านี้  ก็ลองเขียน ๆ  กันออกมานะครับ



ภาวะอย่างนี้เราเรียกกันว่า  ภาวะลิ้นติด  นะครับ  จริง ๆ  ไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกกันอย่างนี้หรือเปล่า  แต่ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า  น่าจะเรียกว่าอย่างนี้  เพราะปกติเราไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการเรียกสิ่งเหล่านี้กัน  ( ขี้เกียจค้นกูเกิ้ลด้วย) เราจะชินปากกับคำว่า  tongue tie  มากกว่า  และเอาจริง ๆ  ในชีวิตประจำวันก็ไม่มีใครใคร่พูดว่า ankyloglossia  คือถ้าใครพูดคำหลังนี้น่าจะเป็นพวกบ้าวิชาการมาก ๆ  หรือไม่ก็เป็นหมอปลอม  5555

ภาวะลิ้นติดนี้เอาจริง ๆ  แก้ไขได้ง่ายมาก ๆ  คือ ตอนเกิดถ้าหมอเห็น ก็ตัดออกซะ  แต่เท่าที่ข้าพเจ้าคุยกับหมอ (ซึ่งความจริงคุณหมอท่านนี้มาทำฟันกับข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าก็ตรวจพบว่า  อ้าว  คุณหมอเป็น tongue tie 5555  ข้าพเจ้าก็เลยแนะนำให้ตัด  แล้วก็เลยได้คุยเรื่องนี้กัน  คุณหมอบอกว่า  ไปตรวจเด็ก ๆ  เนี่ยก็เจอเยอะนะภาวะแบบนี้  แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรก็แค่บอกผู้ปกครองว่า  ลิ้นติด  พอถามว่า  แล้วความจริงหมอสูติฯ เขาตัดหรือเปล่า  คุณหมอที่ให้ความเห็นก็บอกว่า  ก็ไม่เห็นตัดกัน  เขาอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของหมอเด็ก  แต่พอไปถามหมอเด็ก  หมอเด็กก็อาจจะบอกว่า  เป็นเรื่องของหมอฟัน  พอมาถามหมอฟัน  หมอฟันก็บอกว่า  อ้าว  ซวยแล้วกรูวววว  555  อันนี้แซวเล่น  ความจริงคือหมอฟันโดยทั่วไปก็ไม่ได้สนใจภาวะนี้กันนัก  หรือบางคนอาจสนใจแต่ก็มีปัญหาคือ  จะตัดยังไง  เพราะเอาเข้าจริง ๆ  แม้กระทั่งในโรงเรียนทันตแพทย์ระดับปริญญาตรี  ก็ไม่ได้มีเคสให้ฝึกทำเรื่องนี้อย่างจริง ๆ  จัง ๆ  สอนกันแต่ในตำราเท่านั้น  และพูดตามตรงก็คือ  ตลอดระยะเวลาของการเรียนหกปี  ข้าพเจ้าไม่เคยดูเคสตัดลิ้นเลย  (ก็อาจจะเป็นความไม่มีโชคก็ได้ที่ไม่มีตารางขึ้นคลินิกตอนที่มีเคสแบบนี้)    

แต่เอาจริง ๆ  แล้ว  การตัดลิ้นในภาวะแบบนี้นั้น  ทำได้  “ง่ายมาก ๆ”  คือ  ทำง่ายกว่าทำฟันคุดเสียอีก 
หมอฟันที่สนใจงานเหล่านี้  ก็สามารถฝึกทำด้วยตัวเองได้
ความเสียหายมีอะไรบ้าง  หากเราไม่ตัดลิ้น  ในภาวะลิ้นติด 
ถ้าเป็นหมอทั่วไปก็อาจจะบอกว่า  ทำให้เด็กดูดนมได้ไม่ดี  ดูดนมได้ไม่ดีแล้วยังไง  ก็เจริญเติบโตผิดปกติ
ถ้าเป็นหมอฟัน  หมอฟันก็อาจจะบอกว่า  ทำให้พูดไม่ชัด  ทำให้การสบฟันมีปัญหา  ฟันเรียงตัวไม่ดี
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล  คนที่น่าจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด  น่าจะเป็นหมอที่ทำงานเกี่ยวกับการจัดฟัน 

มีคอนเซ็ปต์สมัยใหม่ว่าด้วยการจัดฟันว่า  
จัดฟันเขาเริ่มกันตั้งแต่เกิด (Orthodontics Start at Birth) 
ความจริงเป็นเรื่องชวนหัวว่า  แหม  เกิดมายังไม่มีฟันเลย  จะจัดฟันกันแล้วเหรอ 5555
แต่ความเป็นจริงกว่าก็คือ  แม้ว่าเกิดมายังไม่มีฟัน (จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่  แต่บางคนเกิดมาก็มีฟันเลยก็มีนะครับ  แต่เราจะยกเว้นกรณีนี้ไปก่อนก็แล้วกันเพราะว่ามัน “ไม่ปกติ”)  เราก็ไม่ควรลืมว่า  “หน่อฟัน”  น่ะ  เขาก็อยู่ในกระดูกเรียบร้อยแล้ว  และสิ่งสำคัญที่ทำให้ฟันอยู่ได้อย่างหนึ่งก็คือ  กระดูกขากรรไกรนั่นเอง
เป็นที่ทราบดีในหมู่แพทย์ทั่วไปว่า  ขากรรไกรบนและกระโหลกส่วนบนนั้น  เจริญเติบโตตามแรงดัน  เช่น  แรงดันของลูกตา  แรงดันของสมอง  หรือแม้กระทั่งแรงดันของลิ้น
ดังนั้น  การมีภาวะลิ้นติด  ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเจริญของขากรรไกรบน  ซึ่งแน่นอนว่า  หากขากรรไกรบนโตไม่ได้ตามปกติ  อะไรจะตามมาบ้าง  ยกตัวอย่างคร่าว ๆ  เช่น  ฟันซ้อนเก (เพราะไม่มีที่ให้ฟันขึ้น)  ระบบการหายใจผิดปกติ  เนื่องจากพอขากรรไกรบนไม่ขยายตัวตามปกติ  ก็จะมีผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบ  การที่มีทางเดินหายใจตีบแคบนั้น  ก็ส่งผลหลายอย่าง  เช่น  ทำให้อากาศเวียนไม่สะดวก  เมื่ออากาศเวียนไม่สะดวกก็ส่งผลต่อระบบอื่น ๆ  ให้รวนเรไปหมด

เรามักมีข้อสังเกตว่า  เด็กที่มีขากรรไกรบนผิดปกติ  มักมีปัญหาอย่างอื่นตามมา  เช่น  นอนหลับไม่สนิท  มีอาการสมาธิสั้น  ไฮเปอร์  เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะเมื่อทางเดินหายใจตีบแคบ  ก็จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ  การที่เด็กเป็นไฮเปอร์  ขยุกขยิก  หรือต้องกระโดดโลดเต้นอยู่ตลอดเวลาก็เพื่อที่จะให้อากาศนั้นเข้าไปในร่างกายได้มากขึ้น  นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ถูกวินิจฉัยว่า  สมาธิสั้น  นั่นเอง  ซึ่งอาการสมาธิสั้นแบบนี้เราอาจเรียกว่าเป็นสมาธิสั้นแบบเทียม  คือมันเกิดจากสภาวะร่างกายที่ผิดปกติ  ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ได้  สภาวะพวกนี้ก็อาจหายไป  
อันนี้ก็เล่าให้ฟังคร่าว ๆ  นะครับ  ถึงเรื่องราวว่า  ภาวะลิ้นติด  นั้น  ส่งผลเสียหายเพียงใด 
และผลเสียอีกอย่างที่นึกได้ก็คือ  เมื่อเด็กเริ่มหัดพูด  จะพูดไม่ได้  หรือพูดได้ไม่ชัด  ตรงนี้บางทีผู้ปกครองก็ไม่ได้เข้าใจปัญหาทั้งหมด  ก็อาจจะพาไปปรึกษา speech therapist  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการออกเสียงเหล่านี้บางคนก็ไม่ได้สังเกตว่า  ที่เด็กพูดไม่ชัดไม่ได้เป็นเพราะเขาพูดไม่ได้  แต่เป็นเพราะอวัยวะของเขาผิดปกติ  ก็จะพยายามเคี่ยวเข็ญกัน  ซึ่งสุดท้ายก็อาจได้ผลมาไม่เต็มร้อย
ภาวะลิ้นติด  นั้น  ทำให้พูดไม่ชัด  เมื่อพูดไม่ชัดก็มีผลโดยตรงต่อบุคลิกภาพ  ซึ่งแน่นอนว่า  มันส่งผลเสียถึงองค์รวมต่อสภาพร่างกายและจิตใจของมนุษย์คนหนึ่ง  บางทีไปโรงเรียนก็อาจโดนเพื่อนล้อ  โดนครูดุ  ไม่กล้าแสดงออก  สารพัดสารเพที่จะเกิดปัญหา  ทั้งที่ปัญหานี้มันแก้ได้ง่ายมาก ๆ  แค่  “ตัดมันซะ”

