ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

เมื่อเราต้องเดินย้อนทาง


ถ้าจะให้ด่าใครสักสองสามคน

หรือองค์กรไหนสักแห่งสองแห่ง

ที่ประสบมา

คงไม่ต้องมีความรื่นรมย์กันในบล็อกแห่งนี้เป็นแน่แท้

อย่ากระนั้นเลย

ข้าพเจ้าจะถือซะว่า

เรื่องต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้น

และผ่านไปแล้วนั้น

เป็นดั่งคลื่นซัดสาดมาบนผืนทราย

มาแล้วก็หายไป

ไม่ตั้งอยู่นาน

จึงข้าพเจ้าไม่เอ่ยถึง

หรือพูดถึง

หรือหากจะพูดถึงสักครั้งหนึ่ง

ก็อาจจะอยู่ในรูปแบบบันทึกส่วนตัว

จำนวนบทความในบล็อกแห่งนี้

ใกล้ดำเนินมาถึงหนึ่งพันบทความแล้ว

อีกไม่กี่บทความ

ก็จะถึง

ความจริง

หากนับเอาบทความที่ข้าพเจ้าเคยเผยแพร่แล้วลบออกไปเสียบ้าง

ปิดบังเอาไว้ไม่ให้สาธารณชนเห็นเสียบ้าง

ก็มากถึง  ๙๙๗  บทความแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น

บล็อกแห่งนี้

ก็ตั้งขึ้นมานาน

เท่าที่ค้นดู

บทความแรก

วันเสาร์ที่  ๒๑  ตุลาคม  ๒๕๔๙

ปีนี้  ๒๕๕๖

ถ้านับถึงวันที่  ๒๑  ตุลาคม  ๒๕๕๖

ก็รวมทั้งสิ้น  ๗  ปี

๗  ปี  กับกว่า  ๑,๐๐๐  entries

ก็ถือว่า  มากพอสมควร

คนเราจะมีเรื่องราวอะไรให้เล่ามากมายขนาดนั้น

ข้าพเจ้าก็ยังไม่แน่ใจ

แต่บางเอ็นทรี่

ก็ไม่ใช่ของข้าพเจ้า

บางเอ็นทรี่ก็เป็นสิ่งที่ลอกเขามาแปะไว้

เพื่อให้ประชาชนผู้เข้ามาเยี่ยมชม

ได้ดูบ้างอะไรบ้าง


ข้าพเจ้าชอบรวมรวมสติถิ

โดยเฉพาะสถิติของตัวเอง

เป็นต้นว่า

โทรศัพท์กี่ชั่วโมงในระยะเวลากี่ปี

หรืออ่านหนังสือกี่เล่ม  กี่ชั่วโมง

ใช้เงินไปเท่าไหร่ตลอดระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ปี

นั่งสมาธิกี่ครั้งในกี่ปี

ปีนี้มีรายได้รวมเท่าไหร่

หรือมีรายจ่ายเท่าไหร่

มีหนี้สินอะไรบ้าง

ซึ่งการบันทึกของข้าพเจ้าก็ประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง

บางครั้งข้าพเจ้าก็อยากจะได้ข้อมูลที่ยากต่อการได้

เช่น

ในชีวิตนี้

ข้าพเจ้าจะใช้เงินไปทั้งหมดทั้งสิ้นกี่บาท

เอาแบบเป๊ะ ๆ

ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยากมาก


แท้แล้วการเผยแพร่ผลงานทางอินเทอร์เน็ตของข้าพเจ้า

ไม่ได้เริ่มที่บล็อกแห่งนี้

หากเริ่มจากในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประพันธ์สาส์น

และก็ไปตามเว็บบอร์ดอื่น ๆ  บ้าง

จนกระทั่งไปพันทิป

และได้สร้างพันทาวน์  ซึ่งเป็นคล้าย ๆ  กับบล็อก

จากนั้นก็เริ่มทำเว็บของตัวเอง

โดยใช้โปรแกรมดรีมเว็บเวอร์  และคอมพิวเตอร์ของเพื่อน

อัพโหลดขึ้นไปในเซิร์ฟเวอร์ของจุฬาฯ

ซึ่งเปิดให้นิสิตและบุคลากรใช้ฟรี

ก่อนที่จะมีบล็อกต่าง ๆ  ของไทยผุดขึ้นมา

อาทิ โอเคเนชั่นบ้าง  หรือ  บล็อกแก๊งค์บ้าง

ข้าพเจ้าจบชีวิตตัวเองลงที่นี่

Blogspot.com

ซึ่งแต่ก่อนเป็นของใครไม่รู้  แต่ตอนนี้กูเกิ้ลไปเอามาเป็นของตัวเองแล้วเรียบร้อย

ก่อนการเกิดมีของ  Hi5  และ  Facebook

ข้าพเจ้าก็ท่องเที่ยวไปตามบล็อกต่าง ๆ  และเว็บบอร์ดบ้างประปราย

จนกระทั่งทุกวันนี้

สังคมเฟซบุคมีอำนาจครอบงำอย่างมากต่อประชากรโลก

และต่อไปจะเป็นอะไรเราก็ยังบอกไม่ได้

แต่ที่แน่ ๆ  สิ่งสำคัญที่เป็นองค์หลัก

ที่เราต้องระลึกอยู่เสมอก็คือ

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

มันก็หนีไม่พ้นเรื่องของการ  "สื่อสาร"  ไปได้

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม

นิยมการติดต่อสื่อสารกันเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งที่บางครั้ง

การติดต่อสื่อสารกันนั้น  ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อะไรเลยแม้แต่น้อย

หากเพียงเราต้องการที่จะ  "พูดคุย"  กัน  ก็เท่านั้น

รูปแบบของการพูดคุยก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

และเครื่องมือ

รวมทั้งรูปแบบของเครื่องมือ

ซึ่งรองรับการพูดคุยที่ตอบสนองความต้องการมนุษย์ได้มากที่สุดในคาบหนึ่งสมัยหนึ่ง

ก็ย่อมเรียกได้ว่า  "ประสบความสำเร็จ"  ในแง่เครื่องมือสื่อสาร

แม้บางครั้ง

การสื่อสารของมนุษย์จะต้องการหลายสิ่งอย่างมาประกอบกัน

เพื่อสื่อสารก็ตาม

เอาง่าย ๆ  คิดง่าย ๆ  อย่างเฟซบุค

เราต้องอาศัยอย่างน้อยสามสิ่ง  คือ  อุปกรณ์  สัญญาณอินเทอร์เน็ต และตัวของเว็บไซต์เฟซบุคเอง

แต่ถ้าหากเรามองเข้าไปให้ลึกกว่านั้นแล้ว

มันยังมีสิ่งอื่นซ่อนอยู่อีก

ไม่ว่าจะเป็น  พลังงาน  ทุน  บุคคล  หรือแม้กระทั่งธาตุ  และองค์ประกอบแวดล้อมต่าง ๆ

ยิ่งเราวิเคราะห์กันให้ละเอียดเท่าไหร่

ก็จะยิ่งค้นพบว่า

แค่  "การสื่อสาร"  หรือการที่จะต้อง  "พูดคุย"  กันระหว่างมนุษย์นั้น

ช่างยุ่งยากและซับซ้อนเหลือเกิน

เหลือเกินจนกระทั่งบางครั้ง  เราไม่อาจนึกออกแล้วว่า

เราจะนัดพบและเจอกันได้อย่างไรถ้าเราไม่มีโทรศัพท์มือถือ

และเหลือเกินจนกระทั่งเราลืมไปแล้วว่า

เราแค่ต้องการ  "พูดคุย"  หรือต้องการสิ่งอื่นด้วย  และสิ่งต่าง ๆ  ที่อำนวยความสะดวกให้เรานั้น

เราจำเป็นต้องมีแค่ไหน  หรือจำเป็นต้องใช้แค่ไหน  หรือเราใช้มันเพื่ออะไร

บางครั้งเราก็วิ่งตามมันจนกระทั่ง

เราลืมเลือนว่า

เรามีชีวิตอยู่

เพื่ออะไร

เราดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างไร

ดำเนินไปทำไม

และจะดำเนินไปไหน

มันจะไม่ใช่ปัญหาที่ต้องขบคิดอะไร

หากเราเดินตามกระแสไปเรื่อย ๆ

ไปตามชนหมู่มาก

ไปตามที่เขาอยากให้เราไป

แต่แท้แล้ว

เราต้องคิดทวนกระแสขึ้นมาบ้าง

ไม่เช่นนั้น

เราก็จะเป็นไอ้งั่งอยู่ร่ำไป



ธัชชัย  ธัญญาวัลย
๑๘  มีนาคม  ๒๕๕๖


ไม่มีความคิดเห็น: