มีนิทานเรื่องหนึ่งยังไม่ลืม ที่ไม่ลืมเพราะรู้สึกว่าจะเคยมีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง และอาจจะเคยไปอ่านพบในหนังสือนิทานต่าง ๆ คล้ายทวนซ้ำเสมอ ๆ
แม้อายุขนาดนี้ข้าพเจ้าก็ยังชอบอ่านหนังสือนิทาน อ่านการ์ตูน บางครั้งก็ซื้อตุ๊กตาหมี ตุ๊กตาต่าง ๆ มาไว้ดูเล่นด้วย
สาเหตุที่ชอบตุ๊กตาหมีก็เพราะมีเหตุการณ์สะเทือนใจตอนเป็นเด็ก ข้าพเจ้ามีตุ๊กตาหมีสีฟ้าตัวหนึ่ง รักมาก และมันก็ดำ แม่จึงหวังดีเอาไปซักให้ ปรากฏว่าพอซักเสร็จ แทนที่จะเป็นตุ๊กตาหมีสวยสะอาด กลับกลายเป็นหมีไส้ทะลัก แม่สัญญาว่าจะซื้อให้ใหม่ ข้าพเจ้าก็ลืมไปแล้วแหละว่าแม่ซื้อให้ใหม่หรือไม่ หรือว่าแม่ซื้อให้แล้วข้าพเจ้าไม่ได้เล่น เพราะข้าพเจ้าชอบแต่ไอ้หมีสีฟ้าตัวนั้นเท่านั้น แม้มันจะดำแต่มันก็เป็นเพื่อนที่ดีมาก ข้าพเจ้าสงสารมันมากที่มันตาย นับจากนั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้าก็ไม่ได้เล่นตุ๊กตาหมีอีกเลย เป็นปมความโศกเศร้าของชีวิต ทำให้โตขึ้นมานึกถึงมันเสมอ ก็เลยซื้อตุ๊กตาทุกครั้งที่รู้สึกว่าอยากซื้อ หรือเมื่อความเป็นเด็กในตัวเราเริ่มออกมาวิ่งเล่น
นิทานเรื่องที่กล่าวถึงในตอนต้นมีชื่อว่า พญากินรำ เนื้อความก็คือ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพญาอยู่องค์หนึ่ง คำว่าพญานี้เป็นคำโบราณ คลับคล้ายจะแปลว่า พระราชา หรือผู้ปกครองเมือง หรือปกครองแคว้น พญาองค์นี้ชอบกินรำ ( ความจริงอาจจะไม่ชอบหรอกมั้ง แต่ท่านก็ต้องกินรำอ่ะ ) เนื่องจากรำเป็นของต่ำ เกิดแต่กากของข้าวเวลาเขาขัดสีไม่มีใครอยากเอายกเว้นเอาไปเลี้ยงสัตว์ การกินรำจึงถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจและชั่วช้ายิ่ง อีกทั้งตัวเองเป็นถึงท้าวพญา จึงให้ประชาชนรู้ไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรในเมื่อต้องกินรำ คิดไปคิดมาก็มีแต่มหาดเล็กเท่านั้นพอเชื่อใจได้ จึงให้มหาดเล็กไปหารำมาถวายเป็นประจำทุกเมื่อเชื่อวันเชื่อคืนไป
ด้วยความที่มหาดเล็กบอกใครไม่ได้ พูดกับใครก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของพญา ก็อัดอั้นตันใจขนาดหนัก วันหนึ่งความอดทนถึงขีดสุด
จึงเข้าไปในป่าทึบ เหลียวหน้าแลหลังไม่เห็นใครแล้วกระซิบบอกกับต้นไม้ต้นหนึ่งว่า “พญากินรำ” มหาดเล็กค่อยสบายใจขึ้น และทำดังนี้อยู่เรื่อยไปนานแสนนาน กระทั่งวันหนึ่ง
คนทั้งหลายจะทำกลอง จึงพากันไปเลือกหาต้นไม้ในป่าใหญ่ ก็บังเอิญเหลือยิ่งตามแบบฉบับของนิทาน เกิดดันไปตัดเอาต้นไม้ต้นที่มหาดเล็กไปกระซิบบอกความลับของพระราชามาเข้า
ทำกลองกันเสร็จสิ้นก็เทสต์เสียงกันเสียหน่อยว่าจะดังไพเราะดีดังใด
เป็นเรื่องครับ
กลองไม่ดังตุ้ม ๆ ตึง ๆ แต่กลับเป็นเสียง “พญากินรำ” เป็นที่ฉงนสนเท่ห์ของชาวบ้านชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง ตีครั้งใดก็ “พญากินรำ ๆ” อยู่อย่างนั้น
คนทั้งหลายก็จึงทราบว่าพญากินรำด้วยเหตุนี้แล
สรุปนิทานเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า พญากินรำ ( 555+ อ่ะนะ T_T”) อาจจะเล่าผิดเล่าถูกไปบ้างแต่ก็ราว ๆ นี้แหละครับ
อันนี้เป็นเรื่องฝั่งไทยเรา คราวนี้มาดูฝั่งตะวันตกเขาบ้าง
โดยคตินั้นเป็นไปในทำนองเดียวกัน แม้เนื้อความจะต่างกันอยู่บ้าง ก็คือ เรื่องท้าวไมดัส เรื่องนี้รู้สึกจะเป็นเรื่องแทรกอยู่ในตำนานปกรณัมของกรีก-โรมัน
มีความอยู่ว่า ท้าวไมดัสเป็นกษัตริย์ และท่านก็ชื่นชอบชนบทเป็นอย่างยิ่ง ชอบไปเที่ยวทุ่งเที่ยวนาเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้เอง เทพเจ้าที่ท่านนับถือก็คือ เทพแพน ซึ่งเป็นเทพประจำท้องทุ่ง เทพแพนนี้นอกจากเป็นเทพประจำทุ่งนาแล้วก็ยังมีความสามารถทางดนตรีไม่น้อย ในคราวหนึ่งเกิดมานะขึ้นมาในใจว่า เออ กูนี่ก็เก่งอยู่นะ จึงอยากประชันกับเทพอพอลโลขึ้นมา
ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า อพอลโลนั้นเชี่ยวชาญศาสตร์ทั้งหลายนัก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กวี ศิลป์ มิด้อยกว่าใครทั้งสิ้น เมื่อได้รับคำท้าเช่นนั้น ก็ตอบโอเค ประชันก็ประชัน ให้ ทโมลัส ( Tmolus ) เจ้าผู้ครองภูเขาเป็นผู้ตัดสินก็แล้วกัน
แน่นอน ท้าวไมดัสแฟนคลับท่านเทพแพนก็เข้าร่วมฟังด้วย
เทพแพนบรรเลงเพลงปี่ ส่วยอพอลโลบรรเลงเพลงพิณ ต่างฝ่ายต่างผลัดกันบรรเลงเสร็จ ทโมลัสก็ตัดสินให้ อพอลโล ชนะ
ด้านไมดัสเห็นว่าศิลปินผู้เป็นที่ชื่นชอบของตนเป็นฝ่ายแพ้เช่นนั้นก็ไม่พอใจถามทโมลัสขึ้นว่า เพลงของอพอลโลดีเลิศขนาดไหนกันเชียวจึงเป็นฝ่ายชนะ อพอลโลแอบได้ยินดังนั้นก็กริ้วสิครับ บริภาษไปว่า ไมดัส ( มึง ) นี่มีหูซะเปล่า ฟังดนตรีไม่รู้รสไพเราะเปรียบดังหนึ่งเป็นหูลาที่ฟัง ( ห่า ) อะไรก็ไม่เข้าใจอยู่นั่นแหละ ( นี่ถ้าเป็นทางฝั่งไทยเราก็คงเปรียบเป็นหูหม้อกระมัง ) ว่าแล้วด้วยอำนาจของเทพที่ลุแก่โทสะก็สาปให้ท้าวไมดัสมีหูเป็นหูลาโดยบัดดล
ด้วยเหตุว่าลาเป็นสัตว์โง่เขลา ( ตามคตินิยมของทางตะวันตก ) ท้าวไมดัสก็อับอายขายขี้หน้ามากไม่รู้จะทำอย่างไรดี นึกไปนึกมาก็ เอาอย่างนี้ละกัน ให้ช่างตัดผมเขาทำทรงผมปิดหูไว้ให้ดีกว่า เหมือนเกาหลีดี ดูแนวดีด้วย ( อิ อิ อันนี้เติมเอง ) และห้ามช่างตัดผมไม่ให้บอกใครเด็ดขาด เดี๋ยวชาวบ้านชาวเมืองรู้ ( กู ) อายไม่มีแผ่นดินจะอยู่แน่
ก็นั่นแหละครับ กัลบกก็มีความรู้สึกเดียวกับมหาดเล็กในเรื่องพญากินรำเป๊ะ อัดอั้นตันใจพูดกับใครไม่ได้วันหนึ่งอดไม่ไหวก็เลย เอาวะ พูดมันกับดินนี่แหละ
ว่าแล้วก็ไปกลางทุ่งเปลี่ยวคน ขุดหลุมขึ้นมาระบายความในใจลงไป “ท้าวไมดัสมีหูเป็นหูลา” เสร็จก็กลบหลุม กลับบ้านสบายใจเฉิบ
ทำดังนี้อยู่เสมอ นานแสนนาน หลุมนั้นได้มีต้นอ้อเกิดขึ้นเป็นพงใหญ่ ต้นอ้อเหล่านั้นก็กระซิบกันเป็นข้อความ “ท้าวไมดัสมีหูเป็นหูลา ๆ” ดังนี้จากปากต่อหูจากหูต่อปากกันเรื่อย ๆ ผู้คนทั้งหลายก็เลยรู้เรื่องท้าวไมดัสมีหูเป็นหูลาด้วยเหตุนี้ ว่ากันว่าจนกระทั่งทุกวันนี้ลมพัดพงอ้อคราใด จะมีเสียงกระซิบกระซาบ ท้าวไมดัสมีหูเป็นหูลาอยู่ร่ำไป
จบเรื่องแต่เท่านี้
จะเห็นว่านิทานเหล่านี้คล้ายคลึงกัน ความจริงถ้าชอบอ่านนิทาน อ่านมาก ๆ เข้าจะเห็นว่าไม่ว่านิทานชาติไหน ๆ ก็จะมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ดังนี้ บางเรื่องแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันเลยเสียด้วยซ้ำ แม้บางครั้งไม่คล้ายกันมากหรือทั้งหมดในส่วนของเนื้อหา คติก็คล้ายกัน นอกจากบางเรื่องที่เป็นนิทานเฉพาะถิ่นจริง ๆ เท่านั้น
พญากินรำและท้าวไมดัสก็เอวังแต่เพียงนี้แล
ทิวฟ้า ทัดตะวัน
ศุกร์ 22 สิงหาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น