ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

เ มื่ อ ก ล่ า ว ถึ ง 👄 การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง

และก็ลองลงเนื้อหาเล่น ๆ  
และก็เอามาแปะไว้ที่นี่ด้วย

เชิญทัศนาครับ


เป็นครั้งแรกนะครับ
ที่เราจะมาเผยความลับกันว่า
ทำไมจึงต้องเป็น "การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง"
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากใครมีหนังสือในมือ เปิดไปบทสุดท้าย
ก็คงจะทราบแล้ว
แต่ท่านที่ยังไม่ทราบ
ก็จะเล่าให้ฟังนะครับ
อันนี้คัดมาจากในหนังสือกันเลยทีเดียว


เ มื่ อ ก ล่ า ว ถึ ง 👄 การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
"เวลาผ่านไปเร็วไวเหลือเกินนะครับ แค่เพียงครู่เดียว เราก็เดินทางมาถึงส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้แล้ว
ทำไมถึงต้องเป็น “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง”
เรื่องราวมันก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อนขนาดที่ว่า ต้องให้ประดานักสืบในตำนานมาเสาะแสวงหาความจริงกันนะครับ
เค้าเรื่องมันอยู่ที่ว่า กาลสมัยหนึ่ง ข้าพเจ้าและมิตรสหาย ต่างก็เล่น เฟซบุ๊ก กันนี่เอง พูดเรื่องเฟซบุ๊กแล้วมีประเด็นยาวเหยียด
คือสมัยก่อนเนี่ย เฟซบุ๊กยังไม่เป็นที่นิยมชมชอบ
กันขนาดนี้หรอก ก่อนหน้าที่เราจะมาเล่นเฟซบุ๊กกัน เราก็เล่น Hi5
ก่อนที่จะมี Hi5 ก็มีพวก Blog, Diary Online หรือแม้กระทั่งพวกเว็บบอร์ด หรือที่ฮิต ๆ กันสมัยข้าพเจ้า
ยังเป็นเด็กหนุ่มม.ปลาย ก็คือ เว็บไซต์ที่เราสร้างขึ้นมาเอง
โดยอาศัยพวก Geocities เป็นเจ้าภาพ ถ้าใครพอจะเกิดทัน (ฮา) ถัดจากนั้นก็เป็นพวกเว็บไซต์สำเร็จรูป ซึ่งตีคู่สูสีมากับพวก Blog
เรื่องราวพวกนี้ข้าพเจ้าไม่ค่อยรู้รายละเอียดมากนัก พูดไปก็เหมือนสำเร็จความโง่ให้คนอื่นฟัง เอาเป็นว่า อย่าเชื่อถือเรื่องราวเหล่านี้ให้มากนักก็แล้วกันนะครับ
เข้าเรื่องของเราดีกว่า คือเฟซบุ๊ก จะว่าไปข้าพเจ้า
และมิตรสหายก็น่าจะเป็นพวกแรก ๆ ของกลุ่มคนในประเทศ
ไทยที่ใช้เฟซบุ๊ก เพราะสมัยก่อนนั้นเฟซบุ๊กฮิตกันที่ต่างประเทศ และด้วยมิตรสหายของข้าพเจ้าใกล้ชิดกับพวกต่างประเทศ จึงคุ้นชินกับการใช้งานของพวกเขาเหล่านั้น และได้แนะนำให้ข้าพเจ้าได้ใช้ตาม
สมัยแรก ๆ นั้นเฟซบุ๊กไม่ได้มีอะไรมากนะครับ นอกจาก ให้โพสต์สเตตัส และโพสต์อัลบั้มรูปภาพ ซึ่งก็ไม่ค่อยต่างไปจากพวก Hi5 แถมยังดูอ่อนด้อยกว่ามาก สเตตัสก็โพสต์ได้ไม่ยาวเฟื้อยเหมือนสมัยนี้ เพราะมันจำกัดจำนวนคำ เหมือนทวิตเตอร์ในปัจจุบันนั่นเอง
พวกสติกเกอร์ หรืออย่างอื่นใด เราไม่ต้องพูดถึง เฟซบุ๊กมีสิ่งเดียวที่ดึงดูดคนได้คือ เกม
แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ชอบเล่นเกม ก็สมัครเอาไว้ดูคนนั้นคนนี้เท่านั้น ส่วนการโพสต์งานเขียนหรืออะไรที่เกี่ยวข้องก็โพสต์ใน Blog ของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งแม้ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่
นี่รู้สึกว่าเราจะยังไม่ได้เข้าเรื่องกันเลยนะครับ
เรื่องของเรื่องก็คือว่า ณ ปัจจุบันนี้โลกของเราก็ได้เปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี
คนรุ่นใหม่ ๆ อาจจะรู้แต่ไม่ได้สัมผัสบรรยากาศ
ข้าพเจ้าไม่ทราบโชคดีหรือโชคร้าย ที่ได้เกิดมาก่อนยุคที่จะมีอินเตอร์เน็ตใช้กันอย่างหรูหราฟู่ฟ่าอย่างในปัจจุบัน
คนแต่ละยุคก็มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันนะครับ
มันไม่มียุคไหนที่ดีเต็มร้อย หรือเสียเต็มร้อย ทุกอย่างมันก็เป็นไปตามสภาพของมัน และเมื่อเรารำลึกความหลังก็ดูเหมือนว่า มันสวยงามกว่าปัจจุบัน ทำให้เราหลงไปว่า ยุคก่อนมันดีกว่ายุคนี้ ก็เท่านั้นเอง
เรื่องที่ว่า อดีตสวยงามกว่าปัจจุบัน เป็นเรื่องยาวนะครับ คิดว่า ถ้ามีโอกาส เราอาจได้พูดคุยถึงมันในหนังสือเล่มต่อ ๆ ไป (ฮา)

จุดเริ่มต้นมันก็เกิดจากว่า ทุกวันนี้เราเห็นข้อมูลข่าวสารมากมายเหลือเกิน ในโซเชียลมีเดีย มีทั้งจริงบ้าง เท็จบ้าง
หลอกลวงบ้าง แสวงหาผลประโยชน์เกินควรบ้าง ข้าพเจ้า
คิดว่า สิ่งที่เราควรตระหนักในทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการเข้าถึงข้อมูล หรือความรู้อีกต่อไป
ข้าพเจ้าจำได้ว่า สมัยเป็นเด็ก ครูเคยให้การ
บ้าน ไปหาชื่อของ ปัญจวัคคีย์ คือทั้งห้าท่านนั้นมีชื่อว่า
อะไรบ้าง
โอ้โห! เป็นความทุกข์ระทมนะครับ ในสมัยก่อน
ที่เราเป็นเด็ก ค้นหนังสือก็ไม่เป็น ห้องสมุดก็โกโรโกโส หนังสือหนังหาก็เขรอะฝุ่นไปหมด ไม่รู้เนื้อหาอะไรอยู่ตรงไหน ยากลำบากยายต้องพาไปถามกับคนแก่แถวบ้านที่นับถือกันว่าเป็นท่านผู้เฒ่านักปราชญ์ผู้ทรงภูมิ
ถ้าเป็นปัจจุบันนี้ สิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญในอดีต กลายเป็นสิ่งกระจอกงอกง่อยไปเลยนะครับ
ดังนั้น การสอนกันว่าให้จำได้เยอะ ๆ ให้ทำรายงาน จึงอาจจะเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะเราสามารถหาความรู้ได้ชั่วระยะเวลาไม่ถึงเสี้ยววินาที
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคืออะไร...
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความรู้ที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตนั้นถูกต้อง เชื่อถือได้ และเป็นความจริง
ปัญหาที่ว่านี้ส่วนมากไม่ค่อยเป็นปัญหากับเด็กสมัยใหม่แล้วนะครับ แต่เรื่องเหล่านี้กลับกลายไปเป็น
ปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เกิดมาในยุคตำรา เชื่อข้อมูล เพราะคิดว่าข้อมูลคือความรู้ คิดว่าการรู้มาก ๆ คือความฉลาด หรือแนวความคิดใด ๆ ที่คล้าย ๆ แบบนี้
กระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า คนเราไม่ควรจดจำอะไร หรือไม่ควรท่องบ่นตำรับตำรา ตรงกัน
ข้าม ข้าพเจ้าคิดว่า สิ่งที่ดีมีประโยชน์สมควรแก่การจดจำ
นำไปใช้ เราก็ควรจำเพื่อจะใช้ได้ทันทีตามที่ต้องการ

