มันมีเรื่องมากมายที่อยากเล่า
แต่ก็ไม่มีเวลามากพอที่จะเล่า
และประเด็นสำคัญคือ
ขี้เกียจทำรูป
เมื่อวาน
ไปงานครบรอบ 40 ปี ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ
แต่อันนั้นน่าจะยกยอดไว้คราวหน้า
มีเรื่องหนังสือหลายเรื่องที่อยากเล่า
แต่ก็อีกนั่นแหละ
ว่า
ไม่รู้จะเล่าเรื่องไหนก่อนหลังดี
ตกลง...
เอาเรื่องนี้ก่อนก็แล้วกัน
ภาพถ่ายเบลอ ๆ โดยข้าพเจ้าเอง
เนื่องจากมีบทสัมภาษณ์ โบตั๋น ในเล่มนี้ด้วย
และข้าพเจ้าก็ชอบโบตั๋นด้วย
ซึ่งชอบจากบทสัมภาษณ์นี้นี่แหละ
(เพราะไม่เคยติดตามที่ไหนมาก่อน)
คือ แกเป็นคนจริงใจดี
เพื่ออะไรก็บอกว่าพื่ออะไร
ไม่เสแสร้ง
นิยายเรื่องเดียวที่อ่าน
ของ โบตั๋น
ก็คือ เรื่อง "แวววัน"
อ่านสมัยอยู่ ม.ต้น
(ความจริงที่ต้องอ่านเพราะ
มันหมดหนังสือแนวที่ชอบอ่านแล้ว
ในห้องสมุด)
แปลกเหมือนกัน
ที่ข้าพเจ้าไม่ยักติดนิยายแนวนี้
กลับไปติดใจพวกเรื่องแนวสร้างสรรค์
เสียมากกว่า
(ทั้งที่มันสนุกกว่าตั้งเยอะ)
ความจริงคำว่า แนวสร้างสรรค์ เป็นคำใหม่พอสมควร
ถ้านับ "อยู่กับก๋ง" เป็น แนวพาฝัน ด้วย
ก็เป็นอีกเล่มที่อ่านจบ
และอีกเล่มก็คือ
"ปุลากง" ของ โสภาค สุวรรณ
เอาจริง ๆ เถอะ
ตอนเป็นเด็กนั้น
ข้าพเจ้าคิดว่า
คนที่เขียนหนังสือพวกนี้
ตายไปหมดแล้ว
555
อาจจะเพราะติดมาจากที่ชอบอ่านวรรณคดีโบราณ
กวีทั้งหลาย ก็ล้วนตายแล้วทั้งสิ้น
ทำให้พาลคิดว่า
คนที่เขียนหนังสือทุกคนนั้น คงจะตายกันหมดแล้ว
อันนี้เป็นความคิดตอนเด็ก ๆ
อยู่กับก๋ง เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าชอบมาก
มันอบอุ่น
และชวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ในห้องแถว
อวลไอของแดดเช้า
เวลาเย็น ๆ ก็มืดมิดมีแต่แสงตะเกียง
โรงเรียนประชาบาลบ้านนอก
อะไรทำนองนี้
แวววัน ข้าพเจ้าชักจะเลือน ๆ
จำได้แม่นแต่นางเอก เป็นผู้หญิง
ชื่อ แวววัน ต้องดิ้นรน อดทน
ต่อสู้ ผ่าฟันอุปสรรค
เรียนหนังสือ สอบเข้ามหาวิทยาลัย
และแต่งงาน
ถ้าไม่มีคนพูดถึง
ข้าพเจ้าก็คงลืมไปแล้วว่า
แวววันนั้น สอบเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
และได้แต่งงานกับตำรวจ
บ้านเป็นบ้านสวน อยู่ฝั่งธน
หลังจากอ่านแวววันจบ
ข้าพเจ้าก็ไม่นึกจะอยากอ่านแนวนี้อีก
ไม่ว่าจะเป็นงานของ กฤษณา อโศกสิน
ทมยันตี ดอกไม้สด หรืออื่น ๆ
หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่ข้าพเจ้าไม่อ่าน
ทั้งที่มันก็มีเต็มห้องสมุด