การตัดลิ้นนั้นไม่ยาก  และจริง ๆ ทันตแพทย์ทั่วไปสามารถทำได้  เคสแรกที่ข้าพเจ้าทำ  คือตั้งแต่สมัยไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนใหม่ ๆ  ที่เรียกกันว่า ไปใช้ทุน  นั่นแหละ
และเคสที่ทำก็ไม่ใช่คนทั่วไปด้วย  ก็เป็นหมอที่ไปใช้ทุนเหมือนกัน
คือคุณหมอคนนี้ก็จบไปใช้ทุนอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน  และก็มาทำฟันที่แผนก  ข้าพเจ้าก็สังเกตเห็นว่า  อ้าว  หมอเป็น tongue tie นี่  ก็เลยชวนให้ตัด  ทั้ง ๆ  ที่ตอนนั้นยังไม่เคยทำอะไรแบบนี้แม้แต่ครั้งเดียว
แต่หมอเขาก็มั่นใจว่าเราสามารถทำได้  ก็ทำ
ก่อนทำก็เปิดตำราดูว่า  ต้องฉีดยายังไง  ตัดตรงไหน  เย็บยังไง  ระวังอะไรบ้าง  ทำออกมาก็สำเร็จได้ด้วยดี  ไม่มีปัญหาอะไร  ปัญหาอย่างเดียวคือ  ไม่มีไหมละลายให้ใช้  ต้องเย็บด้วยไหมดำ ๆ นั่นแหละ  แล้วก็ตัดไหมเอา  ก็ไม่มีปัญหาอะไร
และข้อสรุปสุดท้ายก็ได้คุณหมอคนนี้มาเป็นแฟน  5555  (แต่ตอนนี้เปลี่ยนสถานะเป็นแฟนเก่าได้หลายปีแล้วนะครัช)

ทุกวันนี้พูดจริง ๆ  คือ  ข้าพเจ้าก็ได้ตัดลิ้นไปค่อนข้างมาก  เนื่องจากทำงานที่มันเกี่ยวข้องกับพวกนี้  ทำจนกระทั่ง  แค่เราได้ยินเขาพูดเราก็รู้แล้วว่า  ลิ้นเขาเป็นอย่างไร  หรือบางที  แค่เราสังเกตฟันหน้าล่าง เวลาเขาพูด  เราก็รู้เลยว่า  คนนี้มี tongue tie ไหม

Tongue tie  ค่อนข้างสำคัญสำหรับทันตแพทย์ที่ทำงานจัดฟันเหมือนกันนะครับ  แม้ว่า  บางเคสที่ไม่หนักหนา  แต่เท่าที่สังเกต  คนไข้ที่มี tongue tie  แต่ไม่ได้ตัดออกและผ่านการจัดฟันมาแล้ว  ฟันมักจะกลับคืนสภาพ  คือพูดง่าย ๆ  เป็นภาษาบ้าน ๆ  ว่า  ฟันเคยเก  จัดเสร็จ  เวลาผ่าน  กลับมาเกเหมือนเดิม (....ได้ไหมเธออออ #ผิด 5555)  ว่างั้นเถอะ  หรือคนไข้บางคน  ตอนหนุ่ม ๆ  สาว ๆ  ฟันก็ไม่เกเท่าไหร่  พออายุมากขึ้นฟันเกมากขึ้น  เพราะเหตุจาก tongue tie ก็มี

ตัวอย่างเคส

น้องอายุ  13 ปี  จะเห็นว่า  ภาวะลิ้นติดตรงนี้ค่อนข้างรุนแรง  คือติดเกือบถึงปลายลิ้น 


การรักษาก็คือ  ตัดออก  ดังภาพ




จริง ๆ  ถ้าตัดด้วยเครื่องตัดไฟฟ้า  ก็อาจไม่มีเลือดออกมากขนาดนี้

ตัดเสร็จลิ้นก็ยาวเลย



อันนี้เย็บไหมละลาย 

เคสนี้เพิ่งทำเสร็จไปเมื่อกี้นี้

ทำเสร็จก็มาโพสต์เลย

ยังไม่มีรูปภาพตอนแผลหาย  5555

ถ้าว่าง ๆ  ก็เดี๋ยวจะเอามาลงนะครับ

ส่วนกระบวนการทำ  เป็นอย่างไร  คิดว่า  ใน Textbook ก็น่าจะมีบอก  ลองหาอ่านกันได้ครับ


ขอให้ทุกคนมีสุขภาพดี

ธัชชัย  ธัญญาวัลย



ไม่มีความคิดเห็น: