ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

เทศน์แหล่พระเวสสันดร : มูลมังอิสาน


เทศน์แหล่พระเวสสันดร : มูลมังอิสาน  


เทศน์แหล่เป็นรูปแบบหนึ่งของการเทศน์ทางภาคอิสาน

จะเป็นคำพูดธรรมดาก็ได้  หรือเป็นชาดก  หรือธรรมะอะไรก็ได้

โดยมากมักจะมีในงานวัด  หรือมีตามรถขอบริจาคสิ่งของ

อย่างที่ยกมานี้  เป็นเทศน์แหล่  เรื่อง พระเวสสันดร

กัณฑ์กุมาร  

เทศน์แหล่เรื่องพระเวสสันดรของทางภาคอิสาน

ก็อาจจะเทียบได้กับเทศน์มหาชาติของทางภาคกลาง

ความจริงการแหล่นี้  ไม่จำเพาะแต่ต้องเป็นเทศน์

หรือต้องเป็นธรรมะ

เป็นเรื่องทางโลกก็ได้  ถ้าเรื่องทางโลกก็เรียกว่า  แหล่  เฉย ๆ  

คนที่แหล่ได้อัศจรรย์ไพเราะในยุคปัจจุบันมีชื่อเสียงก็คือ  ทศพล  หิมพานต์

เรื่องแหล่เป็นรากเหง้าของกลอนลำ เพลงหมอลำ  

แล้ววิวัฒนาการมาเป็นลำเพลิน  เป็นเพลงลูกทุ่งแบบอิสาน

แตกแขนงออกไปเป็นผญา  

หรือแท้แล้วแหล่นำรูปแบบกลอนลำมารับใช้เนื้อหาของเทศน์  อะไรเทือกนี้

ข้าพเจ้าไม่ขอกล่าวถึง

เพราะจะนอกเรื่องเกินไป




หรือคลิกที่นี่(หากคลิปวิดิโอไม่ขึ้น)


เรื่องกัณฑ์กุมารที่ยกมานี้

ข้าพเจ้าเห็นว่าไพเราะดี

น้ำเสียงผู้เทศน์ก็ได้อารมณ์จับใจดีมาก

ก็เลยอยากให้ฟัง

เนื้อหากัณฑ์กุมารในเทปดังกล่าว

ว่าตั้งแต่พระนางมัทรีฝัน  

จนกระทั่งถึงพระเวสสันดรทานกุมารทั้งสองแก่ชูชก

แล้วชูชกก็ลากพากุมารเดินผ่านป่า

(ยังไม่ถึงเมือง)

ก็จบไว้แค่นี้

นอกจากน้ำเสียงที่ไพเราะแล้ว

การเรียบเรียงถ้อยคำก็ไพเราะหลายแห่ง

ซึ่งก็เป็นลักษณะคล้ายร่ายยาวของทางภาคกลาง

มีสัมผัสชัดเจน

ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร



จะว่าไปกัณฑ์นี้ก็เป็นกัณฑ์ที่สะเทือนใจมากกัณฑ์หนึ่ง

เพราะธรรมดาบุตรย่อมเป็นที่รักของบิดามารดา

บิดามารดารักบุตรยิ่งกว่าใครทั้งหลายในโลกนี้

การจะยกให้คนอื่นเป็นเรื่องยาก

ยกให้แล้วซ้ำเขายังมาเฆี่ยนตีต่อหน้าอีก  

ขนาดลูกคนสามัญธรรมดาพ่อแม่เรายังดูแลอย่างดี

แต่อันนี้เป็นถึงลูกเจ้าฟ้ามหากษัตริย์

กลับถูกขอเอาไปทำเป็นทาส

มันน่าหดหู่ใจเพียงใด



ว่าแล้วในเรื่องนี้ชูชกก็เจ้าเล่ห์มิใช่น้อย

อย่างเช่นตอนสองกุมารกลัวชูชก  กลัวพ่อจะยกตัวเองให้เขา

แล้ววิ่งหนีลงไปในสระน้ำ  โดยการถอยหลังลงนั้น

ชูชกก็ว่าพระเวสสันดร  หาว่าทำเลศให้ลูกวิ่งหนีไปซ่อน

พูดจากระทบกระเทียบ

(นาทีที่ 11.08)

"พราหมณ์มันพาลหาเรื่อง  ตะเบ็งเสียงขู่พระเวส

ว่าทำเลศยักคิ้วให้สองลิ่วก่แล่นหนี

บ่สมส่าตั้งแต่กี้ว่าพระเวสใจบุญ..."

ฟังน้ำเสียงกระแนะกระแหนคำว่า  ใจบุญ  แล้ว

มันน่าหมั่นไส้ไอ้เฒ่าชูชกอยู่ไม่น้อย

( ส่า  แปลว่า  ลือ )

"พระจอมคุณสันดรจึงกล่าวแจงแถลงต้าน

เฮาสิทานจริงน่าสินำมามอบท่าน

ลูกของเฮาอาจสิย่านจึงพาลต้องดอกซ่อนตน

ท่าอยู่นี่ล่ะพ่อซ่นข่อยสิค่อยนำหา

เดี๋ยวกะมาบ่ทันนานสิมอบทานจริงแท้"

ดูพระเวสสันดรก็ยังใจเย็น

เรียกตาเฒ่าว่า  พ่อซ่น  อยู่

พ่อซ่น  หรือพ่อซ้น  หรือพ่อโซ้น  นี้

หมายถึง  ตา  เป็นการเรียกคนแก่ด้วยความเคารพ

ของคนอิสาน

และเรียกแทนตนว่า  ข่อย  ซึ่งเป็นความนอบน้อมไม่แข็งกระด้าง



บทโศกก็มีตั้งแต่บทพระนางมัทรีฝันแล้วตื่นมาให้พระเวสสันดรแก้ความฝัน

พระเวสฯ  ท่านก็รู้ว่าจะเกิดเหตุ  แต่เกรงว่าจะยุ่งยากก็เลยตอบเลี่ยงไปว่า

ไม่มีอะไรหรอก  ที่ฝันนี้น่ะ  ไม่ต้องตีความอะไร

เป็นแต่ธาตุขันธ์มันวิปโยคไปเท่านั้น

แม้พระนางมัทรีจะไม่ค่อยเชื่อ

แต่ก็เชื่อฟังพระสวามี

อันนี้เป็นข้อหนึ่ง

ที่ผู้หญิงเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี  คือเชื่อฟังสามี

จะผิดจะถูกก็เชื่อฟังไว้ก่อน

แล้วก็ไปทำหน้าที่ของตนต่อไป

คือออกหาผลไม้ของกินในป่า



เรื่องพระโพธิสัตว์แกล้งอำพรางคู่ของท่านนี้

ไม่ใช่แต่ชาตินี้เท่านั้น

ชาติก่อนก็มีอย่างนี้

อย่างเรื่องพระยาฉัททันต์เป็นต้น

ตอนที่ตาพรานโสณุตดรยิงพระยาช้างฉัททันต์แล้ว

เหล่าบริวารรู้ก็เลยวุ่นวายกันใหญ่

พยายามจะหาตัวคนยิงมาฆ่าทิ้งเสียให้ได้

ช้างพระยาฉัททันต์ก็รู้อยู่แล้วว่าคนยิงอยู่ใต้ที่นอน

แต่แกล้งเหยียบไว้

เพราะอยากจะถามให้แน่ใจว่า

มาทำร้ายท่านทำไม

ครานั้นนางมหาสุภัททาก็เป็นห่วง

จึงไม่ยอมห่างจากพระยาช้าง

พระยาช้างก็เห็นว่า  

หากจะให้เมียเห็นเป็นว่าตาเฒ่านี้ยิงตน

มันต้องถูกกระทืบตายแน่แท้

จึงทำอุบายแกล้งเป็นโกรธว่า

คนยิงพี่นั้นสงสัยมันอยู่บนอากาศทำไมไม่รีบไปหาเล่า

มามัวยืนทำอะไรอยู่

รีบเหาะไปหาดูกับหมู่พวกเสีย

อะไรทำนองนี้

(เหล่าช้างในสมัยนั้นเป็นช้างที่สามารถเหาะได้)

ตอนนั้นนางมหาสุภัททาก็ไม่ค่อยเชื่อเหมือนกัน

แต่ก็เชื่อฟัง

เหาะออกไป  

พระโพธิสัตว์จึงได้เลื่อยงาให้ตาพรานเป็นทาน



เรื่องพระนางมัทรีนี้ตาเฒ่าชูชกก็รู้ถึงนิสัยผู้หญิง

ตอนที่จะให้ทานพระเวสฯ  ท่านก็ว่า  ให้รอมัทรีก่อน

ชูชกก็ว่า

"บ่เอออวยตาพราหมณ์ว่า  

ลูกกอดแข้งกอดขาจ้างกะทานบ่ได้

คันสิให้กะอย่านาน"

ฉบับหลวงที่เราเคยเรียนกันมาสมัย ม.ปลาย

นั้นสำนวนต่างไป

อันนี้ตาชูชกแกว่า

"สตรีนี้เป็นเกาะแก่งกีดกระแสกุศล"

แต่หากแท้แล้วพระนางมัทรีก็บำเพ็ญมาด้วยกันทุกชาติ

ก็น่าที่จะอนุโมทนาอยู่แล้ว

(ดังเห็นได้จากตอนที่กลับมาจากป่ารู้ว่าทานลูกไปแล้ว  ก็อนุโมทนา)

แต่ตอนที่ให้ทานนั้น  คิดว่า

อาจจะทนไม่ได้  เพราะคนเป็นแม่กับคนเป็นพ่อนั้นต่างกันอยู่มาก

เรื่องความห่วงหาอาทรลูก

ยิ่งถ้าเห็นชูชกตีลูกอาจจะยิ่งทนไม่ได้

แม้พระเวสฯ  เองก็ยังทรงโกรธ

ขนาดที่ว่า

"หือสิฆ่าบักห่าพราหมณ์"

แต่ตัดข่มอารมณ์ไว้



ครั้นพระเวสฯ  บอกว่า  ออกไปแล้วให้เอาสองกุมารไปหาปู่กับย่าเขานะ

เดี๋ยวเขาจะเอาค่าตัวไถ่ให้ท่านจะได้เงินทองมากมาย

ตาเฒ่าแกก็ว่า

"นั่นล่ะตี้สิซวยแย่ถึงอาญา  ตาพราหมณ์กล่าว

โทษนั่นแห่งปวดร้าวคดีล่อลักหลาน"

คือตาชูชกนี่แกก็ฉลาด

เห็นว่า  แหม  ถ้าเอาไปถวายเจ้าปู่เจ้าย่าเขา

เขาก็จะหาว่าขโมยหลานเขามาได้รับโทษสิ

ตะแกก็ตกลงไม่เอาไป

ท่านจะให้หรือไม่ให้ 

(อันนี้นอกเรื่อง ไม่มีในเทป)

พระเวสฯ  ท่านก็ข่มใจอีก

บอก  เออ  ไม่เอาไปก็ไม่เอาไป  

อย่างไรเราก็ทานให้ท่านอยู่แล้วหละ

(แต่สุดท้ายก็มีอันหลงไปจนได้-ฮา)



บทสะเทือนใจนอกจากลูกต้องถูกพรากจากพ่อแม่แล้ว

ก็ยังมีบทที่สองกุมารถูกทำร้ายอีก

"มันบ่ออยสาแล่ว  เบิดแนวกะแส่หน่ำ

หน่อยนึงตำต่อยต้องดอกหินก้อนร่อนถลา  

คาดลาดล้มคางกะฟาดกับหิน

จนว่าวินสลบมิดหมอบกระแตตามพื้น"

จากนั้นสองกุมารก็วิ่งหนีกลับมาหาพระเวสฯ  ซึ่งเกิดเหตุ

"หือสิฆ่าบักห่าพราหมณ์"  ขึ้น

แล้วชูชกก็ตีกุมารทั้งสองต่อหน้าพระเวสสันดร

สังเกตการเรียบเรียงถ้อยคำนั้น

สละสลวย

และส่งสัมผัสกันดีมาก

วิน  เป็นภาษาอิสาน  แปลว่า  เป็นลม

ออย  แปลว่า  ปลอบประโลม

แส่  คือ  แส้

แส่หน่ำ  ก็คือ  เอาแส้กระหน่ำเฆี่ยนตีนั่นเอง

เบิด  หรือ  เหมิด  แปลว่า  หมด



ฉากโศกซึ้งมากฉากหนึ่งก็เห็นจะเป็นตอนชาลีปลอบน้อง

"ชาลีออยประโลมน้องอดสาเอาอย่าไห้ห่ำ  

ตกหว่างกรรมแล้วละหล่าแสนสิฮ้องกะเปล่าดาย

แห่งฮ้องไห้เพิ่นแห่งฮ่าย  เงียบเถอะอุ่นทูนหัว

โอ่คำเอ้ย....

พี่สิปัวนางเองบ่อนเลือดนองหลังน้อง"

ฟังแล้วน่าเห็นใจ

ยิ่งฟังต่อไปก็ยิ่งน่าเห็นใจ

"มองเห็นกัณหาไห้โศกีสะอื้นต่อ

กรรมเฮาน้อน้องแก้ว  บ่มีแล้วผู้สิมอง

คิดต่อพ่อกะบ่จ้องให้เขาจ่องจำมา...

สิเพิ่งพิงพระมารดาอยู่ป่าดงบ่ทันโค่ง"

คิดต่อ  ก็คือ  คิดหวังพึ่ง

คิดหวังพึ่งพ่อพ่อก็ไม่มอง

(คือหนีไปหาพ่อแล้ว  พ่อก็ไม่สนใจปล่อยให้เขาเอามาอีก)

คิดหวังพึ่งแม่แม่ก็มาไม่ทัน

จากนั้นก็คร่ำครวญไปถึงว่า

ขนาดลูกกำพร้าพ่อแม่ไม่มียังไม่มีใครเฆี่ยนตีเขาได้อย่างนี้

อันนี้มีพ่อมีแม่แท้ ๆ  

จากนั้นก็ไหว้วอนเทวดานอกจากขอให้คุ้มครองตัวเองแล้ว

ยังขอให้ไปช่วยบอกแม่ด้วย

เพราะป่านนี้แม่คงกลับมาแล้ว

คงจะวิ่งเสาะหาลูกตรงนั้นตรงนี้



ด้วยเหตุนี้เอง

(อันนี้นอกเรื่อง  ไม่มีในเทป -อีกแล้ว)

กัณหาก็เลยพูดขึ้นว่า

ใจร้ายอย่างนี้

ชาติหน้าฉันใดอย่าได้เกิดเป็นพ่อลูกกันอีกเลย

ชาติสุดท้าย

กัณหาก็เลยเกิดเป็นพระอุบลวรรณา

(ส่วนชาลีเกิดเป็นพระราหุล)



จะสังเกตว่ามีการเอื้อนเสียงหลายแห่ง

บางแห่งก็เป็นสัญลักษณ์แสดงความโศกเศร้า

บางแห่งก็เอื้อนออกไปให้ยาวขึ้น

เพื่อผู้ฟังจะได้มีเวลาตรึกตรองใคร่ครวญถ้อยความก่อนหน้านั้น

อันนี้เป็นเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของการเอื้อนเสียง



พระเวสสันดรนี้มีความสำคัญกับชาวอิสานมาก

ทั้งมีงานบุญทำกันเป็นบุญใหญ่อย่างหนึ่ง

คือบุญผะเหวด

ภาษาอิสานเวลาเรียกชื่อต่าง ๆ  

จะเรียกไม่เหมือนภาษาภาคกลางเสียทีเดียว

คนอิสานเรียกพระเวสฯ  ว่า  ผะเหวด

เจ้าชาย(พระ)สิทธัตถะ  ก็เรียกว่า  พระศรีธาตุ

อย่างนี้เป็นต้น



ธัชชัย  ธัญญาวัลย
๑๑  มิถุนายน  ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น: