ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

วันศุกร์


เผลอไม่ทันไรกลายเป็นวันศุกร์เสียแล้ว

พรุ่งนี้ก็เป็นวันเสาร์

จำได้ว่า

วันเสาร์ที่แล้วนี้

เพิ่งมาผ่านไม่นานนี่เอง


อาการเจ็บป่วยของข้าพเจ้าหายเป็นปลิดทิ้ง

ด้วยระยะเวลาเพียงสองวันถ้วน

ความจริงการเจ็บป่วยนี้

มีสองอาการ

อาการแรกคือน้ำมูกไหล

ซึ่งเป็นเมื่อวันพุธ

อาการที่สอง  เป็นอาการท้องเสีย

ข้าพเจ้าสันนิษฐานได้ว่า

เกิดมาจากลูกตาล

อันนี้เป็นเมื่อวันพฤหัสบดี



หน้านี้ผลไม้เยอะมาก

มีให้เลือกให้กินกันอิ่มหนำ

มนุษย์ซึ่งชอบกินผลไม้อย่างข้าพเจ้า

ก็ไม่เคยพลาด

ทุเรียน  เงาะ  มังคุด  ลำไย  น้อยหน่า  มะม่วง

ขนุน  ลองกอง  สารพัดสารเพ

ไอ้หลังสุดนี่ไม่ใช่ชื่อผลไม้นะครับ

(ฮา)



ลูกตาลนี้เคยทำพิษข้าพเจ้ามาแล้ว

สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก ๆ  

เนื่องจากที่บ้านของข้าพเจ้ามีต้นตาลเป็นของตนเอง

ซึ่งน่าจะเคยเล่าไว้ในบล็อกแห่งนี้บ้างแล้ว

ครั้นหน้าตาลก็วานเพื่อนบ้านไปช่วยขึ้น

เพราะบ้านข้าพเจ้านั้นไม่มีใครปีนต้นตาลได้เก่งนัก

ต้นตาลก็มีหลายต้น

บางต้นเนื้อเหนียวแน่น  เรียกตาลข้าวเหนียว  บางต้นเนื้อนิ่ม  เรียกตาลข้าวจ้าว

ตาลไม่มีลูกเรียกตาลผู้  ไอ้ตาลผู้นี้มันไม่มีทางออกลูก

คล้าย ๆ  กับว่า  มันเป็นเพศผู้  ไม่มีลูก  ว่างั้นเหอะ

นอกจากตาลผู้  แถวบ้านข้าพเจ้ายังมี  มะละกอผู้  อีกด้วย

คือไอ้มะละกอนี่แหละ  ปลูกไว้  มันไม่มีผล

ส่วนมากพวกนี้มักจะถูกตัดทิ้ง  เพราะอยู่ไปก็ไร้ประโยชน์

พูดถึงเรื่องไร้ประโยชน์  ข้าพเจ้านึกถึง  ตาลยอดด้วน

พระพุทธเจ้าท่านชอบเอ่ยเปรียบนักว่า  พระอรหันต์นั้นเหมือนตาลยอดด้วน

คือไม่โตขึ้นไปอีกแล้ว  หยุดแล้ว  จบแล้ว

แต่ก่อนข้าพเจ้าไม่เคยเห็นสักทีไอ้ตาลยอดด้วนนี้

ไปเห็นครั้งแรกแถว ๆ  ปทุมธานี  มีอยู่สามต้น

มีเป็นเหมือนต้นเสาตั้งเด่อยู่กลางทุ่งนี่แล

ถ้าใครนึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงโฮปเวลล์ดู  (ฮา)

แม้จะไม่เหมือนกันนัก  แต่ลักษณาการก็คงคล้ายกัน



แท้แล้วตาลนี้  นำไปใช้ได้ทุกส่วน

ใบตาลก็ใช้ได้  ต้นตาลก็ใช้ได้  ตาลอ่อนก็ใช้ได้  ตาลแก่สุกแล้วก็ใช้ได้

ยอดตาลก็ใช้ได้

และที่สำคัญ  สมัยก่อนมี  น้ำตาล

ซึ่งกลายเป็นคำเรียก  "น้ำตาล"  มาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าเดี๋ยวนี้เราจะใช้อ้อยผลิตเป็นสารให้ความหวานกันแทนตาลมากมายแล้วก็ตาม

แต่หากใครอยากกินน้ำตาลก็ยังพอหาได้ตามตลาดสด

รสชาติหวานเจี๊ยบ  ดีกรีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายเป็นไหน ๆ  หอมด้วย

ไม้ตาลนี้ลายงามดีข้าพเจ้าชอบ

ที่บ้านมีแจกันทำด้วยต้นตาลอยู่ใบหนึ่ง

เบามาก

สวย



ลูกตาลนี่ข้าพเจ้าชอบกินมาก

จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ๆ  นั้นกินเอา ๆ  

เพราะมันอร่อย

กินจนถ่ายท้องเป็นมูก ๆ  ล้วนแล้วแต่เนื้อตาล

(ฮา)

ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์บ้าบออย่างหนึ่ง

คือเวลาชอบอะไรก็ชอบมากชอบมาย

จนบางครั้งต้องเจ็บเพราะสิ่งที่ชอบนี่แหละ

เป็นโรคที่รักษาไม่หาย

แต่ให้เจ็บหลาย ๆ  ครั้งก็อาจจะผ่อนเพลาลงไปได้บ้าง


แท้แล้วไอ้ที่ท้องเสียเมื่อวันก่อนนี่อาจไม่ใช่จากลูกตาลก็ได้

อาจเป็นหลาย ๆ  อย่างรวมกัน

ความเจ็บป่วยมาเยือนทีไร

ก็ได้พิจารณาสังขารร่างกายกันไป

ได้ทดสอบความเข้มแข็งของจิตใจกันไป

พิจารณาความตายกันไป

พิจารณาทุกขเวทนากันไป

อดทนกันไป

บางครั้งมันรุนแรงจริง ๆ  ไอ้ความเจ็บป่วย

มันเหมือนจะทำเราให้ตายเสียให้ได้

ในสถานการณ์เช่นนี้  สติปัญญาสำคัญมาก

มันต้องหาทางออกให้กับตัวเอง

ไม่ใช่นอนแกร่วรอคนป้อนยาป้อนข้าวป้อนน้ำ  อย่างนี้มันไม่ถูก

เจ็บป่วยเมื่อใดสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องทำให้มากกว่าปกติ

ก็คือ

การนั่งสมาธิภาวนา

แทบไม่ต้องใช้ยาก็หายได้

หายเร็วเสียด้วย

พอถึงจุดมันก็หายปั๊บเป็นปลิดทิ้งเลย

แต่สำคัญที่ว่า

เราอย่าไปอยากให้มันหาย

มันจะหายหรือไม่หายเราพิจารณามัน

ดูมัน

ไม่หายก็ตาย

ชีวิตฝากไว้กับพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

ไม่ฝากไว้กับหยูกยาอื่นใดทั้งสิ้น

ตายก็ตาย

ไม่ตายก็อยู่

ไม่ได้เสียดายความมีชีวิตแม้แต่น้อย

เพราะบุญอันใดก็ได้ทำไว้หมดแล้ว

มีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่

ก็ไม่ต่างกันในแง่ของความทะยานอยาก

อยู่ต่อได้ก็อยู่ไปทำไปตามวิถีตามหน้าที่ที่ต้องทำ

อยู่ต่อไม่ได้ก็ไป  แล้วมันจะไปภพไหนภูมิไหนก็เรื่องของมัน

แต่สบายใจได้ว่าไปดีแน่

เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเหตุมันดี  จะให้ผลมันเป็นขี้ก็ไม่ใช่

อันนี้เป็นหลักพิจารณาในการใช้ชีวิต

ของข้าพเจ้า

ดังนั้น  ข้าพเจ้าจึงกล่าวได้เสมอ

ตั้งแต่หลายปีมาแล้วว่า

ไม่ห่วงการมีชีวิตอยู่เสียแล้ว

จะตายวันไหนก็ได้

พิจารณาความตายอยู่โดยสม่ำเสมอ



วันก่อนพี่ที่รู้จักกันโทรมาบอกว่าหลวงพ่อวิริยังค์มา

ก็ไม่ได้ไปกราบครูบาอาจารย์เพราะติดว่าอยู่ไกล

จึงปฏิบัติบูชาแทน

ตอนนี้หลวงพ่อท่านก็คงกลับต่างประเทศแล้ว



เอวังก็มีเท่านี้ก่อน


พ. พุทธังกุโร
๗  มิถุนายน  ๒๕๕๖