จุดเริ่มต้นมันก็เกิดขึ้นมาจากว่า ในเฟซบุ๊กนี่เองนะครับ เรามีข้อมูลมากมาย เรามีความคิด ความเห็น มากมาย บางคนตั้งตนเป็นผู้รู้ รู้ทุกเรื่อง วิจารณ์ได้ทุกสิ่ง บางคนตั้งตนเป็นนักปราชญ์ นักปรัชญา นักคิด นักเขียน นักวิเคราะห์ นักอะไรทั้งหลายเต็มไปหมดในสังคมออนไลน์ โดยที่บางครั้ง คนที่พูดเหล่านั้นก็หาได้ตระหนักไม่ว่า สิ่งที่ตัวเองได้แสดงออกมานั้น ถูกหรือผิดประการใด
ข้าพเจ้ากับมิตรสหาย ผู้สามารถนับตัวเองได้ว่า เราเป็นพวกแรก ๆ ที่ใช้เฟซบุ๊ก พากันดูปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างสนุกสนาน
เราบันเทิงกันจริง ๆ ครับ กับการได้เห็นบางคนโพสต์เรื่องหุ้น โดยที่ไม่รู้จักหุ้น เราไม่แน่ใจว่าเขารู้จักวิธีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จริงหรือเปล่า แต่เราเชื่อแน่ว่าหากใครสักคนที่รู้เรื่องหุ้นจริง ๆ จะมองข้อความเหล่านั้นด้วยความสลดสังเวชใจอย่างแน่แท้
เราเห็นบางคนพูดพร่ำปรัชญาชีวิตล้ำลึก แต่ผล
สุดท้ายแล้วล้มเหลวกับการใช้ชีวิตอย่างประหลาด คล้าย ๆ
กับว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด
เราเห็นบางคนอวดนั่น อวดนี่ วิพากษ์วิจารณ์สิ่งนั้นสิ่งนี้ พอถึงที่สุด ตัวเขาเองกลับกลวงเปล่า ไม่มีอะไรเลย
เราเห็นอะไรมากมายในโซเชียลมีเดีย จนบางครั้งเรารู้สึกว่า เราควรถอยออกมาจากโลกใบนั้นเสียบ้าง
เราเห็นอะไรมากมายในโซเชียลมีเดีย จนบางครั้งเรารู้สึกว่า หลาย ๆ อย่าง นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังเป็นโทษ
เราเห็นอะไรมากมายในโซเชียลมีเดีย จนบางครั้งเรารู้สึกว่า แต่ละคนที่เพ้อพิมพ์อะไรต่าง ๆ ออกมาในโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ใช่อะไรเลย นอกจากเป็น “การสำเร็จความโง่” ล้วน ๆ
ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นการ “สำเร็จความโง่” ด้วย
“ตัวของเขาเอง” มิหนำบางที นอกจากสำเร็จความโง่แล้ว
ยังสำเร็จความเงิบ เพิ่มเข้าไปอีก
แน่นอน เราไม่ได้หยามเหยียดใคร!
เพราะที่สุด พวกเรามิตรสหาย และข้าพเจ้า ก็
ไม่ได้ต่างอะไรจากคนอื่นในสังคม เรามี “ความโง่” เป็น
ของตัวเอง และ มิตรสหายก็ชอบบอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้า
น่าจะตั้งสเตตัสคม ๆ ดูมีความรู้ ดูฉลาด ๆ กับเขาบ้าง
เพื่อเป็นการสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
แต่ข้าพเจ้ากระดากปากกระดากใจเหลือเกิน จึง
เขียนเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาแทน (ฮา)

และทั้งหมดที่กล่าวมาตั้งแต่หน้าแรก จนถึงตรงนี้ ก็คือ ความโง่ส่วนบุคคลของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้สำเร็จมันออกมา
มีหน้าว่างในหนังสือเยอะมากนะครับ ถ้าท่าน
ผู้อ่านคิดว่า ไม่คุ้มค่าเงินที่สูญเสียเพื่อซื้อหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าขอแนะนำ ท่านทั้งหลาย น่าจะลองสำเร็จความโง่ด้วยตัวเองอย่างเงียบ ๆ บนหน้ากระดาษที่ว่างเปล่านั้นบ้างก็ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดว่า ทุกคนควรสำเร็จความโง่บนหน้ากระดาษเงียบ ๆ และมุดตัวอยู่โดดเดี่ยวแต่ประการใด และข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดว่า ใครสักคนควรจะหยุดหรือเพลา ๆ การสำเร็จความโง่ด้วยตัวเองลงเสียบ้าง
ในโลกของเรานี้ เราใคร่จะทำอะไร แค่ไหน อย่างไร ก็สามารถกระทำได้
ในโลกไร้พรมแดน ในโลกแห่งการสื่อสาร ในโลกแห่งข้อมูล ในโลกส่วนบุคคล เราทุกคนมีสิทธิ์...

ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ
ขอบพระคุณที่เป็นเพื่อนกันตลอดมา
ธัชชัย ธัญญาวัลย
กุมภาพันธ์ 2560

ป.ล. บางคนก็ชอบสำเร็จความโง่ด้วยการเติม ์ ลงไปที่ ย ในนามสกุลของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้าก็ควรให้อภัย"
_______________________________
พบปะความโง่มากกว่านี้ได้ที่
ฉบับภาษาอังกฤษ https://www.amazon.com/FOOLS-GUIDE-MAKING-FOOL…/…/B07PHF3351

ไม่มีความคิดเห็น: