ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

บ้านในหมอก และ หัวใจห้องที่ห้า



นรกและสวรรค์ของคนอื่น
เราหยิบยื่น  เป็นชนวนด้วยส่วนหนึ่ง
ผูกโยงสายใยไว้ลึกซึ้ง
การกระทำกระเทือนถึงซึ่งกันและกัน

- อังคาร  จันทาทิพย์  "นรกและสวรรค์ของคนอื่น"
หนังสือ "หัวใจห้องที่ห้า"

อ่านเล่มนี้จบเมื่อนานแล้ว

"หัวใจห้องที่ห้า"

กวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ประจำปี  ๒๕๕๖

ชื่นชมในการวางลำดับเรื่อง

การจัดหมวดหมู่บทกวี

และการเรียบเรียงความคิดอ่าน

บทกวีของ  อังคาร  จันทาทิพย์  มีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของกวียุคใหม่

คือ  เว้นวรรคตอนตามความมุ่งหมายของผู้เขียนไว้ในงานเขียน

โดยเรียบร้อย  ไม่ให้ผู้อ่านแบ่งวรรคเอาเองตามความนึกคิด

เช่น

หนึ่งเนื้อในยอมจำนน  คนเหล่านั้น
หนึ่งเนื้อในความลักลั่นอันหลากหลาย
ตกหล่น  หลงเหลือ  รก  เรื้อ  ราย
ยุคเขยื้อนเคลื่อนย้าย  อพยพ

-จากเรื่อง  "ในบ้านของคนไร้บ้าน"

ความจริงการแบ่งวรรคเช่นนี้ทำกันมานานแล้ว

ในหมู่กวีร่วมสมัย

แต่ไม่ใคร่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก

หลาย ๆ  ครั้ง  ของหลาย ๆ  คน

เราอาจสังเกตได้จากการ  "อ่าน"  ของกวีบางท่าน

ในงาน  "อ่านบทกวี"  บนเวที  หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ  

ซึ่งต้องยอมรับว่า  ในคนหมู่มากที่อ่านหนังสือ

เราคงไม่มีโอกาส  "ฟัง"  สิ่งเหล่านั้นมากมายนัก

และเราคงไม่อาจจินตนาการได้ว่า

บทกวีที่เรียงร้อยกันโดยไม่เว้นวรรคของกวีแต่ละคน

เขาต้องการแบ่งวรรคตอนแบบไหน

ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเสียเมื่อไหร่

กับการเว้นวรรคตอน  เพราะสำหรับงานกาพย์กลอน

มันคือเรื่องสำคัญ  "หลัก"  เรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้

เพราะมันแสดงถึง  "สไตล์"  ของกวีอย่างชัดเจน  

อนึ่ง  การบังคับให้คนอื่นต้องอ่านตามอย่างที่กวีเขียน

มันช่วยขับเน้น  สิ่งที่ถูก/อยากขับเน้น  ได้เป็นอย่างดี


ส่วนเนื้อหาเรื่องราว  เราอาจพูดได้ว่า

ในบรรดาหนังสือรวมบทกวียุคปัจจุบัน

ไม่ใคร่มีเนื้อหาประหลาดพิสดารเกี่ยวกับ  "แนวความคิด"

หรืออะไรเท่าใดนัก

กลวิธี  และรูปแบบ  รวมถึง  อารมณ์  และน้ำเสียงต่างหาก

ที่เป็นความแตกต่างของกวีร่วมสมัย


เพลงยุค  กลุ่มยุค  สนุกยิ่ง
เด็กหญิงคันหูค่อนหมู่บ้าน
เด็กชายใบ้เบื้อของเมื่อวาน
คือหนุ่มเจ้าสำราญของวันนี้

สุขุมพจน์  คำสุขุม  "กองเกวียนโบราณ : ทะยาน"
จากหนังสือ  "บ้านในหมอก"

"บ้านในหมอก"  เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์  ปีเดียวกับ  "หัวใจห้องที่ห้า"

และได้รางวัลรองชนะเลิศ  เซเว่นบุ๊คอวอร์ด  ปี  ๒๕๕๕



ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ

การบันทึกยุคสมัย  และเรื่องราวต่าง ๆ  เอาไว้

ด้วยบทกวี

น้ำเสียงของหนังสือเล่มนี้  ถ้าเทียบกับ  "หัวใจห้องที่ห้า"

แลดูเสียดสีมากกว่า  และกล่าวถึงสังคมอย่างตรง ๆ  กว่า

ในขณะที่  "หัวใจห้องที่ห้า"  มีน้ำเสียงเรียบ ๆ  ไม่ตัดสิน

"บ้านในหมอก"  กลับชี้ถูกชี้ผิดตรง ๆ  ชัดเจนว่าต้องการสื่อถึงอะไร

ไปรักกันเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
จู่จู่ลูกก็โผล่มาโชว์หน้า
พาดหัวตัวเบ้อเร่อ  ซูเปอร์สตาร์
ช็อคโลกมายา  เปิดหน้านิยาย

"คราบคาวบนแผ่นฟิล์ม"


ข้าพเจ้าค่อนข้างชอบการตั้งชื่อเรื่อง  บทกวีเรื่องนี้

มันมีลักษณะล้อกัน  ระหว่าง  คนชื่อ  "ฟิล์ม"  

กับ"ฟิล์ม"  ที่เป็นวัตถุบันทึกเรื่องราว  ที่ผู้เขียนบอกว่า

"เปิดหน้านิยาย"