มีรุ่นพี่คนหนึ่ง ชอบอ่านหนังสือพวกนี้มาก
ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งเหมือนกัน
เธอทำไมอ่านได้เร็วนัก
เพิ่งมารู้เอาตอนหลัง ๆ ว่า
หนังสือพวกนี้
มันสามารถอ่านแบบสแกน ๆ ได้
ยิ่งอ่านบ่อย ๆ นี่จะยิ่งชำนาญ
มองปราดเดียวจบหน้า ๆ
ซึ่งข้าพเจ้าผู้ซึ่งไม่ถนัดการอ่านพวกนี้
ก็เลยทำไม่เป็น
และเนื่องจากข้าพเจ้าอ่านจำพวก
"ตลิ่งสูงซุงหนัก"
"ครอบครัวกลางถนน"
ฯลฯ
ถ้าวรรณกรรมเยาวชนก็จะมี
"บองหลา"
"ขนำน้อยกลางทุ่งนา"
ฯลฯ
หรืออะไรเทือก ๆ นี้
เวลาอ่านมันอ่านเร็วไม่ได้
รายละเอียดมันเยอะไปหมด
มันชวนให้เราคิด
มันต้องอ่านช้า ๆ
ข้าพเจ้าก็เลยกลายเป็นคนอ่านหนังสือช้า
เพราะอ่านไปก็คิดไป
บางทีเผลอคิดไปถึงเรื่องตัวเอง
เทียบเคียงประสบการณ์หรืออะไรอื่น ๆ อีก
วุ่นไปหมด
การอ่านหนังสือเยอะ เลยไม่เป็นการฝึกให้อ่านหนังสือเร็ว
หลัง ๆ มาข้าพเจ้าเริ่มอ่านแบบสแกนเป็นบ้าง
แต่ก็รู้สึกไม่มั่นใจอยู่ดี
กลัวเราจะรู้เรื่องไม่หมด
กลัวเราจะพลาดตรงไหนไป
ซึ่งอันนี้ก็เป็นอุปสรรคสำหรับการอ่านหนังสือเร็ว
สำหรับข้าพเจ้า
ซึ่งข้าพเจ้าก็อยากโทษวรรณคดีอีกนั่นแหละ
ที่ทำให้ข้าพเจ้าเป็นคนแบบนี้
เพราะเวลาอ่านกลอนอะไรนี่
มันต้องอ่านทุกคำ ทุกตัวอักษร
ไม่งั้นมันไม่เข้าใจ
ต้องมีสมาธิกับมันมาก ๆ
และด้วยความที่เริ่มวิธีการอ่านมาแบบนี้
มันก็ต้องกลายเป็นจริตนิสัย
( รู้สึกจะเพ้อไปไกล
555 )
กลับมาที่ WRITER ฉบับที่ 28 กันดีกว่า
โบตั๋น ใช่ โบตั๋น
ข้าพเจ้าชอบมาก
แค่นี้แหละ
ไม่มีอะไร
โสภาค สุวรรณ
เคยอ่าน "ปุลากง"
เพราะบังคับเป็นหนังสือนอกเวลาตอน ม.ปลาย
สนุกมาก
อ่านตั้งแต่หกโมงเย็นยันเช้าตรู่ของอีกวัน
มันวางไม่ลง
น่าติดตามต่อไปเรื่อย ๆ ตลอด
ซึ่งคุยกับเพื่อนคนอื่น
ก็คล้าย ๆ กัน
ปุลากง เป็นหนังสือเล่มแรก
ที่นำพานิสัยอ่านหนังสือโต้รุ่งมาให้กับข้าพเจ้า
ก่อนจะเป็น แฮร์รี่ พ็อตเตอร์
ที่ได้ทำหน้าที่นั้น
หนังสือเรียนนี่ไม่เคย
5555
( ยกเว้นตอนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว )
ว่าก็ว่าเถอะ
หนังสือทำนองนี้
ที่ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้อ่าน
เพราะไม่รู้จะอ่านทำไม
ข้าพเจ้าไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อหลีกเร้นจากโลก
ข้าพเจ้าอ่านเพราะต้องการรับรู้สิ่งใหม่ ๆ
และที่ทุกวันนี้อ่าน
ก็เพราะอยากรู้ว่า
นักเขียนจะมีกลวิธี รูปแบบ หรืออะไรแปลก ๆ
