น้ำตากวาง : ประวัติศาสตร์และรอยแผล
ข้าพเจ้าสะดุดกับชื่อและปกหนังสือ "นิมิตต์วิกาล" ของ "อนุสรณ์ ติปยานนท์" ตั้งแต่แรกเห็น หน้าปกเป็นลวดลายสีดำบนสีฟ้าหม่น หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นสีฟ้าหม่นบนสีดำ
ชื่อของ "อนุสรณ์" ทำให้ข้าพเจ้าหยิบหนังสือและจ่ายเงินโดยไม่รอช้า
ทราบข่าวภายหลังจากนั้นไม่นานว่า หนังสือเล่มนี้เข้ารอบสุดท้ายในการประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2554
"น้ำตากวาง" เป็นเรื่องสั้นเปิดเล่มของรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ด้านซ้ายมือมีภาพประกอบเป็นรูปแผนที่สมัยอยุธยา
ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมดแปดเรื่อง แต่ละเรื่องจะมีภาพประกอบที่ช่วยยึดโยงและบางครั้งเกาะเกี่ยวกับเนื้อหาอย่างน่าสนใจ
แม้จะดูไม่เข้มข้นเท่าเรื่องอื่น แต่ "น้ำตากวาง" ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลงตัว และสลักเสลาได้อย่างงดงาม ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่บรรณาธิการเลือกขึ้นมาเปิดเล่ม
เนื้อเรื่องกล่าวถึงชายคนหนึ่งที่เข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองนางาซากิ และจ้องมองหนังกวางที่ถูกอัดใส่กรอบกระจกเป็นเวลานาน จนกระทั่งหญิงสาวภัณฑารักษ์เดินเข้ามาถาม เรื่องทั้งหมดจึงเริ่มดำเนินขึ้น
ทั้งสองคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์ของหนังกวางผ่านมุมมองของตน แล้วค่อย ๆ คืบเข้าไปสู่ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล จากนั้นจึงซึมลึกลงห้วงสภาวะภายในที่เต็มไปด้วยรอยแผล ก่อนจะสยายปีกออกสู่ภายนอกอีกครั้ง
การเล่าเรื่องเต็มไปด้วยน้ำเสียงแห่งความเหงาเศร้า เจ็บปวด และการเขมือบกิน
“ในช่วงเวลานั้น หนังกวางเป็นสินค้าที่ประกาศถึงความมั่งคั่งของผู้ใช้สอย มันแทรกตัวอยู่ในด้ามดาบ ชายเสื้อเกราะ หรือผ้าคลุมไหล่ พ่อค้าชาวดัตช์โหมส่งหนังกวางมาที่นี่-ที่นางาซากิอย่างบ้าคลั่ง ในปีแรกพวกเขาส่งหนังกวางมากว่า 6,000 ผืน ก่อนจะเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 17,000 ผืนในปีต่อไป แรงปรารถนาอันรุนแรงเช่นนี้ทำให้พวกพรานล่ากวางรอบอาณาจักรอยุธยาทำงานหนักขึ้นและหนักขึ้น พวกเขาออกล่านอกฤดูกาลไปในทุกพื้นที่ ทุกป่าเขา เพื่อล่ากวางทุกเพศ ทุกช่วงอายุ และทุกพันธุ์...”
ดูเหมือน "อนุสรณ์" จะพยายามบอกเราว่า การทำทุกวิถีทางเพื่อความมั่งคั่งนั้น มีกันนมนานมาแต่ครั้งอดีต ซึ่งการกระทำนี้เองที่กำเนิดรอยไหม้ไว้จนปัจจุบัน
“...ในปีนั้นเป็นปีน้ำหลาก กระแสน้ำไหลบ่าท่วมเกาะอยุธยา กวางฝูงหนึ่งหนีออกไปอยู่เหนือน้ำด้วยความเชื่อว่าจะปลอดภัย แต่พวกพรานกลุ่มหนึ่งก็ไล่ติดตามพวกมันอย่างไม่ลดละ...”
...
“คืนต่อมาพรานคนสุดท้ายตัดสินใจผูกหนังกวางเข้ากับตัว เขาไม่อาจไว้ใจเหตุการณ์ผิดปกติได้อีกต่อไป เขารู้สึกตัวตื่นขึ้นกลางดึก ทั้งร่างร้อนระอุ เขาไม่ได้พบตัวเองอยู่ในแม่น้ำ หากนั่งอยู่ในท่ามกลางกองไฟสุกสว่าง เหมือนกำลังเผาตัวเองเพื่อไถ่บาป ร่างกายของเขาร้อนผ่าวขึ้นเรื่อย ๆ ผิวหนังเริ่มส่งกลิ่นไหม้ แต่หนังกวางที่ห่มคลุมไหล่กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากรอยไหม้สองสามรอย เขาตัดสินใจวิ่งฝ่ากองไฟ ร่างกายของเขาไหม้เกรียม พรานคนสุดท้ายตัดสินใจยุติการล่า นำหนังกวางผืนนั้นกลับเมืองหลวง ขายมันให้แก่พ่อค้าชาวดัตช์แล้วผละจากไป...”
นอกจากนี้ "อนุสรณ์" ยังทำให้เราเผลอตีความ "กวาง" ไปได้หลากหลาย หากเราจะคิดถึงอะไรที่มีดวงตาซื่อใส หากเราจะคิดถึงชนชั้นล่างที่ถูก "พราน" ล่า แล้วส่งต่อให้ "พ่อค้าชาวดัตช์" อีกที หรือเราอาจคิดถึงชนชาติที่อยู่ง่าย ๆ แล้วถูก "พราน" ยกกองทัพมาตี ได้แต่รบประวิงเวลาไว้ เพื่อรอฤดูน้ำหลากช่วยขับไล่ข้าศึก แต่กระนั้นต่อมาก็ไม่แคล้วถูก "พ่อค้าชาวดัตช์" รับช่วงทึ้งต่อ ก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งสิ้น
มีอะไรอีกหรือเปล่าที่สามารถเป็น "กวาง" ได้
“...ในที่สุดเราพบร้านอาหารเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเปิดอยู่ข้างทาง มันเป็นร้านเล็ก ๆ แบบมาชิยะ ที่ผ้าโนเรงหน้าร้านซีดเก่าราวกับเปิดมานานนับศตวรรษ ข้างในมีลูกค้าอยู่ประปราย เราเลือกโต๊ะว่างตัวหนึ่ง คลี่เมนูที่พนักงานบริกรนำมาให้ทีละหน้าอย่างช้า ๆ ที่น่าแปลกคือ ทุกรายการอาหารในเมนูนั้นล้วนปรุงขึ้นจากเนื้อกวาง เนื้อกวางผัดเต้าซี่ เนื้อกวางบดราดซอสกระเทียม ตับกวางต้มในน้ำขิง เขากวางอ่อนต้มในน้ำขิง เขากวางอ่อนเคี่ยวในน้ำเต้าหู้ และอื่น ๆ อีก ไม่แปลกที่จะหาเนื้อกวางทานได้ในนาราหรือเกียวโต แต่สำหรับเมืองหิมะเยี่ยงนี้ เมืองที่แทบไม่มีทุ่งหญ้าหรือปศุสัตว์ เนื้อกวางเหล่านี้มาจากไหน อย่างไรก็ตาม เราทั้งคู่หิวโหยจนเกินกว่าจะหมกมุ่นกับปริศนาใด ๆ เราตัดสินใจสั่งเนื้อกวางกระทะร้อนและเนื้อกวางรมด้วยถ่านอากิพร้อมสาเกขวดหนึ่ง แล้วเฝ้ารอ...”
“ระหว่างการรอ เราฆ่าเวลาด้วยการสังเกตไปรอบ ๆ พบว่าบนโต๊ะอาหารของลูกค้าคนอื่นไม่มีอาหารอยู่เลย มีแต่เพียงเครื่องดื่มเท่านั้น อาจเป็นเบียร์สาเก หรือน้ำเปล่า มีส้อม มีด หรือตะเกียบบนโต๊ะของเขา แต่ไม่มีจานอาหาร เราคิดว่าพวกเขาคงรออาหารเหมือนเรา แต่ก็ไม่ พวกเขาเพียงนั่งสงบนิ่งอยู่กับเครื่องดื่มประจำตัวราวรูปปั้นหิน อาหารทุกจานที่ถูกยกออกมาเสิร์ฟล้วนมุ่งตรงมายังโต๊ะของเรา หน้าตาของอาหารน่ารับประทานเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากจากที่ถูกปรุงขึ้นในโรงแรมชั้นนำ เราเริ่มต้นจัดการอาหารด้วยความหิวโหย แต่แล้วในชั่วขณะที่ผมตักเนื้อกวางชิ้นแรกใส่ปาก ผู้ชายที่นั่งอยู่โต๊ะข้าง ๆ ก็เริ่มต้นเอามีดแล่นิ้วตัวเอง เห็นได้ชัดว่าเขาทำเช่นนั้นอย่างตั้งใจ ที่น่าแปลกคือ ไม่มีเสียงแห่งความเจ็บปวดหลุดลอดออกมาจากปากของเขา ราวกับกล้ำกลืนมันไว้อย่างดี พนักงานในร้านเดินผ่านชายผู้นั่นไปมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเมื่อผมวางส้อมในมือลง เขาก็หยุดการกระทำอันน่าสะพรึงกลัวนั้นลงเช่นกัน ต่อมาเป็นภรรยาผมที่คีบเนื้อกวางลงทอดในกระทะร้อน ทันใดนั้น ผู้ชายที่โต๊ะมุมห้องก็หยิบส้อมบนโต๊ะแทงลงที่นิ้วของตัวเอง เขาแทงมันอย่างบ้าคลั่งและรุนแรง กระนั้นก็ไม่มีเสียงของความเจ็บปวดใด ๆ หลุดลอดออกมาอีกเช่นกัน เราตะลึงกับเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ชั่วครู่ ก่อนประจักษ์ว่า หามีผู้ใดในร้านแยแสมันไม่ ภรรยาของผมว่างตะเกียบในมือของเธออย่างหมดแรง มีแต่ผมที่ตัดสินใจแข็งขืนจะทานเนื้อกวางที่เหลือโดยไม่นำพา ชายคนเดิมที่โต๊ะข้าง ๆ ลงมือหั่นนิ้วของเขาใหม่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อผมทานเนื้อกวางในจานหมดสิ้นนิ้วของเขาก็ขาดออกจากข้อ กลิ้งหลุดมาที่ใต้โต๊ะของเรา ผมชำเลืองมองดูเขา น้ำตาของเขาไหลพรากอาบแก้ม มันทอแสงประกายแวววาวใต้แสงไฟ หากแต่ไม่มีเสียงร้องใด ๆ ทั้งนั้น เราทั้งคู่ออกจากโต๊ะ จ่ายค่าอาหาร เดินออกจากร้านมา...”
“อนุสรณ์" ให้ภาพ "กวาง" และ "น้ำตากวาง" อย่างชัดเจนเมื่อถึงจุดนี้
เขาอาจซ่อนความหมายและเสียดสีโลกบริโภคนิยมอยู่ลึก ๆ เขาเหลียวมองผู้คนรอบข้างที่ไม่รู้จักแล้วเห็นความต่อเนื่องแห่งเหตุปัจจัย
แท้แล้ว "กวาง" คือผู้เจ็บปวดแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่
เขานำพาให้เราเตลิดออกไป พลันหวนกลับเข้ามา มองคนที่อยู่ใกล้ ๆ ตรึกตรอง ครุ่นคิด แล้วม้วนตัวเข้าสู่ภายในก่อนจะค่อย ๆ คลี่คลายออกเหมือนหนวดผีเสื้อ
“...ระเบิดลูกนั้นมาถึงเมื่อเวลาสิบเอ็ดนาฬิกาสองนาที...ผิวหนังของเธอเริ่มแตกด้วยความร้อนมหาศาล...ขณะกำลังจะก้มลงวักน้ำดื่มดับความหิวกระหาย เธอแลเห็นหนังกวางผืนหนึ่งลอยน้ำมา ลังเลว่าจะคว้าหนังกวางนั้นไว้เพื่อห่อหุ้มร่างกายเปลือยเปล่า หรือจะดื่มน้ำก่อนเพื่อดับกระหาย เธอตัดสินใจเลือกอย่างแรก...หนังกวางได้กลายเป็นดังผิวหนังชั้นที่สองของเธอ มันได้ปกป้องเธอจากอากาศที่แปรปรวนภายนอก และช่วยรักษาทุกบาดแผลบนร่างเธอ เด็กสาวออกเดินทางต่อไปจนถึงโรงพยาบาลจุชิน ที่นั่นเธอพบผู้ป่วยจำนวนมากทุรนทุราย เว้นเธอคนเดียวที่เป็นปกติ เธอออกแรงช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นตนเต็มกำลัง ทุกคืนที่ได้ยินเสียงร้องครวญคราง เธอจะปลดหนังกวางออกจากกาย ใช้มันห่อหุ้มผู้ทุกข์ทนจนพวกเขาค่อยสงบลง เด็กหญิงทำหน้าที่พยาบาลอยู่ที่นั่นจนผู้ป่วยคนสุดท้ายสิ้นใจ ก่อนเดินทางกลับบ้าน...ในวันสิ้นใจเธอสั่งให้มอบหนังกวางผืนนี้ให้แก่พิพิธภันฑ์ของเรา มันอยู่ที่นี่มากว่าห้าสิบปีแล้ว”
“รอยไหม้นี้เกิดจากภัยพิบัติครั้งนั้นหรือ" เขาถาม
“อาจเป็นเช่นนั้น ฉันไม่แน่ใจนัก" เธอตอบ
“เราอาจเล่าประวัติของมันต่างเวลากัน"
“แต่นั่นไม่ได้เล่าที่มาของรอยไหม้นี้" เขาพูดขึ้นอีกคล้ายเพิ่งนึกออก
“ดังนั้นผมอาจเป็นฝ่ายถูกก็ได้ หรือว่าคุณอาจเป็นฝ่ายถูก เราทุกคนล้วนมีตำนานเกี่ยวกับบาดแผลและร่อยรอยแห่งความสูญเสียทั้งสิ้น"
ถ้าเราเชื่อตามที่ภัณฑารักษ์หญิงเล่า "หนังกวาง" จากทั้งสองเรื่องคือแผ่นเดียวกัน ก็จะนำไปสู่ความหมายว่า "กวาง" มิได้เจ็บปวดด้วยความสูญเปล่า หากมีคุณค่าเยียวยารักษาเพื่อนมนุษย์เมื่อยามเกิดภัยพิบัติในกาลต่อมา
"พราน" และ "พ่อค้าชาวดัตช์" คือฝ่ายพระเอก ที่มีส่วนช่วยเหลือ "ผู้ป่วย" จาก "ระเบิดลูกนั้น"
ฟังดูเหมือนจะเป็นความชอบธรรมและถูกต้องเหมาะสมแล้วกับการล่า "กวาง"
แต่ก็ยังมีคำถามที่ชวนสงสัยอยู่ว่า แล้วใครกันล่ะ ที่อยู่เบื้องหลังระเบิดลูกนั้น อะไรคือเหตุแห่งการล่า ใครทำให้กวางต้องหลั่งน้ำตา ใครคือผู้ที่ทำให้ทุกคนเจ็บปวด และมีรอยแผล รอยแผลที่อาจเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือดำรงอยู่ตลอดนิรันดร์กาล
"...รอยแผลจากของมีคมระหว่างนิ้ว...ราวกับมันเพิ่งถูกต่อขึ้นมาใหม่หมาด"
ธัชชัย ธัญญาวัลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น