และยังเป็นการ  "บันทึก"  ข่าวค(ร)าวของยุคเอาไว้ด้วยบทกวี

ที่เรียกได้ว่า  "เจ็บแสบ"  พอสมควร


นอกจากนี้  ผู้เขียนยังนำเสนอมุมมองกะเทาะเปลือก

ความ  "ดัดจริต"  ของผู้คนในสังคมไว้ได้อย่างน่ารักว่า

สังคมแย่แค่ไหน  ใครกันสร้าง
หนูอาจมีส่วนบ้าง  แหม..  บางส่วน
เมื่อสังคมมอมมั่วยังยั่วยวน
ให้หนูทวนกระแสไหวอย่างไรกัน

จากเรื่อง  "จำเป็น"

มันไพล่ให้เรานึกไปถึง  การบอกเด็ก ๆ  ให้รู้จักพอเพียง

รู้จักประหยัด  เป็นคนดี  หรืออะไรต่าง ๆ  

แต่ในความเป็นจริงแล้ว  มันเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ  กับว่า

"ดัดจริต"  ในเมื่อสังคมมันเป็นอย่างนี้

มันมี  "กระแส"  เชี่ยวกรากอย่างนี้

มันก็ย่อมมีคำถามขึ้นมาอย่างเสียดสีว่า

"เมื่อสังคมมอมมั่วยังยั่วยวน
ให้หนูสวนกระแสไหวอย่างไรกัน"

ซึ่งถ้าเราเราเทียบทัศนคติ

กับ  อังคาร  จันทาทิพย์

จะเห็นได้ว่า

สุขุมพจน์  คำสุขุม  นั้น

ชัดเจน  สื่อตรง  และเสียดสีแรงกว่ามาก

ในหลักความคิดเดียวกันที่ว่า  

นรกและสวรรค์ของคนอื่น
เราหยิบยื่น  เป็นชนวนด้วนส่วนหนึ่ง
ผูกโยงสายใยไว้ลึกซึ้ง
การกระทำกระเทือนถึงซึ่งกันและกัน

ของ  อังคาร  เป็นแต่เสนอความคิด  คือ  เป็น  ผู้เล่า  ผู้บันทึก แล้วให้คนอ่านคิดเอาเอง

(ซึ่งเป็นลักษณะ "นิยม"  ของวรรณกรรมร่วมสมัย  ณ  ปัจจุบัน)

แต่  สุขุมพจน์  เป็นเหมือน  ผู้ตัดสิน  ผู้เอาแนวความคิดไปใช้

อาจจะเพราะ  สุขุมพจน์  นั้น  มีอาชีพ  "ครู"  ด้วยส่วนหนึ่ง

การตัดสินผิดถูกชั่วดี  จึงชัดเจน  ในความคิดอยู่มาก

เพลงรำวงสงกรานต์ฤๅหาญท้า
พ่ายเร็กเก้  แพ้สกา  ลีลาขย่ม
เขาหมางซิ่นเมินเสื้อเปิดเนื้อนม
ชะ!  เชิญชมเนื้ออนงค์  สุขสงกรานต์

จากเรื่อง  "มโหรีจากสีลม"

การวิพากษ์สังคมเป็นไปอย่างโจ่งแจ้ง  

ทำให้คนอ่านสนุกสนานกับถ้อยความเสียดสีของผู้เขียนยิ่ง

กุหลาบซื้อหาด้วยบ้าเห่อ
มอบเธอที่รักเป็นสักขี
เด็กหญิงซื้อมามอบสามี
เด็กชายแสนดีมอบภรรยา

วันแห่งความรักยังหนักอึ้ง
ม.หนึ่งตั้งท้อง  ม.สองบ้า
ม.สามเพ้อฝันถึงวันวิวาห์
ม.ห้า  ม.สี่  สามีทิ้ง

จากเรื่อง  "รักที่ล้นวัน"

แนวความคิดอนุรักษ์นิยม  ชัดเจน  ใน  "บ้านในหมอก"  

ท่าทีชัดเจนของผู้เขียน  เป็นเสน่ห์ของเรื่องนี้

แม้กระทั่งการยืนยันแนวความคิดเรื่อง  "เงิน"

และ  แสดงให้เห็นว่า

เงินนั้น  เป็นสิ่งสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย

ชั่วดีอย่างไรเหมือนไม่ต่าง
อำนาจเงินยังง้างทุกอย่างได้
ประชาชนชอกช้ำอยู่รำไร
ยังถูกใช้ชื่ออ้างสร้างราคา

จากเรื่อง  "หนังสือพิมพ์หน้าเก่า"

อ่านแล้วทำให้นึกถึง  "ลิลิตพระลอ"  บทที่ว่า

เอาสินสกางสอดจ้าง  แข็งดั่งเหล็กเงินง้าง
อ่อนได้โดยใจ


ว่าก็ว่า  "บ้านในหมอก"  อ่านสนุกดี  และทำให้เราคอยเดาเล่น ๆ  ไปด้วยว่า

เรื่องต่อไป  ผู้เขียนจะวิพากษ์เรื่องไหนอีกบ้าง

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า

"หัวใจห้องที่ห้า"  จะไม่สนุกสนาน

หรือไม่น่าคาดเดา  หรืออะไร

หากท่านต้องการความสุขุมลุ่มลึก  

เดินทางไปทั้งข้างนอกและข้างในกับผู้เขียน

นั่นก็น่าจะเป็นคำตอบของ

"หัวใจห้องที่ห้า"  


เอวัง

Arty K.
20  02  2557

ป.ล.  ข้าพเจ้าอ่าน  บ้านในหมอก  จบก่อน  หัวใจห้องที่ห้า  นานหลายเดือน
และตอนที่อ่าน  บ้านในหมอก  นั้น  ไม่ทราบด้วยว่า  เข้ารอบซีไรต์  อิอิ