มานำเสนอเราหรือเปล่า
ซึ่งพูดตามตรงว่า
นิยายพาฝัน ที่เขาเรียกกันนั้น
มันไม่มีสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการ
มันคือนิยาย ที่มีรูปแบบสำเร็จของนิยาย
มีภาษาอย่างนั้น
มีพล็อตเรื่องของมันอย่างนั้น
ที่เราเห็นเสมอในละครหลังข่าว
ไม่มีอะไรน่าค้นหา
ข้าพเจ้าคิดว่า
อ่านแค่เล่มสองเล่ม ก็พอ
ยอมรับตรง ๆ
งานของ กฤษณา อโศกสิน
ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านแม้แต่เล่มเดียว
กระทั่งเล่มที่ได้ซีไรต์ก็เถอะ
ไม่รู้เป็นอะไร
ไม่อยากอ่าน
ไม่มีแรงกระตุ้นให้ไปหาตรงนั้น
ไม่ได้ดูถูกดูแคลน
แต่มันไม่ถูกจริตข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าลองมานึก ๆ ดูว่า
ตั้งแต่อ่าน ปุลากง จบแล้ว
มีนิยายชนิดนี้ผ่านเข้ามาบ้างหรือไม่
รู้สึกว่าจะไม่
มีหนังสือของเพื่อนพ้องน้องนุ่งหลายคนที่ส่งมาให้
ก็ยังกองอยู่
ยังไม่ได้อ่านเลย
ว่าง ๆ
จะหาเวลานั่งอ่าน
ตอนนี้มีหนังสือที่ต้องอ่านเยอะแยะไปหมด
ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
เยอะมาก
เยอะจนอยากอยู่เฉย ๆ
เพราะไม่รู้จะอ่านเล่มไหนก่อน
อยากนอนอยู่บ้านทั้งวัน
ไม่ต้องทำงาน
แล้วอ่านพวกนี้ให้จบ
จะได้ทำอย่างอื่นเสียที
งานอีกประเภทที่ข้าพเจ้าไม่ค่อยอยากอ่าน
คืองานที่เรียกกันว่า คลาสสิก
( พูดแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าลืมหยิบหนังสือสองสามเล่ม
ที่หมายตาเอาไว้ติดมือมาด้วยเมื่อวานนี้
เพราะซื้อมาเยอะเกินไป เลยหลงลืม ซึ่งก็ช่างมันเถอะ )
แต่ก็ ต้องพยายามอ่าน
เพราะอยากรู้ว่า
ที่เขายกย่องกันนักหนานี่มันดียังไง
มีประเด็นอะไรหรือเปล่า
ซึ่งอ่าน ๆ ไป บางเล่มมันก็เท่านั้นแหละ...
หนังสือ
แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า
นั่นมันไม่ใช่งานของปัจจุบัน
มันเป็นของโบราณ
ซึ่งความคิดแบบนั้นในสมัยก่อน
อาจจะเป็นอะไรที่เจิดแจ่มที่สุดแล้วก็เป็นได้
อะไรเทือกนี้
ฝอยมาซะเยอะ
สรุป
นิยายทำนองพาฝัน
เอาเข้าจริง
ข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยได้อ่าน
นึกออกแค่สามเล่ม
แปลว่ามันติดอยู่ในหัวแค่นี้
ยกเว้นจะเห็นรายชื่อของมัน
ก็คงนึกได้ว่า
อ๋อ เล่มนี้เคยอ่านแล้ว
หรือยังไม่ได้อ่าน
อนึ่ง
แก่แล้ว
อะไรที่ไม่สำคัญก็จางหายไป
ข้าพเจ้าเป็นคนหลงลืมง่ายเสียด้วย
Arty Dhanyaawalaya
12 10 2014
ป.ล. หน้าปกสี่คนนี่ ข้าพเจ้ารู้จักคนเดียวคือโบตั๋น
นอกนั้นก็โบ๋เบ๋